นักช้อปมีเฮ! เมื่อ ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการภาษี “ช้อปช่วยชาติ” ระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 60 รวม 23 วัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี และต้องการให้ประชาชนตื่นตัว มีการจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ซึ่งมาตรการนี้เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
ใครช้อปแล้วคุ้ม
สำหรับประชาชนที่มีรายได้ต่อปีรวมแล้วเกิน 150,000 บาท เตรียมตัวให้พร้อม เพราะมาตรการนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระด้านภาษีให้คุณได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้คุณต้องซื้อสินค้าและบริการกับห้างร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Vat 7% กับกรมสรรพากร โดยนำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
สินค้าและบริการอะไรที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้
จะช้อปช่วยชาติทั้งที แถมได้ลดหย่อนภาษีแบบเต็ม ๆ ต้องศึกษาข้อมูลให้พร้อมถึงสินค้าและบริการที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- ค่าซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า
- ค่าอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหารและโรงแรมที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ค่าซื้อสินค้าจากร้าน duty free
- ค่าศัลยกรรมกับสถานเสริมความงามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ค่าซ่อมรถ ซึ่งต้องเป็นการซ่อมและชำระค่าบริการภายในช่วงเวลามาตรการเท่านั้น
- ค่าซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถ อะไหล่รถยนต์
- ค่าซื้ออุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
- ค่านวดหน้า ทำสปา
- ค่าตั๋วหนัง
- ค่ากำเหน็จจากการซื้อทองคำรูปพรรณ
- ค่าบริการเทรดหุ้น
- ค่าตั๋วเครื่องบินที่บินภายในประเทศของสายการบินที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องซื้อและบินภายในช่วงเวลามาตรการเท่านั้น
ข้อย้ำเตือน – อย่าลืมนะคะว่า ใบกำกับภาษีฉบับเต็มที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 60 เท่านั้น และต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% กับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่สามารถใช้สลิปใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีอย่างย่อได้
สินค้าและบริการที่ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
สำหรับสินค้าและบริการที่ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้น มีดังนี้
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์
- บุหรี่ ยาสูบทุกชนิด
- ค่าเนื้อหมู ไก่ ปลา ผักสด ของสด
- ทองคำแท่ง
- การรับบริการจากสถานพยาบาล
- น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ
- ค่าที่พัก โรงแรม รีสอร์ทต่างๆ
- ค่านำเที่ยว มัคคุเทศก์
- ตั๋วเครื่องบิน แพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศ
- หนังสือ นิตยสาร ตำราเรียน
- บัตรของขวัญ (Gift Voucher) จากห้างสรรพสินค้า
ลักษณะใบกำกับภาษีที่ถูกต้อง
เมื่อเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การตรวจสอบลักษณะใบกำกับภาษี ซึ่งต้องเป็นใบกํากับภาษีแบบเต็มรูปแบบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
- ต้องมีคำว่า “ใบกำกับภาษี” อย่างชัดเจน
- ต้องมีวัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- ต้องมีชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของร้านค้า
- หมายเลขใบกำกับภาษี (ถ้ามี)
- ต้องมีชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวประชาชนของผู้ซื้อ
- ต้องมีชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
- ต้องมีจำนวนมูลค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ข้อความอื่นๆ (ถ้ามี)
ข้อมูลเพิ่มเติม – ทางกรมสรรพากรได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากใครที่ได้รับใบกำกับภาษีที่ไม่สมบูรณ์ เช่น เขียนชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการเเก้ไข ก็ไม่ต้องกังวลใจ หากใบกำกับภาษีนั้นมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ก็สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน
แม้มาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ที่มีขึ้นยาวนานที่สุดถึง 23 วัน คาดว่าจะมีคนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีราว 2.25 หมื่นล้านบาท และทำให้รัฐต้องสูญเสียรายรับจากภาษีไปประมาณ 2 พันล้านบาท แต่กระทรวงการคลังกลับมองว่า จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.05% ช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และทำให้ร้านค้าต่าง ๆ ต้องการเข้าสู่ระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้องมากขึ้นอีกด้วย
…รู้ข้อดีอย่างนี้ แล้วคุณล่ะ เตรียมพร้อม “ช้อปช่วยชาติ” แล้วหรือยัง…
ที่มา
- https://www.thairath.co.th/content/1119189
- https://www.prachachat.net/spinoff/spinoff-featured/news-67531