กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ. มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อให้นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้กู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้เป็นค่าเล่าเรียน และเมื่อเรียนจบมีงานทำก็นำเงินมาผ่อนชำระคืนกับ กยศ. โดย กยศ.คิดดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำมาก ในอัตราร้อยละ 1 ต่อปีเท่านั้น นอกจากนั้นระยะเวลาในการผ่อนคืนเงินกู้ยังนานถึง 15 ปีอีกด้วย
วัตถุประสงค์แรกเริ่มของ กยศ. ถือว่าดีมากเพราะมีส่วนช่วยในเรื่องเงินทุนให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนได้มีโอกาสได้เรียนจนจบเพื่อมีโอกาสทำงานในสาขาอาชีพที่ตนชอบและมีรายได้เพียงพอที่จะใช้จ่ายสำหรับตนเองและนำมาคืนหนี้ได้ อย่างไรก็ตามหลังจากที่กองทุนนี้ได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน ผลปรากฏว่ามีนักศึกษาเป็นจำนวนมากที่ให้ความสนใจในการขอยื่นใบสมัครเพื่อกู้ยืมเงินจาก กยศ. เฉลี่ย 3-4 ปีที่ผ่านมา ปีละกว่า 20,000 ล้านบาท ในขณะที่ลูกหนี้ชำระคืนเข้ามาในกองทุนนั้นมีแค่ประมาณปีละ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้ส่วนต่างต้องกลายเป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลมาตลอด
ไม่เพียงเท่านั้น กยศ.ยังมีตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่ามีลูกหนี้จำนวนมากที่เมื่อถึงเวลาแล้วกลับไม่ชำระหนี้คืนกลายเป็นหนี้ค้างชำระจำนวนมาก ซึ่งทาง กยศ.เองก่อนหน้านี้ก็ได้มีมาตรการออกมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเตือนให้ลูกหนี้ทราบถึงค่าเบี้ยปรับจากการผิดนัดชำระหนี้ที่คิดต่างหากจากดอกเบี้ยเงินกู้ ในอัตราที่สูงถึง 18% ต่อปีของยอดหนี้ที่ค้างชำระ หากลูกหนี้ค้างชำระไม่คืนหนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี ทาง กยศ.ก็จะส่งฟ้องดำเนินคดีเพื่อยึดทรัพย์ต่อไป
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ช่วงเดือนมกราคม 2560 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ ปี 2560 ที่เปิดช่องทางในการชำระหนี้คืนจากลูกหนี้ที่เดิมจะให้จ่ายคืนผ่านธนาคารเพียงช่องทางเดียว มาเป็นการให้หน่วยงานราชการของภาครัฐและบริษัทเอกชนที่ลูกหนี้ทำงานอยู่ทำการหักหนี้ออกจากบัญชีเงินเดือนเพื่อนำส่งคืน กยศ. ใช้วิธีเดียวกันกับที่ใช้หักภาษีบุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรนั่นเอง โดยมีผลบังคับใช้ทันที นอกจากนั้น กยศ. ยังมีแนวคิดในเรื่องมาตรการการไม่ต่ออายุบัตรประชาชนให้กับลูกหนี้ที่ค้างชำระ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการทบทวนว่าผิดรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับทางกฎหมายใด ๆ หรือไม่
จนถึงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 เพื่อรวม กยศ. กับกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคตหรือ กรอ. เข้าด้วยกัน ผู้อำนวยการฝ่ายคดีและบังคับคดี กยศ. นายปรเมศวร์ สังข์เอี่ยม ได้ออกมาเปิดเผยว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้วันที่ 26 กรกฎาคม 2560 นี้ รายละเอียดของกฎหมายระบุว่านายจ้างสามารถหักเงินจากรายได้ของลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ของกองทุน กยศ. จากบัญชีเงินเดือนได้ เพื่อนำส่งคืนให้กับ กยศ.ต่อไป
ขณะนี้เรื่องนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการประสานงานไปยังทั้งหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ข้อมูลของลูกหนี้มาทำเรื่องการหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนเพื่อนำส่งคืนกองทุนต่อไป อย่างไรตามจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 นี้อย่างแน่นอน
ลูกหนี้ที่จะถูกหักบัญชีเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ กยศ. เป็นกลุ่มแรกจะเป็นข้าราชการที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2 แสนราย ยอดหนี้รวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท จากนั้นจะต่อเนื่องไปยังลูกหนี้บริษัทเอกชนทาง กยศ. คาดว่าหลังจากที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จะช่วยลดหนี้คงค้างของ กยศ.ที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 1 ล้าน 9 แสนราย ยอดหนี้รวม 62,000 ล้านบาท ลงได้กว่า 53% ส่วนเรื่องการนำข้อมูลลูกหนี้ กยศ.เข้าสู่ระบบเครดิตบูโรนั้น ทาง กยศ. ได้เปิดเผยว่าจะเริ่มถ่ายโอนข้อมูลลูกหนี้ได้ในปี 2563 เลื่อนจากกำหนดเดิมที่จะเริ่มดึงข้อมูลได้ในปี 2561
กระทู้ https://pantip.com/topic/36557730 ได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างมากมายถึงเรื่องดังกล่าว ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ไปในทำนองเห็นด้วย เพราะเมื่อเป็นหนี้ก็ต้องรับผิดชอบชำระหนี้ เป็นเรื่องปกติ แต่ในเมื่อลูกหนี้บังคับตัวเองให้จ่ายหนี้คืนไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งมีผลเสียต่อส่วนรวม ทำให้กองทุนมีหนี้เสียสูงกว่า 50% ซึ่งเป็นอัตราหนี้เสียที่สูงจนน่ากลัวมาก มีผลทำให้รุ่นน้องนักศึกษาที่ขาดแคลนขาดโอกาสในการได้รับเงินกู้เพื่อการศึกษาอย่างน่าเสียดาย เพราะงบประมาณถูกจำกัดด้วยหนี้คงค้างที่รุ่นพี่ไม่ชำระคืน กยศ. ก็ต้องมีมาตรการออกมาบังคับให้หักเงินเดือนเช่นนี้ถือว่าถูกต้องแล้ว
ต่อให้มีบางความเห็นซึ่งอาจเป็นความเห็นของลูกหนี้ กยศ. ก็ได้ที่บอกว่าการหักเงินคืนหนี้จากบัญชีเงินเดือนเลยดูออกจะโหดเกินไป เพราะเงินเดือนเป็นน้ำพักน้ำแรงของเราที่ทำงานหามาได้ เราน่าจะมีสิทธิ์จัดสรรเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก่อนนำไปคืนหนี้ เรื่องนี้เป็นความจริง แต่สำหรับคนที่ไม่มีหนี้เท่านั้น หนี้ที่หักออกจากบัญชีเงินเดือนก็ไม่ได้หักตามใจฉัน หักเฉพาะตามยอดเงินที่ต้องคืนในแต่ละปีเท่านั้น ซึ่งหากไม่ได้ก่อหนี้อื่น ๆ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หนี้รถยนต์ ก็ไม่น่ามีปัญหาเรื่องการชำระคืน เพราะยอดที่ต้องคืนแต่ละปี เมื่อหารเฉลี่ยเป็นรายเดือนแล้วเป็นเงินที่ไม่ได้มากเลย
มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยกับเรื่องหักเงินเดือนสำหรับลูกหนี้ที่มีแต่ไม่ยอมจ่าย แล้วสำหรับลูกหนี้ที่ไม่มีจ่าย รัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไร
กรณีนี้สำหรับคนตกงานน่าจะทำเรื่องเพื่อขอผัดผ่อนออกไปก่อนได้ เพราะอย่างไร กยศ. จะต้องประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร หรือบริษัทเอกชนต่าง ๆ เพื่อขอข้อมูลของลูกหนี้ในเรื่องรายได้อยู่แล้ว ในกรณีเรื่องความช่วยเหลือจากภาครัฐก็ต้องบอกว่าการได้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาถือเป็นโอกาสที่รัฐหยิบยื่นให้อยู่แล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้โอกาสนี้ แต่เป็นนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เท่านั้น (ปัจจุบันเพิ่มเติมนักศึกษาที่เลือกศึกษาในวิชาชีพที่เป็นที่ต้องการหรือขาดแคลนอยู่) ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับสินเชื่อในระบบอื่น ๆ ถ้าเป็นหนี้ธนาคารแล้วไม่จ่ายก็ต้องเข้ากระบวนการกฎหมายส่งฟ้องศาลและถูกอายัดเงินเดือน ดังนั้นไม่มีอะไรที่ต่างกันเลย
การเริ่มไม่รับผิดชอบหนี้ตั้งแต่เป็นนักศึกษาหรือเรียนจบยังส่งผลเสียต่อระบบความคิดและการวางแผนทางการเงินในระยะยาวด้วย ทัศนคติของความรับผิดชอบต่อสิ่งที่กระทำรวมไปถึงเรื่องหนี้ควรต้องถูกปลูกฝังตั้งแต่เริ่มต้นทำงานแบบนี้ถือว่าถูกต้องที่สุดแล้ว ลองคิดง่าย ๆ ว่าถ้าเริ่มไม่อยากใช้หนี้คืน กยศ. คิดว่าเป็นหนี้ที่ได้มาฟรี ๆ ต่อไปก็จะมีความคิดที่จะไปก่อหนี้เพิ่มแล้วไม่รับผิดชอบต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตต่อ ๆ ไป
ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับเรื่องการหักเงินเดือนเพื่อจ่ายหนี้คืน กยศ. และนำข้อมูลลูกหนี้ กยศ.เข้าไปอยู่ในเครดิตบูโร เพราะจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องหนี้ทั้งระบบไปในคราวเดียวกัน ลูกหนี้ที่ค้างจ่ายหนี้ กยศ. อยู่ก็ไม่ควรที่จะได้รับอนุมัติกู้เงินหรือสินเชื่ออื่นใดอีก ธนาคารและสถาบันการเงินควรต้องมีข้อมูลหนี้ กยศ. เพื่อนำไปร่วมใช้พิจารณาในการอนุมัติเงินกู้ของลูกหนี้ด้วย เป็นกระบวนการขั้นตอนที่จะช่วยลดปัญหาวงจรหนี้ในอนาคตได้