“ประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม” มีความสำคัญไม่ควรมองข้ามหรือละเลย แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก แต่ก็นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยพยุงสภาพคล่องทางการเงินให้กับมนุษย์เงินเดือนได้ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละบุคคล อันได้แก่พนักงานบริษัทหรือลูกจ้างทั้งหลายได้ในยามวิกฤต โดยเฉพาะเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คนทำงานจำนวนมากไม่อยากพบเจอ แต่หากต้องเผชิญในวันใดวันหนึ่งก็เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของการประกันสังคม คือสิทธิประโยชน์กรณี “การว่างงาน” โดยจะได้เงินจำนวนหนึ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันระหว่างว่างงาน
อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกันตนจำนวนมากเสียสิทธิ์นี้ เพราะความไม่รู้ ละเลยไม่ใส่ใจ หรือหลงลืม สำหรับผู้ที่พอมีเงินเก็บออมไว้บ้างอาจไม่ใช่เรื่องน่าห่วง แต่สำหรับผู้ที่ใช้จ่ายชนิดเดือนชนเดือนจนไร้เงินเก็บอาจต้องลำบาก วันนี้จึงขอชวนคุณมาทำความรู้จักกับการรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมกรณีว่างงานและการตรวจสอบเงินว่างงาน
อ่านเพิ่มเติม: โควิด-19 ทำตกงาน ว่างงาน ประกันสังคมจ่าย 50% นาน 6 เดือน
หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมในกรณีว่างงานนั้นจะมีสิทธิเมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย
สิทธิ์ที่จะได้รับประโยชน์ทดแทน
- กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50 % ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคิดคำนวณจากฐานเงินสมทบประกันสังคมขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบประกันสังคมสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานเดือนละ 5,000 บาท
- กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตรา 30 % ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคิดคำนวณจากฐานเงินสมทบประกันสังคมขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบประกันสังคมสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานเดือนละ 3,000 บาท
กรณีว่างงานผู้ประกันตนจะต้องยื่นขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ โดยต้องยื่นสิทธิ์ภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากยื่นสิทธิ์เกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิ์ย้อนหลัง และหากยื่นสิทธิ์เกินวันที่จะได้รับสิทธิ์นั้นไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน
สำหรับขั้นตอนและวิธีการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เหตุเพราะถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจะต้องกรอกแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานพร้อมด้วยหลักฐาน ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
จากนั้นกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานพร้อมแนบหลักฐาน ได้แก่ หนังสือรับรองการออกจากงานหรือคำสั่งของนายจ้างที่ให้ออกจากงาน สำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร (ประเภทออมทรัพย์) ซึ่งระบุชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน หลังจากพิจารณาว่ามีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินทดแทนการขาดรายได้ตามสิทธิ์ให้ผู้ประกันตน ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนเดือนละ 1 ครั้ง จนกระทั่งครบสิทธิ์
เมื่อยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทนเรียบร้อยแล้ว หากต้องการตรวจสอบข้อมูลเงินว่างงานจากประกันสังคม ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง ตามขั้นตอนดังนี้
- เข้าไปที่เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม http://www.sso.go.th
- คลิก Log in ที่มุมบนด้านขวามือเพื่อป้อนรหัสผ่านเข้าสู่ระบบ หรือหากยังไม่ได้ลงทะเบียน ให้คลิกที่ “สมัครสมาชิก”
- กรอกรายละเอียดส่วนตัวและข้อมูลผู้ประกันตนให้ถูกต้อง จากนั้นคลิก”ลงทะเบียนใหม่” ระบบจะส่งอีเมลยืนยันตัวตนไปยังอีเมลที่คุณระบุไว้ ให้เช็คอีเมลเพื่อคลิกลิงค์ยืนยันตัวตนและการสมัครเข้าใช้งาน
- เมื่อเป็นสมาชิกแล้ว คุณสามารถนำ Username และ Password ที่ตั้งไว้มา Log in เพื่อเข้าสู่ระบบได้ทันที
- คลิก”ตรวจสอบข้อมูล” แล้วเลือกหัวข้อ “สำหรับผู้ประกันตน” ระบบจะนำคุณเข้ามาที่หน้า “ตรวจสอบข้อมูลประกันสังคม” ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทั้งข้อมูลการส่งเงินสมทบ ข้อมูลการเลือกสถานพยาบาล ประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพและการใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน
- ในกรณีนี้ คุณต้องการตรวจสอบข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ให้คลิกที่หัวข้อ “การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน” จะปรากฏตารางข้อมูลระบุวันที่รับแจ้ง ประเภทประโยชน์ทดแทน วันที่เริ่มใช้สิทธิ์ วันที่สิ้นสุดสิทธิ์ สถานะการอนุมัติ สถานะการจ่ายเงิน จำนวนเงินขอรับ จำนวนเงินอนุมัติ จำนวนเงินจ่าย วิธีการรับเงิน ชื่อผู้รับเงินและวันที่จ่ายเงิน แสดงไว้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อมูลที่มีในระบบ ณ ปัจจุบัน ซึ่งอาจไม่รวมยอดเงินที่อยู่ระหว่างการบันทึกหรือข้อมูลซึ่งเกิดเหตุขัดข้องอื่น ๆ หากมีข้อสงสัยใด คุณสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 เพื่อไขข้อข้องใจ โดยแจ้งเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น หรือติดต่อด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่ / จังหวัด / สาขา ซึ่งสะดวก โดยสอบถามเจ้าหน้าที่งานวินิจฉัยที่คุณยื่นเรื่องโดยตรง นอกจากนี้ยังมีทางเลือกให้ตรวจสอบข้อมูลได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยเข้าไปยังเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม คลิกที่ “เว็บบอร์ด” หรือกระดานสนทนา จากนั้นคลิก “เริ่มหัวข้อใหม่” เพื่อตั้งกระทู้คำถาม เมื่อคำถามของคุณถูกป้อนเข้าสู่ระบบแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่หรือผู้รู้มาไขข้อสงสัยให้
หวังใจว่าสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน ตลอดจนวิธีการตรวจสอบเงินว่างงานตามรายละเอียดดังได้นำเสนอมาข้างต้น น่าจะพอเป็นแนวทางที่ช่วยให้คุณได้รับความกระจ่างมากขึ้น อย่างน้อยเมื่อทยอยส่งเงินสมทบโดยบังคับไปแล้ว ก็ควรจะศึกษาและรักษาสิทธิ์อันเกิดจากการลงแรงทำงานในระยะเวลาหนึ่งอย่างเหมาะสมคุ้มค่าด้วย
วิธีลงทะเบียนใช้สิทธิรับเงิน “กรณีว่างงาน” ลูกจ้าง – พนักงาน แบบออนไลน์