ช่วงฤดูมรสุมในปีนี้นับว่าเป็นปีที่ก่อความเสียหายให้กับหลายพื้นที่อย่างมากมาย โดยเฉพาะพื้นที่ในแทบภาคอีสาน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อชุมชนที่อยู่อาศัย และการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อยหรือที่เรียกว่า SME นั่นเอง ซึ่งหากปล่อยไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาครวมเศรษฐกิจในระดับประเทศอย่างแน่นอน ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือ SME จากปัญหาน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เจ้าของธุรกิจสามารถฟื้นตัวและก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง
มาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐมีหลัก ๆ 2 มาตรการ คือ
- การพักชำระหนี้ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการชำระหนี้ รวมทั้งมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เงื่อนไขเบื้องต้นในการพักชำระหนี้ กรณีการกู้ยืมแบบมีกำหนดระยะเวลา (Term loan) ทางรัฐได้กำหนดช่วยให้มีการพักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นระยะเวลานานไม่เกิน 6 เดือน แต่ต้องมีสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาเงินกู้ยืม หรือ Promissory Note : P/N เพื่อให้ทางรัฐบาลช่วยออกมาตรการในการพักชำระดอกเบี้ยให้ได้นานไม่เกิน 6 เดือน
- วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับฟื้นฟูกิจการโดยอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการธนาคาร มาตรการนี้คือการกำหนดวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยในการฟื้นฟูกิจการให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย หรืออาจจะเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม เช่นสินค้าเสียหายเนื่องจากไม่สามารถขนส่งให้กับลูกค้าได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงฟื้นฟู หรือเป็นทุนหมุนเวียนในการขับเคลื่อนกิจการ โดยภาครัฐกำหนดให้ต้องเป็นลูกค้าเดิมของทางธนาคารมาก่อนแล้ว มีระยะเวลาในการกู้ยืมไม่เกิน 5 ปี และกำหนดให้มีระยะเวลาช่วยปลอดชำระคืนเงินต้น หรือ Grace Period เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี และยังกำหนดวงเงินในการออกสินเชื่อสูงสุดต่อรายในเงื่อนไขต่อไปนี้
- ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติอยู่แล้วไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้เพิ่มวงเงินกู้ได้ไม่เกิน 5 แสนบาท
- ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติอยู่แล้วมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกินที่ 5 ล้านบาท ให้กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท
- ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติอยู่แล้วมากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดได้ไม่เกิน 2 ล้านบาท
อัตราดอกเบี้ยในการออกสินเชื่อจะอยู่ที่ร้อยละ 4.99 ต่อปีไปจนตลอดอายุสัญญาสินเชื่อ โดยหลักประกันที่จำเป็นต้องใช้ในการพิจารณาสามารถใช้หลักประกันเดิมที่เคยใช้อยู่ก่อนหรือใช้หลักประกันของ บสย. ค้ำประกันแทน ในกรณีการกู้ยืมไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยทางรัฐบาลคาดการณ์ว่าวงเงินกู้รวมทั้งโครงการจะไม่เกินที่ 15 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. ได้ทำการสำรวจภาพรวมเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก พบว่าจำนวนผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2559 ถึงร้อยละ 8.93 ซึ่งผู้ประกอบการ SME ที่เพิ่มมากขึ้นนี้ครอบคลุมในทุกรูปแบบธุรกิจ ทั้งงานบริการที่เพิ่มมากกว่า 100,000 ราย ตามมาด้วยภาคการค้า ภาคการผลิต และภาคธุรกิจการเกษตร โดยจำนวนรวมของ SME ที่เพิ่มขึ้นนี้มีมากถึง 238,713 ราย เป็นบุคคลธรรมดา 206,464 ราย นิติบุคคลอีก 26,562 ราย และวิสาหกิจชุมชน 5,687 ราย
ด้วยอัตราการขยายตัวของผู้ประกอบการ SME เช่นนี้ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของอัตราการจ้างงานสูงขึ้นกว่าปี พ.ศ. 2559 ถึงร้อยละ 9.30 แต่อย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติกินพื้นที่ในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME หลายรายได้รับผลกระทบและความเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะใน 12 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้โดยตรงอันได้แก่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสกลนคร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดยโสธร จังหวัดพิจิตร จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมี SME ที่ได้รับความเสียหายมากถึง 230,897 ราย โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจขายปลีก ธุรกิจการผลิต และธุรกิจก่อสร้างนั่นเอง
โดยจังหวัดสกลนครนับเป็นจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด กินพื้นที่ถึง 7 อำเภอ ซึ่งทาง สสว. ได้มอบหมายให้ศูนย์บริการ SME ครบวงจร ประจำจังหวัดสกลนครร่วมกับภาครัฐอื่น ๆ อาทิเช่น พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด หน่วยงานปกครองจังหวัดสกลนคร สมาพันธ์ SME ประจำจังหวัด เพื่อประเมินความเสียหายของผู้ประกอบการซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่าหนึ่งพันล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากนี้ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Development Bank ได้รับมอบหมายมติจากคณะรัฐมนตรีให้ขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อฟื้นฟู SME จากอุทกภัยและภัยพิบัติปี พ.ศ. 2560 ต่อเนื่องจากโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ของภาคใต้ที่ประสบปัญหาภัยพิบัติในช่วงต้นปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา โดยยังมีวงเงินคงเหลืออยู่กว่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกนำมาใช้ในการฟื้นฟู และใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการของ SME ต่อไป โดยมีเงื่อนไขในการมอบความช่วยเหลือให้แก่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ และต้องไม่ถูกจัดเป็นบุคคลล้มละลาย โดยมีวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อ 1 ผู้ประกอบการ และมีระยะเวลาในการกู้ยืมตลอดโครงการไม่เกิน 7 ปี ซึ่งในปีที่ 1-3 จะคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% และในปีที่ 4-7 จะคิดอัตราดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่ทางธนาคารที่ให้กู้ยืมกำหนดเอาไว้ โดยในช่วง 3 ปีแรกนั้น ทางรัฐบาลจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ธนาคารที่ให้กู้ยืมในอัตรา 3% คำนวณจากวงเงิน 450 ล้านบาท โดยวงเงินต้องไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย และสามารถใช้ บสย. ค้ำประกันให้ได้
ทางรัฐบาลหวังว่าความช่วยเหลือในครั้งนี้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เดือดร้อนได้มากถึง 1,000 ราย เป็นการมอบเงินค้ำประกันเฉลี่ยรายละ 5 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้เกิดสินเชื่อหมุนเวียนในระบบของภาคธนาคารมากกว่า 5,000 ล้านบาท และยังจะเกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากถึง 22,900 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ทั้งหลายอยู่รอด และมีส่วนในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจของประเทศไทยต่อไป