อากิโอะ โมริตะ บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการปลุกปั้น SONY ให้ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก จากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในเวลานั้นสินค้าที่ขึ้นชื่อว่าผลิตในประเทศญี่ปุ่นจะถูกมองว่าเป็นของที่ไม่มีคุณภาพ การพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานในสากลและความมุมานะที่จะถ่ายทอดจินตนาการของตนออกมาเป็นสินค้าตลอดเวลา ทำให้ SONY คือแบรนด์ญี่ปุ่นอันดับต้น ๆ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดและแข็งแกร่งที่สุดของญี่ปุ่นอีกด้วย ว่ากันว่า จากผลการสำรวจตลาดในช่วงปี 1998 SONY คือแบรนด์อันดับหนึ่งที่เอาชนะใจชาวอเมริกันในยุคนั้น เหนือกว่าคู่แข่งแบรนด์สัญชาติอเมริกันอย่าง Coke และ GE ซะอีกค่ะ แต่หนทางสู่ความสำเร็จของ SONY นั้น โมริตะและผู้ร่วมก่อตั้งคนสำคัญ อิบุกะ มาซารุ คือความผสมผสานของทีมที่ลงตัวที่สุดทีมหนึ่ง เพราะโมริตะ เป็นนักบริหารที่มีวิสัยทัศน์และมุมมองด้านการตลาดเป็นเลิศ ส่วนอิบุกะเป็นวิศวกรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านงานประดิษฐ์และการค้นคิดชั้นยอด เมื่อทั้งคู่ได้มารู้จักและร่วมมือกัน ผลงานนวัตกรรมต่าง ๆ ก็ถูกพัฒนาอย่างสร้างสรรจนโลกต้องยอมรับและติดตามอารยธรรม SONY มาจนถึงปัจจุบันนี้
ช่วงชีวิตของเพื่อนซี้ต่างบุคลิกโคจรมาเจอกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะในเวลานั้นชายญี่ปุ่นที่มีอายุ 18 ปีทุกคนต้องถูกเกณฑ์เข้ามาเป็นทหารรับใช้ชาติ โมริตะนั้นแม้ครอบครัวจะเป็นเจ้าของกิจการผลิตเหล้าสาเกที่มีชื่อเสียงและมั่งคั่งที่สุดรายหนึ่งของญี่ปุ่น แต่ด้วยความสนใจเรื่องการคิดประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงเป็นทุนเดิมตั้งแต่วัยเด็ก เขาจึงเลือกเรียนต่อสาขาฟิสิกส์ในมหาวิทยาลัยฌโอซาก้าอิมพีเรียล และเมื่อต้องเข้ามาเป็นทหารเขาจึงเลือกที่จะเข้าร่วมกองทัพทหารในฝ่ายทหารช่างเพื่อทดลองอาวุธชิ้นใหม่ให้กับกองทัพ ในช่วงเวลานั้นเองที่เขาได้รู้จักกับมาซารุ อิบุกะ ซึ่งตอนนั้นเป็นลูกเจ้าของบริษัทเครื่องมือวัดแห่งประเทศญี่ปุ่นและเป็นคนที่มีความรู้เรื่องวิศวกรรมมากคนหนึ่ง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทั้งคู่ก็แยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาแต่ก็ยังติดต่อกันอยู่เรื่อย ๆ ในภาวะหลังสงครามความลำบากแร้นแค้นมีให้เห็นไปทั่ว ผู้คนไม่มีงานทำและขาดแคลนเครื่องมือหลาย ๆ อย่าง โรงงานของอิบุกะถูกระเบิดทำลายจนต้องย้ายออกมาพักอาศัยนอกเมือง และอิบุกะได้ทำห้องทดลองขึ้นมาในโตเกียวและได้ชักชวนให้โมริตะมาช่วยเปิดตลาดธุรกิจไปด้วยกัน ซึ่งโมริตะก็ตอบตกลงทันที ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นเขาคือทายาทหมายเลขหนึ่งเจ้าของกิจการโรงเหล้าสาเก แต่เขาก็เลือกเสี่ยงที่จะทำในสิ่งที่รักมากกว่าค่ะ
จากนั้นเขาทั้งคู่ก็ได้จัดตั้งบริษัทของตนเองชื่อว่า “บริษัท วิศวกรรมโทรคมนาคมแห่งโตเกียว” ซึ่งช่วงแรกของการตั้งธุรกิจ โมริตะทำงานสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยควบคู่ไปกับงานที่บริษัทด้วย และด้วยความที่เป็นมือใหม่ในการทำธุรกิจ แหล่งเงินทุนสำคัญมาจากเงินของพ่อโมริตะ โดยที่ตั้งบริษัทในตอนแรกก็คือซากห้างสรรพสินค้าที่โดนระเบิดในช่วงสงครามนั่นเอง ต่อมาไม่นานโมริตะก็ตัดสินใจออกจากการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและมาลุยงานบริษัทแบบเต็มตัว ซึ่งโมริตะทำงานทุกอย่างด้วยตนเอง ไม่ว่าจะส่งของ, ขับรถ หรือส่งเอกสาร
จนกระทั่งในปี 1946 บริษัทของเขาได้ประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงขึ้นมา แต่ไม่มีใครยอมขายลวดเล็ก ๆ ให้เพราะบริษัทเขามีขนาดเล็กเกินไป จากวิกฤตในครั้งนั้นกลับพลิกเป็นโอกาสให้ทดลองใช้เทปมาแทนลวด และกลายมาเป็นจุดเด่นของสินค้าเพราะสามารถตัดต่อความยาวของการบันทึกเสียงได้ แต่ของดี ๆ กลับไม่มีใครสนใจซื้อ คิดแต่เพียงว่าจะใช้ทำอะไรได้และราคาแพงเกินไป ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะท้อถอยที่ชิ้นงานประดิษฐ์ไม่มีใครต้องการ แต่โมริตะกลับมองว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะลูกค้ายังไม่รู้ว่าสินค้าตัวนี้มีประโยชน์และคุณค่ามากขนาดไหน
บทเรียนธุรกิจบทแรกสอนให้โมริตะรู้ว่า “คุณไม่มีวันขายสินค้าได้ ถ้าลูกค้ายังไม่ซาบซึ้งในคุณค่าของสินค้าชิ้นนั้น”
ทำให้โมริตะเปลี่ยนแนวคิดวิธีขายสินค้าเป็นการสาธิตวิธีใช้สินค้าให้คนเห็นถึงประโยชน์ของเครื่องบันทึกเสียง ด้วยการนำไปให้ศาลใช้บันทึกคำให้การแทนการนั่งจดชวเลขแบบเดิม และนำไปเป็นอุปกรณ์ช่วยในการฝึกออกเสียงภาษาอังกฤษ ซึ่งเทคนิคการทำตลาดครั้งนั้นของโมริตะได้ผลเป็นอย่างมาก สินค้าของพวกเขาขายได้ดีและสามารถวางจำหน่ายแทนที่สินค้าที่ต้องนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาอีกด้วย จึงเป็นจังหวะที่เขาตัดสินใจย้ายร้านเข้ามาอยู่ในตัวเมืองและเริ่มเดินทางไปประเทศอเมริกาเพื่อดูงานและซื้อลิขสิทธิ์เครื่องทรานซิสเตอร์ของ Bell Lab ในประเทศอเมริกากลับมาพัฒนาต่อให้เครื่องสามารถควบคุมความถี่ของเสียง, ขนาดเครื่องเล็กลงและแบตเตอรี่ใช้ได้นานกว่าเครื่องขนาดเดียวกัน ในปี 1955 ผลงานการพัฒนาทรานซิสเตอร์ครั้งนี้สร้างชื่อให้เขาทั้งคู่เป็นรายแรกของญี่ปุ่นและเป็นรายที่สองของโลกค่ะ
จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นบวกกับการเดินทางไปศึกษางานในต่างประเทศบ่อย ๆ ทำให้โมริตะเริ่มรู้สึกว่าชื่อบริษัทของเขายาวเกินไป, ออกเสียงยาก และไม่มีสัญลักษณ์ที่ชัดเจน ดังนั้นในปี 1958 เขาจึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น SONY ที่ออกเสียงได้ง่าย, จดจำได้ไม่ยากและใช้สัญลักษณ์ชื่อนี้เป็นตัวอักษรใหญ่ทั้งหมดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาค่ะ