หากต้องการลงทุนหลักทรัพย์ที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ผู้ลงทุนสามารถเลือกการลงทุนได้หลากหลายประเภท อาทิ การลงทุนในหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ หน่วยลงทุน แม้กระทั่งพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ โดยผู้ลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวจะต้องมีความรู้ความเข้าใจข้อมูลพื้นฐานของธุรกิจอย่างลักษณะการดำเนินงาน ผลประกอบการ วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณทั้งความเสี่ยงด้านธุรกิจ การเงิน การบริหาร หมายรวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจ สังคม การเมือง นโยบายต่าง ๆ รวมถึงสภาพแวดล้อม ที่จะมีผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อหลักทรัพย์ที่ออกโดยธุรกิจแต่ละประเภทที่ผู้ลงทุนได้ลงทุนไป ซึ่งปัจจัยหลาย ๆ อย่างเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนควรต้องศึกษาก่อนการลงทุนทุกครั้งเพื่อเป็นเกราะป้องกันการตัดสินใจในอนาคตพร้อมต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้นได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่ต้องการผลตอบแทนสูงมานานและทุกประเทศต่างก็มีตลาดหุ้นซึ่งเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ออมและผู้ที่ต้องการเงินจากการกู้ยืมผ่านการออกหุ้นดังกล่าวเพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นไปลงทุนในการแสวงหาผลตอบแทนเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ ก่อตั้งธุรกิจ หรือเพิ่มสภาพคล่องในธุรกิจให้สามารถเติบโตต่อไปได้อันนำมาซึ่งผลกำไรที่จะสะท้อนถึงศักยภาพของธุรกิจและนั่นก็จะส่งผลต่อมูลค่าหุ้นของธุรกิจดังกล่าวที่จะเพิ่มสูงขึ้นอันส่งผลดีโดยตรงกับผู้ที่ได้ครอบครองหุ้น ซึ่งในปี 2552 หุ้นเริ่มไต่ระดับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี 2555-2557 ทำให้ตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับสูงสุดประมาณ 1,600 จุด
แต่ในช่วงที่ผ่านมาในปี 2558 – มกราคม 2559 ตลาดหุ้นมีแนวโน้มลดลงจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำเนื่องมาจากกลุ่มโอเปกผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมากเป็นผลให้อุปทานปริมาณน้ำมันที่ได้จากการผลิตสูงมากกว่าอุปสงค์การใช้น้ำมันของกลุ่มบุคคลและกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบในการผลิตหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในธุรกิจส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบจากระดับราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงเรื่อย ๆ มากที่สุดในประวัติการณ์ประกอบกับประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถผลิตน้ำมันได้เองจากชั้นหินดินดาน จึงเกิดปรากฏการณ์ปริมาณน้ำมันล้นตลาด ซึ่งนั่นส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจผู้ผลิตน้ำมันในประเทศ ธุรกิจจำหน่ายน้ำมันและที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันซึ่งเป็นผลลบทางตรงต่อผลประกอบการของธุรกิจทำให้ราคาหุ้นของธุรกิจดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง
แต่ในทางกลับกันธุรกิจอีกกลุ่มที่ใช้น้ำมันเพื่อการผลิต เพื่อใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนการขนส่งสินค้าหรือธุรกิจประเภทอื่นที่สัมพันธ์กับต้นทุนค่าน้ำมันอย่างธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจรถโดยสารและธุรกิจก่อสร้าง กลับได้อานิสงส์ในการลดค่าใช้จ่ายของธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผลปะกอบการก็จะพุ่งสูงขึ้นต่อยอดถึงราคาหุ้นของธุรกิจนั้น ๆ ด้วย ดังนั้น ในช่วงดังกล่าวจึงทำให้นักลงทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานได้รับผลกระทบขาดทุนไปตาม ๆ กัน ต่างกับธุรกิจกลุ่มอื่นที่ทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นบ้างตามแนวโน้มธุรกิจและศักยภาพของตัวธุรกิจเอง โดยในช่วงตลาดหุ้นติดลบเป็นช่วงที่นักลงทุนบางกลุ่มมีการมองตลาดและเห็นช่องทางการลงทุนโดยช้อนซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อการเก็งกำไรในช่วงต่อไป
เหตุการณ์การลดลงของราคาหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน หากพิจารณาตลาดหุ้นในไทยจะลดลงติดต่อมาหลายเดือนและเริ่มฟื้นตัวขึ้นช่างเดือนกุมภาพันธ์ -มีนาคม 2559 จากข่าวดีที่กลุ่มประเทศสมาชิกโอเปกซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่และประเทศนอกกลุ่มโอเปกที่สามารถผลิตน้ำมันได้เจรจาตกลงเบื้องต้นว่าจะลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางด้านราคาน้ำมันให้กลับคืนสู่ภาวะปกติเหมือนที่เคยมีมาในรอบหลายปีก่อน ดังนั้นแล้วการเจรจาดังกล่าวจึงส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลต่อหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกับ ประกอบกับธนาคารกลางหลายประเทศยังจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเช่นเดิมต่อไป อาทิ ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในระดับ 1.5% และคาดการณ์ว่าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศจีนมีความซบเซาจากการหดตัวของภาคการผลิตทั้งจากโรงงานและภาคการผลิตในส่วนอื่น ๆ จึงทำให้ธนาคารกลางจีนลดสัดส่วนเงินสำรองที่ธนาคารต้องจัดส่งให้กับธนาคารกลางลง ส่งผลดีต่อการเพิ่มสภาพคล่องให้เศรษฐกิจการลงทุนมากขึ้น รวมถึงปัจจัยการคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาที่ยังคงไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน
นอกจากนั้นธนาคารกลางยุโรป ( ECB ) จะยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ต่อไป โดยอาจเพิ่มการอัดฉีดเงินเพื่อซื้อพันธบัตรเพื่อปล่อยเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอันจะส่งผลดีต่อการเพิ่มการจ้างงานในประเทศและธุรกิจในประเทศซึ่งจะมีเงินหมุนเวียนจากการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน ด้วยเหตุปัจจัยภายนอกประเทศหลายประการจึงส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2559 ที่ตลาดหุ้นไต่ระดับขึ้นถึง 1380-1390 จุด และมีทิศทางที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยซึ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงต่อถึงการสร้างงานเพิ่มรายได้สู่ประชาชนทุกกลุ่มตั้งแต่แรงงานถึงผู้ประกอบการ ผ่านการจับจ่ายใช้สอย
ดังนั้นแล้วจึงเห็นได้ว่าตลาดหุ้นมีความคึกคักด้วยระดับการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นตลอดเดือนโดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน รวมไปถึงหุ้นกลุ่มธนาคาร ประกัน การสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การก่อสร้าง และกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ได้กลับมาสดใสอีกครั้งจากการซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศรายบุคคลและกลุ่มสถาบัน ซึ่งการซื้อหุ้นในช่วงนี้จะมีทั้งการถือระยะยาวเพื่อผลคอบแทนประเภทปันผล ถือระยะยาวในกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพที่มีปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มเศรษฐกิจเอื้ออำนวย หรือถือระยะสั้นเพื่อการเก็งกำไร โดยการเลือกซื้อหุ้นแบบใดจะขึ้นอยู่กับการประเมินของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตามการลงทุนในช่วงเดือนมีนาคม 2559 ต้องมองหาหุ้นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีรากฐานที่เข้มแข็งเป็นหลัก โดยพิจารณาจากการควบคุมต้นทุน ความสามารถในการกำหนดรายได้ และศักยภาพวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร รวมถึงทิศทางปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นเพื่อให้การลงทุนสามารถปิดความเสี่ยงได้มากที่สุด อีกทั้งอย่าลืมการกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อลดการกระจุกตัวของผลประกอบการธุรกิจที่อาจขาดทุนเหมือนกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด อย่าลืมว่า หุ้นคือ สินทรัพย์เสี่ยงสูง