จากการที่กรุงเทพมหานครรับนโยบายจากรัฐบาลจัดระเบียบทางเท้าในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ 1-2 ปีที่ผ่านมามีข้อดีตรงที่บ้านเมือง ถนนหนทาง และทางเท้า ดูโล่ง สะอาดตา เรียบร้อย และเป็นระเบียบขึ้นก็จริงอยู่ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ ความเป็นอยู่ของพ่อค้าแม่ค้าที่เคยขายของริมทางเท้า หรือตามย่านที่เคยเป็นแหล่งขายของ พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ได้ออกมาโอดครวญถึงการจัดระเบียบที่เกิดขึ้นว่า เป็นการออกกฎที่ไม่ได้นึกถึงหัวอกของประชาชนที่เป็นพ่อค้าแม่ขายในอีกด้านเลย อย่างไรเส้นตายของกรุงเทพมหานคร ก็คือ สิงหาคม 2560 นี้ที่จะต้องจัดการเรื่องจากการจัดระเบียบทางเท้าให้เสร็จเรียบร้อยทุกเขตในกรุงเทพมหานคร
มีเสียงโอดครวญจากพ่อค้าขายก๋วยเตี๋ยวในย่านอนุสาวรีย์ว่า อนุสาวรีย์ในวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว แม้ตนเองจะยังขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ยังไม่ได้เลิก แต่เนื่องจากการจัดระเบียบทำให้คนไม่เดินกันจึงขายไม่ได้ ยอดขายตกลงไปกว่า 60% จะให้พ่อค้าที่ขายก๋วยเตี๋ยวตรงนี้มานานกว่า 40 ปีไปทำอาชีพอะไร หรือให้ไปขายที่ตรงไหน
อีกรายเป็นแม่ค้าขายอาหารอิสลามที่ขายอยู่หน้ารามฯ ย่านสตรีทฟู้ดชื่อดังอีกแห่ง ที่ในอดีต 17.00-24.00 น. ถือเป็นเวลาทองในการทำมาหากินของเหล่าพ่อค้า แม่ค้าในย่านนี้เลยก็ว่าได้ แต่เมื่อมีการจัดระเบียบ ร้านค้าได้ปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก เพราะไม่มีคนมาเดินเลย บางคนถึงกับเลิกปิดกิจการกลับต่างจังหวัดไปเลยก็มี ส่วนตัวเองเนื่องจากไม่มีค่าเช่าก็เลยไม่ไปไหน ปักหลังขายที่เดิม แต่ตอนนี้กำไรแทบไม่เหลือเพราะขายได้น้อยมาก คนไม่มี
พ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า การที่ดำเนินนโยบายแบบนี้มีผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรากหญ้า ประชาชนระดับล่างจะไม่มีอาชีพ ไม่มีกิน และจะต้องหันไปทำอาชีพอื่น หรือไม่ก็ต้องไปทำเรื่องผิดกฎหมาย เป็นอาชญากร ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับตายสนิท ตายทั้งเป็น ไม่ให้ทางเลือกไว้เลย
มีความเห็นจากนักวิชาการ ผศ.ดร. นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่ารัฐบาลมองเรื่องของการหาบเร่แผงลอยหรือการขายของตามทางเท้าในแค่มิติเดียว โดยมองแต่เพียงว่าเป็นการทำให้บ้านเมืองดูไม่เรียบร้อย โดยลืมไปว่าการขายของตามทางเท้าในเมืองไทยนั้นมีการทำแบบต่อเนื่องกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรม เป็นเสน่ห์ของเมืองไทยที่ทั้งคนไทยเองหรือชาวต่างชาติต่างก็ชอบ นอกจากนั้นการอนุญาตให้ขายของได้แบบเดิมเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชนด้วย
นอกจากนั้นการมีอาหารข้างทางขายตามริมทางยังช่วยให้คนไทยมีแหล่งอาหารราคาถูกเลือกรับประทานได้อย่างหลากหลาย โดยไม่ต้องทานในร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือตามห้างสรรพสินค้า ที่เป็นอาหารราคาแพง ช่วยลดค่าครองชีพลงได้ ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ทำงานประจำไม่มีเวลาซื้อหาของสดและทำกับข้าวกินเอง ก็จะต้องฝากท้องไว้กับร้านต่าง ๆ ที่ตั้งริมทางเหล่านี้เอง ไม่ว่าจะเป็นข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ข้าวราดแกง หรือร้านอาหารตามสั่ง ยังมีร้านขายขนม ของหวาน หรือผลไม้ที่เรียงรายให้เลือกในราคาประหยัดด้วย
อ่านเพิ่มเติม : ธุรกิจอาหารบุกเจาะกลุ่มลูกค้าออนไลน์
ก่อนหน้านี้ผู้ค้าย่านประตูน้ำ ราชประสงค์ สีลมและสยามสแควร์ถูกจัดระเบียบทางเท้าไปเป็นกลุ่มแรก ทำให้พ่อค้าแม่ค้าต้องหาพื้นที่สำหรับขายอาหารใหม่ จากเดิมที่จ่ายเงินเป็นค่าปรับให้ กทมฯ เดือนละ 1,000 บาท ก็ต้องเสียค่าเช่าที่จากเอกชนเพื่อขาย เดือนหนึ่งตกประมาณ 4,000-6,000 บาท เวลาในการขายก็น้อยลงด้วย เนื่องจากมีผู้เช่าเดิมที่เช่าพื้นที่สำหรับขายอย่างอื่นในเวลาอื่นแล้ว นายพิทักษ์ ดวงปัญญา ผู้ค้าที่อยู่บนถนนสีลมมากว่า 20 ปี ได้เปิดเผยไว้ พร้อมกับบอกว่าที่ กทม. จัดระเบียบและหาที่ขายใหม่ให้นั้น อยู่ไกลมาก ไปนอกเมือง อย่างตลาดสนามหลวง 2 ตัวเขาก็เลยไม่ได้ไป เพราะเน้นขายอาหารให้กับพนักงานออฟฟิศ จึงต้องยอมจ่ายค่าเช่าที่ในซอยพัฒน์พงษ์เพื่อขายอาหารในช่วงเวลา 6.00-10.00 น. เท่านั้น
สำหรับย่านเยาวราชและถนนข้าวสาร เป็นพื้นที่ที่ กทมฯ ยกเว้นไว้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนนโยบายสนับสนุนเรื่องของสตรีทฟู้ดให้เป็นจุดขายสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา จึงให้จัดระเบียบพื้นที่ให้เรียบร้อยแทนการยกเลิกการขายไปเลยเหมือนกับย่านอื่น ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สำนักข่าวต่างประเทศอย่างซีเอ็นเอ็น มีการรายงานข่าวต่อเนื่องในเรื่องของถนนเยาวราช โดยยกย่องให้เป็นแหล่งอาหารริมทางที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลกในด้านของสตรีทฟู้ด นี่เองที่ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจะต้องหาโอกาสไปที่ถนนเยาวราชแห่งนี้ เพื่อลองชิมอาหารข้างทางของเรา ถนนข้าวสารก็เช่นเดียวกัน
ในฐานะของมนุษย์เดินดินกินข้าวแกงอย่างผู้เขียนเอง ก็อาศัยการฝากท้องกับอาหารริมทางข้างถนนแบบนี้อยู่เป็นประจำ และก็รู้สึกว่าก็อร่อยและสะอาดดี แถมราคาก็ไม่แพงด้วย ถึงบางมื้อเราอยากจะเข้าไปนั่งในร้านเย็น ๆ ตากแอร์ สั่งอาหารอร่อยในห้างมากินอย่างสบายใจบ้างก็ตาม แต่เมื่อนึกถึงว่าต่อไปจะไม่มีอาหารข้างทางเหล่านั้นขายแล้ว ก็อดรู้สึกเสียดายไม่ได้ เพราะไม่ใช่ว่าราคาถูกจ่ายไหวเท่านั้น แต่ยังมีความหลากหลาย รสชาติดี อร่อย แปลกใหม่ ให้ความรู้สึกต่างจากการรับประทานอาหารในภัตตาคารหรือในห้าง ต่อไปจะซื้อขนมเบื้องที่ไหน ต่อไปจะซื้อขนมครกที่ไหน ต่อไปร้านขนมจีนน้ำยาเจ้าโปรดจะไปอยู่ไหน รถเข็นผลไม้อีกล่ะ ไหนจะกาแฟเย็น ชาดำเย็น แม้ว่าทางเท้าจะโล่งเดินสบายดี แต่คิดทีไรก็ก็อดเศร้าไม่ได้เลยค่ะ
อย่างไรเราคงยังต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไปรวมถึงมีความหวังอย่างริบหรี่ว่า กระแสสตรีทฟู้ดที่เป็นวัฒนธรรมของคนไทยที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้นั้น จะช่วยชะลอหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายของการจัดระเบียบนี้ได้หรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน
ขอบคุณข้อมูล