การวางแผนทางการเงิน เป็นเครื่องมือที่ช่วยเตรียมความพร้อมไปสู่ความมั่นคงทางการเงิน เราควรสร้างนิสัยการออม และการใช้เงินอย่างสมเหตุผล และควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อบ่มวินัยทางการเงินไว้ก่อน เมื่อเข้าสู่วัยทำงานก็จำเป็นต้องรู้วิธีการวางแผนจัดสรรรายได้ ให้เพียงพอกับการออมเงินตามเป้าหมายและรายจ่ายต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การวางแผนการเงินเพื่อความมั่นคงต้องทำอย่างไรบ้าง มาดูพร้อมกันเลยค่ะ
ขั้นตอนการวางแผนทางการเงิน
-
ประเมินฐานะการเงิน
ก่อนอื่นคุณต้องประเมินฐานะทางการเงินของที่แท้จริง ไม่ใช่สินทรัพย์ที่มีอยู่ แต่เป็น “ความมั่งคั่งสุทธิ” ซึ่งสามารถประเมินได้โดยการจัดทำบัญชีสินทรัพย์ และหนี้สิน แล้วนำมาคำนวณ ดังนี้
นอกจากนี้ คุณควรจดบันทึกเกี่ยวกับรายจ่ายประจำวัน ซึ่งสามารถให้คุณมองเห็นถึงพฤติกรรมทางการเงินของตนเองได้อย่างชัดเจนขึ้น เพราะทั้งรายได้และค่าใช้จ่าย แต่ละรายการจะถูกแจกแจงออกมา ทำให้คุณตระหนักได้ว่าค่าใช้จ่ายประเภทใดสูงเกินไป หรือไม่มีความจำเป็น คุณจึงสามารถตัดออกได้ รวมทั้งทราบว่ารายได้ทางใด น้อยเกินไป หรือสามารถหาทางเพิ่มได้อีกข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณวางแผนการเงินได้ดีขึ้น
-
ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
ควรมีการตั้งเป้าหมาย และกำหนดเวลาให้ชัดเจน รวมถึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายให้มีความสอดคล้องกับความสามารถทางการเงินในช่วงเวลานั้น ๆ อย่างเช่น หากในขณะที่คุณมีรายได้น้อย หรือภาระทางการเงินมาก ก็อาจเลื่อนเป้าหมายที่ไม่สำคัญออกไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญ และเร่งด่วนก่อน ควรนำ “สิ่งที่จำเป็นต้องมี” มากำหนดเป็นเป้าหมายก่อน “สิ่งที่อยากได้” โดยเป้าหมายที่ดี ควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่จำเป็น มากกว่า สิ่งที่ต้องการคุณจึงจะสามารถวางแผนการเงินให้มั่นคงในอนาคตได้
-
จัดทำแผนการเงิน
ควรมีการจัดทำแผนทางการเงิน ไว้เพื่อให้คุณสามารถบริหารเงิน หรือทรัพย์สินต่าง ๆ ได้ อย่างเช่น คุณจะใช้จ่ายเงินอย่างไร หารายได้เพิ่มจากแหล่งไหน หรือนำเงินที่มีไปลงทุนอย่างไร ให้ได้ผลตอบแทนสูงๆ โดยคุณต้องจัดสรรระยะเวลาของแผน ให้สัมพันธ์กับรายได้และภาระทางการเงินเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ และไม่กดดันตัวเองจนเกินไป
-
ดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด
สิ่งสำคัญที่สุด นั่นก็คือการที่คุณต้องมีความมุ่งมั่น และมีวินัย เพราะหากขาดการปฏิบัติที่จริงจัง อย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ยากที่จะบรรลุเป้าหมายได้ ดังนั้น คุณต้องทำทุกอย่างที่คุณต้องเป้าเอาไว้อย่างเต็มความสามารถ ไม่ควรงดหรือยกเว้นบางข้อ เพราะนั่นอาจจะทำให้คุณไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่คุณวางแผนเอาไว้ในอนาคตได้ แต่หากมีบางช่วงที่คุณไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ เราขอแนะนำให้คุณเลื่อนแผนการไม่ใช่ “ยกเลิก” เพียงแต่เลื่อนเวลาออกไปสักน้อย ให้คุณมีโอกาสได้ทำตามแผนการที่วางเอาไว้ได้
-
ตรวจสอบและปรับแผนตามสถานการณ์
ควรหมั่นตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย ๆ คุณต้องตรวจทุก 6 เดือนว่า ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ หากไม่เป็นไปตามแผน คุณก็ควรที่จะเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบแผนการใหม่ ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป หากคุณทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดวินัยทางการเงิน และมีความั่นคงทางการเงินอย่างแน่นอน
เคล็ดลับเพื่อความมั่นคงทางการเงิน
- คุณควรวางแผนการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายได้ที่เข้ามา โดยพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นมีอะไรบ้าง แล้วกันรายได้ส่วนหนึ่งไว้สำหรับเงินออม และค่าใช้จ่ายที่จำเป็น หากพบว่ารายได้ที่เข้ามาไม่เพียงพอ ก็ควรหาทางออกโดยการลดค่าใช้จ่าย หรือเพิ่มรายได้จากช่องทางอื่น ๆ
- ควรเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอน มีเงินออมเผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายจำเป็นอย่างน้อย 6 เดือนตรวจสอบสวัสดีการและประกันสุขภาพที่มีอยู่ ว่าครอบคลุมแค่ไหน หากไม่เพียงพอ ก็ควรทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม ก่อนตัดสินใจกู้ยืมเงินทุกครั้งควรคำนึงถึงรายได้ที่จะเข้ามาเพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ได้หมด อาจจะหาแหล่งรายได้เสริม หรือนำสินทรัพย์ที่มีไปลงทุนให้งอกเงยขึ้นก็ได้
- เมื่อคุณรู้ว่าในอนาคตต้องการใช้เงินจำนวนมาก ควรเริ่มวางแผนเก็บเงินเตรียมไว้แต่เนิ่น ๆ บริหารเงินออมให้งอกเงย อย่างเช่น การฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตร ซื้อประกันสะสมทรัพย์ ซื้อกองทุนรวม ฯลฯ ทั้งนี้ ควรศึกษาและทำความเข้าใจรูปแบบการออม ความเสี่ยง รวมถึงต้องติดตามข่าวภาวะเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบ อย่างเช่น ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย
- การใช้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล ควรใช้อย่างมีวินัย จัดเก็บใบเสร็จเพื่อตรวจสอบ และจ่ายเงินให้ตรงกำหนด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็น
- การก่อหนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว หากมีการบริหารจัดการที่ดี และเลือกก่อหนี้ที่เป็นประโยชน์ในอนาคต อย่างเช่น การกู้ซื้อบ้าน หรือกู้เพื่อประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตาม คุณควรประเมินความสามารถในการชำระคืนก่อน โดยภาระการชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ยของหนี้ทุกประเภทในแต่ละเดือนรวมกัน ไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน
- หากคุณมีหนี้สินเกินตัว ก็ต้องพยายามปลดหนี้ด้วยการประหยัด ค่อย ๆ ผ่อนชำระ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ และหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง ที่สำคัญไม่ควรก่อหนี้เพิ่ม หากไม่สามารถชำระคืนได้ ก็ควรเจรจากับทางเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกรวมกัน
นอกจากนี้ การวางแผนการเงินที่ดีควรเริ่มทำต้องแต่ คุณเริ่มมีรายได้เข้ามา ยิ่งมีการวางแผนได้เร็วเท่าไหร่ ในอนาคตคุณก็จะมีเงินไว้ใช้มากขึ้นเท่านั้น ขอให้มีความสุขกับการวางแผนการเงินในแบบของคุณค่ะ