องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ได้ประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัย พบว่า อีก 38 ปีข้างหน้า เงินในกองทุนชราภาพจะถูกใช้หมดไป หากไม่มีการปรับปรุงระบบกองทุน!
จากการประเมินนี้ นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 59 ว่า ทาง สปส. ได้เตรียมปฏิรูปกองทุนบำนาญชราภาพ เพื่อให้มีเสถียรภาพและความยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น และอายุยืนขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการจ่ายเงินบำนาญชราภาพที่ผ่านมา พบว่า
ตั้งแต่ปี 2557 ที่ สปส. เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพ ได้มีผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปีตามกำหนด ยื่นขอรับสิทธิ์จำนวน 20,000 ราย ซึ่งรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 370 ล้านบาท
ในปี 2559 มีผู้ประกันตนที่มีอายุครบกำหนดเพิ่มเป็น 67,000 ราย รวมเงินที่ต้องจ่ายกว่า 1,450 ล้านบาท
ในปี 2560 คาดว่ามีจำนวนผู้ประกันตนที่จะเข้ารับเงินในส่วนนี้เพิ่มเป็น 200,000 ราย
และภายในปี 2570 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า น่าจะมีจำนวนผู้ประกันตนที่ครบอายุตามกำหนดเพิ่มเป็น 1 ล้านคน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้มากถึงกว่า 246,524 ล้านบาท
เท่ากับว่า สปส. ต้องเตรียมเงินสำหรับจ่ายผู้ประกันตนกรณีบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลังจากปี 59 เป็นต้นไป หาก สปส. ไม่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารกองทุนให้มีเสถียรภาพมากขึ้น คาดว่าในอีก 38 ปีข้างหน้า เงินในกองทุนนี้จะต้องหมดลงอย่างแน่นอน
เพื่อให้เกิดความเพียงพอและยั่งยืน ทาง สปส. จึงได้กำหนดแนวทางปฏิรูประบบบำนาญชราภาพไว้ 5 แนวทาง คือ
- ขยายอายุเกษียณจากปัจจุบันที่ 55 ปี เป็น 60 ปี ซึ่งจะเริ่มในปี 2565 ทั้งนี้ เมื่อขยายอายุเกษียณออกไปแล้ว หากผู้ประกันตนคนใดถูกเลิกจ้างหรือลาออกหลัง 55 ปี จะได้รับเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอีกด้วย
- ปรับฐานเงินเดือนที่ใช้ในการคำนวณเงินชราภาพ จากปัจจุบันที่มีขั้นต่ำที่ 1,650 บาท เป็น 3,600 บาท และสูงสุดที่ 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท
- ปรับสูตรคำนวณการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งเดิมใช้คำนวณจากเงินเดือน 5 ปีสุดท้ายที่จ่ายเงินสมทบ ทำให้ผู้ประกันตนได้เงินบำนาญน้อยไม่เป็นธรรม โดยแนวทางใหม่วางไว้เป็น 2-3 แนว คือ ใช้เงินสมทบทั้งหมดที่ส่งมาเฉลี่ยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์หารด้วยอายุการทำงานทั้งหมด หรือคำนวณจากฐานเงินเดือนที่ส่งในช่วง 15 ปี หรือ 20 ปีแทน
- ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บเข้าสู่กองทุนชราภาพ จากปัจจุบันที่เก็บร้อยละ 3 ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และนายจ้างสมทบอีกร้อยละ 3 ของเงินเดือน ซึ่งรวมเป็นร้อยละ 6 แต่จะเพิ่มเป็นฝ่ายละไม่เกินร้อยละ 5 เฉพาะในส่วนของเงินบำนาญเท่านั้น เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตหลังเกษียณ
- เพื่อให้เงินในกองทุนงอกเงย ทาง สปส. จะเร่งพัฒนาการลงทุนให้ได้ผลกำไรมากยิ่งขึ้นด้วย
จากแนวทางการปฏิรูปข้างต้น จะช่วยยืดอายุกองทุนไปได้อีก 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2597 เป็นต้นไป ซึ่ง สปส. กำลังเร่งดำเนินการปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยจะเสนอกระทรวงแรงงานภายในเดือนกันยายนนี้
อ่านเพิ่มเติม : รวบรวมคำถาม-คำตอบ ไขข้อข้องใจประกันสังคม
นอกจากนี้ สปส. จะแก้ไขกฎหมายเรื่องที่มาคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) จากเดิมที่มาจากการเลือกตั้งเป็นการสรรหาแทน เนื่องจากการเลือกตั้งต้องใช้งบประมาณมากถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รู้ว่าบอร์ดที่ได้นั้น เป็นตัวแทนของผู้ประกันตนอย่างแท้จริงหรือไม่อีก พร้อมประกาศความมั่นใจว่าการใช้วิธีสรรหาจะสามารถดำเนินการอย่างยุติธรรม และทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นสำคัญด้วย
ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดี ที่ผู้ประกันตนจะได้ประโยชน์อย่างสูงสุด เพราะในอนาคตคงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อถึงเวลานั้นคงช่วยให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุข และยิ้มได้กว้างขึ้นกว่าเดิม …
ที่มา