หากคุณเป็นคนทำงานที่ได้รับเงินเดือนประจำ ส่งเงินสมทบประกันสังคมมานานกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี แล้วลาออกจากบริษัท โดยที่ไม่สมัครประกันตนตามมาตรา 39 เพื่อส่งประกันสังคมต่อเองคุณจะได้เงินบำนาญมากกว่าการสมัครเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยทำงานกินเงินเดือน ส่งเงินสมทบประกันสังคมมานานกว่า 180 เดือน หลังจากลาออกมาก็ตัดสินใจส่งประกันสังคมต่อโดยสมัครเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 เมื่อได้อ่านข้อความข้างต้นน่าจะรู้สึกแปลกใจไม่ใช่น้อยว่าจริงหรือไม่ หลายคนน่าจะไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน เพราะเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เรื่องเงินบำนาญจากประกันสังคมเป็นเรื่องที่เราจะต้องรอกันจนกว่าอายุจะครบ 55 ปี ถึงจะได้
เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่คิดว่าจะสมัครประกันตนเองตามมาตรา 39 หลังจากลาออกจากการเป็นพนักงานประจำนั้น ก็เพื่อสิทธิประโยชน์ในเรื่องของการรักษาพยาบาลที่ต้องการจะได้รับอย่างต่อเนื่อง หรือบางคนก็คิดว่าจำเป็นต้องสมัครประกันตนเองต่อเพื่อให้ไม่เงินสมทบที่เราส่งมาตลอดต้องสูญเสียไป ทั้งที่จริงแล้ว แม้ว่าลาออกจากงานประจำแล้ว ไม่ได้ส่งเงินประกันสังคมต่อ ส่วนของเงินบำเหน็จหรือบำนาญก็จะยังได้รับหากการส่งเงินสมทบก่อนหน้านั้นเข้าเงื่อนไขที่ประกันสังคมจะจ่ายคืนให้
กลับมาที่เรื่องของผลกระทบของเงินบำนาญหากเราทำประกันตนเองตามมาตรา 39 หลังลาออกจากงานประจำที่จะได้รับเงินบำนาญน้อยกว่าหากไม่สมัครประกันตนเองตามมาตรา 39 นั้น เป็นเรื่องจริง เพราะเงินบำนาญที่ประกันสังคมจะจ่ายให้กับผู้ประกันตนเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนนั้นจะคิดคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ของฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนย้อนหลัง
อ่านเพิ่มเติม : ส่งเงินประกันสังคมเกิน 180 เดือน จะได้เงินบำนาญชราภาพอย่างไร
ส่วนของฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนย้อนหลังนี่เองที่จะทำให้ผลของเงินบำนาญที่เราจะได้นั้นแตกต่างกันระหว่างการเป็นผู้ประกันตามมาตรา 39 หรือไม่เป็นหลังลาออกจากงาน เพราะฐานเงินเดือนสูงสุดของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในช่วงที่ทำงานประจำอยู่ คือ 15,000 บาท ในขณะที่ฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่ประกันสังคมกำหนดไว้ คือ 4,800 บาทเท่านั้น ฐานเงินเดือนตามนี้เป็นฐานเงินเดือนเดียวกับที่ประกันสังคมใช้คิดเพื่อให้ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ อย่างมาตรา 33 ที่เป็นพนักงานประจำจะจ่ายเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 750 บาท (คิดจากอัตราเงินสมทบ 5% ของ 15,000 บาท) ในขณะที่มาตรา 39 ผู้ประกันตนแบบสมัครใจจะจ่ายเงินสมทบรายเดือนที่ 432 บาท (คิดจากอัตราเงินสมทบ 9% ของ 4,800 บาท)
สมมติว่าเราส่งเงินสมทบมาเป็นเวลา 180 เดือนพอดี ประกันสังคมกำหนดอัตราเงินบำนาญของ 15 ปีแรกไว้ที่ 20% ดังนั้น
กรณีที่ 1 หากเราทำงานประจำมาตลอดจนถึงอายุ 55 ปี หรือลาออกก่อนแต่ไม่ได้สมัครประกันตนตามมาตรา 39 ฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนย้อนหลังของเราก็จะอยู่ที่ 15,000 บาท เมื่อนำมาคูณกับอัตราเงินบำนาญที่ 20% ก็เท่ากับว่าเงินบำนาญรายเดือนที่เราจะได้รับก็เท่ากับ 15,000 x 20% = 3,000 บาทต่อเดือน
กรณีที่ 2 หากเราทำงานประจำแล้วลาออก จากนั้นสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ฐานเฉลี่ยเงินเดือนย้อนหลัง 60 เดือนจะคิดจากจำนวนเดือนที่เราส่งประกันสังคมในมาตรา 39 และจำนวนเดือนที่เราส่งประกันสังคมตอนที่เป็นพนักงานประจำนำมาหารเฉลี่ยกัน เช่น สมมติว่าเราส่งประกันสังคมตามมาตรา 39 ไป 30 เดือน ฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่จะคิดเงินบำนาญก็จะคิดจาก 4,800 บาท 30 เดือน มาเฉลี่ยกับ 15,000 บาท ตอนทำงานประจำ ตามจำนวนเดือนที่เหลือ คือ 60-30 = 30 เดือน ฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่ได้ก็จะเท่ากับ [(4,800×30)+(15,000×30)] / 60 = 9,900 บาท เงินบำนาญรายเดือนที่จะได้รับก็จะเท่ากับ 9,900 x 20% = 1,980 บาทต่อเดือน
กรณีที่ 3 หากเราลาออกจากการเป็นพนักงานประจำ สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และส่งเงินสมทบตามมาตรา 39 ครบ 60 เดือน ก็เท่ากับว่าฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่จะนำมาคิดเงินบำนาญรายเดือน ก็คือ 4,800 บาท เงินบำนาญรายเดือนที่ได้ก็คือ 4,800 x 20% = 960 บาท เท่านั้น !
หากดูจากการคำนวณเงินบำนาญตามข้างต้นก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องจริงที่ว่าการเลือกสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 นั้น มีผลทำให้เงินบำนาญที่จะได้รับนั้นน้อยลงไปไม่เท่ากับการไม่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 หลังลาออกจากงานประจำ หากไม่ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับเงินบำนาญ 3,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่หากเราเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แบบส่งเงินสมทบครบ 60 เดือน ที่ใช้ฐานเงินเดือน 4,800 บาท ของการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 มาคำนวณเต็ม ๆ แบบไม่ต้องหารเฉลี่ย เงินบำนาญรายเดือนที่จะได้รับก็เหลือเพียงแค่เดือนละ 960 บาทเท่านั้น ! จำนวนเงินต่างกันถึงเดือนละ 2,040 บาท หากส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือนที่ทุก 12 เดือน จะมีอัตราเงินบำนาญคิดเพิ่มให้อีก 1.5% จำนวนเงินก็จะต่างกันมากกว่านี้อีก