รายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง เตรียมให้พร้อมก่อนยื่นต้นปีหน้า
เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อทำงานมีรายได้ ไม่ว่าจะงานประจำ หรืออาชีพอิสระ ก็มีหน้าที่ต้องแสดงรายได้ และยื่นภาษีให้กับทางสรรพากร แม้ว่าจะรายได้ไม่ถึงเกณฑ์การเสียภาษีก็ตาม ซึ่งหลาย ๆ คนก็ยังคงมีจุดที่สงสัย และไม่เข้าใจอยู่พอสมควรเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี วันนี้เราจึงจะมาเจาะประเด็นว่า รายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง เตรียมให้พร้อมก่อนยื่นต้นปีหน้า
ใครบ้างต้องเสียภาษี
การเสียภาษีเงินได้บุคคล จะมีเกณฑ์หลัก ๆ 3 ข้อ ได้แก่ เป็นผู้มีเงินได้ทั้งจากใน และนอกประเทศ, ต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 180 วันในรอบปี และมีเงินได้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ได้รับการละเว้นภาษี
รายได้ขั้นต่ำที่ต้องยื่นภาษี
- คนโสด: ต้องมีเงินเดือนมากกว่า หรือเท่ากัน 120,000 บาทต่อปี มีรายได้อื่นอีกมากกว่า หรือเท่ากับ 60,000 บาท
- คนที่สมรส: ต้องมีเงินเดือนมากกว่า หรือเท่ากับ 220,000 บาทต่อปี มีรายได้อื่นอีกมากกว่า หรือเท่ากับ 120,000 บาท
วิธีคำนวณภาษี
รายได้ต่อปี – (ค่าใช้จ่าย+ค่าลดหย่อน) = เงินได้สุทธิ
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
เกณฑ์กำหนดการเสียภาษีแบบขั้นบันได
รายได้สุทธิ | อัตราภาษี | ภาษีเงินได้สูงสุดในแต่ละขั้น (บาท) | ภาษีเงินได้สะสมสูงสุดในแต่ละขั้น |
ไม่เกิน 150,000 บาท | ได้รับการยกเว้นภาษี | 0 | 0 |
150,001 – 300,000 บาท | 5% | 7,500 | 7,500 |
300,001 – 500,000 บาท | 10% | 20,000 | 27,500 |
500,001 – 750,000 บาท | 15% | 37,500 | 65,000 |
750,001 – 1,000,000 บาท | 20% | 50,000 | 115,000 |
1,000,001 – 2,000,000 บาท | 25% | 250,000 | 365,000 |
2,000,001 – 5,000,000 บาท | 30% | 900,000 | 1,265,000 |
5,000,001 บาทขึ้นไป | 35% | – | – |
จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่ายิ่งรายได้มากก็ยิ่งมีเปอร์เซ็นการเสียภาษีมากตามไปด้วย ดังนั้นการลดหย่อนภาษีจึงเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด
รายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง?
ลดหย่อนส่วนตัว และครอบครัว
- ส่วนตัว 60,000 บาท
- คู่สมรส 60,000 บาท
- บุตร ไม่เกิน 3 คน คนละ 30,000 บาท
- บุตรเกิดตั้งแต่ปี 2561 ได้เพิ่ม คนละ 30,000 บาท
- บุตรบุญธรรม ไม่เกิน 3 คน คนละ 30,000 บาท
- ฝากครรภ์ และคลอดบุตร ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท
- เลี้ยงดูบิดา-มารดา ตนเอง และคู่สมรส คนละ 30,000 บาท (ไม่เกิน 120,000 บาท)
- ประกันชีวิต/ประกันชีวิตแบบบำนาญของคู่สมรส 10,000 บาท
- อุปการะผู้พิการ หรือบุคคลทุพพลภาพ 60,000 บาท
กลุ่มประกัน เงินออม การลงทุน
- เงินประกันสังคม สูงสุด 9,000 บาท
- ประกันชีวิต/ประกันสะสมทรัพย์ ไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพ/ประกันอุบัติเหตุ ไม่เกิน 25,000 บาท (เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิต/สะสมทรัพย์ รวมลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท)
- ประกันสุขภาพ บิดา-มารดา ไม่เกิน 15,000 บาท
- เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซื้อหุ้นดังกล่าวในปี 2564 เป็นต้นไป ไม่เกิน 100,000 บาท
- กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ไม่เกิน 300,000 บาท (30% ของเงินได้ที่จ่ายตามจริง)
- กองทุน RMF 30% ของเงินได้ที่จ่ายตามจริง*
- กองทุน SSF 30% ของเงินได้ที่จ่ายตามจริง*
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ไม่เกิน 500,000 บาท*
- กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ ไม่เกิน 500,000 บาท*
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไม่เกิน 30,000 บาท*
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ไม่เกิน 500,000 บาท*
*หมายเหตุ: รวมกองทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กลุ่มเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนกลุ่มอื่น
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง (ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี)
- เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 10,000 บาท
กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
- Easy E-Receipt ไม่เกิน 50,000 บาท
- เที่ยวเมืองรอง โครงการท่องเที่ยว 55 จังหวัดเมืองรอง ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 15,000 บาท
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย ลดหย่อนตามค่าใช้จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท
ยื่นภาษี 2567 ถึงวันไหน
กำหนดการยื่นภาษีของละปีจะอยู่ช่วงต้นปีถัดไป ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี โดยสามารถยื่นด้วยตนเองที่ ที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคารพาณิชย์ และที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่งทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th ซึ่งสามารถยื่นผ่านออนไลน์ได้ถึงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน
การยื่นแสดงรายได้ และการเสียภาษี แม้จะเป็นเรื่องค่อนข้างยาก และต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ แต่ก็ต้องศึกษาเอาไว้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้การยื่นแสดงรายได้ และเสียภาษีเป็นไปอย่างเรียบร้อยในทุกปี ซึ่งหากว่ายื่นรายได้ขาด ก็อาจทำให้ถูกเรียกเก็บย้อนหลัง รวมถึงอาจมีค่าปรับเพิ่มมาด้วย ดังนั้นควรวางแผนการยื่นไว้แต่เนิ่น ๆ ไม่ว่ารายได้จะถึงเกณฑ์การเสียภาษีหรือไม่ เพราะจะไม่คุ้มเลยหากถูกตรวจสอบย้อนหลัง