ในช่วงต้นปีแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนคงเตรียมตัวทำหน้าที่ของประชาชนนั้นก็คือการเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ซึ่งหากใครทำงานมานานแล้วก็คงจะพอมีแนวทางในการเสียภาษีอยู่บ้าง แต่ในกลุ่มของมนุษย์เงินเดือนที่เป็น First Jobber ที่อาจจะยังไม่รู้ต้องเริ่มยังไงหรือยังมีข้อสงสัยยังไม่ใช่น้อยถึงการคิดคำนวณและการยื่นภาษีที่เราต้องทำในทุกๆปี วันนี้เรามีคำตอบให้ค่ะ
ภาษี คืออะไร ?
ตอบคำถามพื้นฐานที่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ โดยเฉพาะ First Jobber ที่อาจจะสงสัยว่า ภาษีคืออะไร แล้วทำไมเราถึงต้องเสียภาษี ?
ภาษี คือ เงินหรือทรัพย์ที่ประชาชนมีหน้าที่ที่จะต้องส่งให้ภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนด หากไม่มีการชำระจะมีผลทางกฎหมาย โดยเราต้องเสียภาษีเพื่อความเจริญในสังคมส่วนรวม โดยเงินภาษีจะถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาและผลักดันความเจริญในด้านต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ คมนาคม สาธารณูปโภคของประเทศให้เป็นไปตามที่ควรเป็นและประชาชนเกิดความผาสุกนั่นเอง
รายได้เท่าไรถึงต้องเสียภาษี ?
คำถามยอดฮิตของ First Jobber ก็คือรายได้เท่าไหร่เราถึงต้องเสียภาษี กรมสรรพากรกำหนดเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำของผู้ที่ต้องจ่ายภาษี คือ ผู้ที่มีเงินได้เฉพาะเงินเดือนมากกว่า 319,000 บาทต่อปี รวมถึงผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็จำเป็นต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีด้วยเหมือนกันแม้ไม่ต้องจ่ายภาษี หากไม่ยื่นจะมีโทษทางอาญาอีกด้วย
ข้อควรรู้ สำหรับการเสียภาษี 64 ของมนุษย์เงินเดือน
ในปีนี้เราสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้ลดลงจากเดิม 9,000 บาท เหลือ 5,100 บาท เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโควิด – 19 ทำให้ในปีนี้ นโยบายการเรียกเก็บเงินสมทบกองทุนประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตน ม.33 มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ จากเดิมสูงสุดที่ 750 บาทต่อเดือน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- เดือน มกราคม หัก 3% สูงสุด 450 บาท
- เดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม หัก 0.5% สูงสุด 75 บาท
- เดือน เมษายน – พฤษภาคม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการหักเงินสมทบ จึงคิดจำนวนเงินสมทบเดิมที่ 750 บาท
- เดือน มิถุนายน – พฤศจิกายน หัก 2.5% สูงสุด 375 บาท
- เดือน ธันวาคม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการหักเงินสมทบ จึงคิดจำนวนเงินสมทบเดิมที่ 750 บาท
หลักการคำนวณภาษี 64 ฉบับเข้าใจง่าย
ภาษีเงินได้ส่วนบุคคล = เงินได้สุทธิ × อัตราภาษี
โดย เงินได้สุทธิ = เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อนภาษี
ส่วนอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในบ้านเราจะคิดภาษีแบบขั้นบันไดในอัตราตั้งแต่ 5 – 35% เพิ่มขึ้นตามเงินได้สุทธิของผู้เสียภาษี นั่นหมายถึง ยิ่งเรามีเงินได้สุทธิมากก็ยิ่งต้องเสียภาษีมากขึ้นในอัตราก้าวหน้านั่นเอง
ตัวอย่าง การคำนวณภาษี
นาย A เป็นมนุษย์เงินเดือน First Jobber
มีเงินเดือนที่ 27,000 บาท
มีรายได้ทั้งปี 27,000 x 12 = 324,000 บาท
สิทธิในการลดหย่อน
หักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท
หักค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท
หักกองทุนรวมประกันสังคม 5,100 บาท
นาย A มีเงินได้สุทธิ = 324,000 (รายได้ทั้งปี) – 100,000 (สิทธิหักค่าใช้จ่าย) – 60,000 (สิทธิหักค่่าลดหย่อนส่วนบุคคล) – 5,100 (สิทธิหักกองทุนรวมประกันสังคม) = 158,900 บาท
นาย A จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 5% คิดเป็น 158,900 x 5/100 = 7,945 บาท
ยื่นภาษี 64 ที่ไหนได้บ้าง ?
เราสามารถยื่นแบบรายการภาษีได้ในช่วงเดือน มกราคม – มีนาคมของทุกปี ซึ่งไม่ได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากอย่างที่คิด โดยสามารถยื่นเองได้ผ่าน 4 ช่องทาง คือ
- สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขตในกรุงเทพมหานคร)
- สำนักงานสรรพากรอำเภอ (อำเภอในจังหวัดอื่น ๆ )
- ยื่นแบบการเสียภาษีออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของสรรพากร https://www.rd.go.th
- ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax โดยการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรก่อน จากนั้นสามารถยื่นผ่านแอปพลิเคชันได้ผ่านทางสมาร์ทโฟนทั่วไป
ทั้งนี้ แม้ภาษีเป็นสิ่งที่เราต้องเสียตามหน้าที่ของประชาชน แต่เราสามารถวางแผนจัดการภาษีให้ดีก่อนได้ ไม่ว่าจะเป็น การเลือกใช้สิทธิลดหย่อนที่เรามีให้คุ้มค่าที่สุด บางคนอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีสิทธิลดหย่อนอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิลดหย่อนส่วนบุคคลต่าง ๆ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต กองทุน SSF กองทุน RMF หรือเงินสมทบทุนบริจาคต่าง ๆ ถ้ามีการตรวจสอบเงื่อนไขและการใช้สิทธิ์ให้ดี ก็จะสามารถนำมาเป็นตัวช่วยในการเซฟเงินภาษีของเราไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว