เมื่อพูดถึงการจัดการมรดก หลายท่านอาจคิดไปว่า เป็นเรื่องของผู้สูงวัยเท่านั้น จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องของเราทุกคน นะคะ จากที่เห็นกันอยู่บ่อย ๆ ตามสื่อ จะเห็นว่าเรื่องอุบัติเหตุ หรือโรคภัยไข้เจ็บ ที่รุนแรงถึงชีวิต เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ก็คงจะดีกว่าหากเรามีการจัดการทรัพย์สินเตรียมพร้อมไว้ให้ดีก่อน นอกจากนี้ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของผู้ให้หรือผู้รับมรดก ก็ควรต้องศึกษาเรื่องนี้ไว้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายภาคหน้า อย่าลืมว่าเรื่องพวกนี้ เป็นเรื่องภายในครอบครัว หากเมื่อใดที่เกิดปัญหาแล้ว นอกจากอาจจะต้องสูญเสียทรัพย์สินแล้ว ยังอาจจะต้องสูญเสียความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัวอีกด้วย
และข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ในทุกวันนี้ก็คือ คดีความที่ขึ้นศาลมากเป็นอันดับต้น ๆ คือเรื่องของมรดกนี่เอง และไม่ได้จำกัดเฉพาะในครอบครัวที่ร่ำรวยเท่านั้น นั่นสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องการจัดการมรดก เป็นปัญหาที่หลาย ๆ คนมองข้าม อาจด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือมองว่าเป็นเรื่องของผู้สูงวัย ตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านั่นเอง
การจัดการมรดก จริงๆแล้ว มันก็คือการจัดการทรัพย์สินนั่นเอง เพียงแต่เป็นการจัดการในขณะที่เจ้าของทรัพย์สินได้จากโลกนี้ไปแล้ว โดยสามารถทำได้ 2 แบบคือ
-
ปล่อยให้เป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมาย
โดยปกติ ในการส่งมอบทรัพ์สินหลังจากเสียชีวิต หากไม่มีการทำพินัยกรรม ทรัพย์สินต่าง ๆ จะตกทอดสู่ทายาทโดยธรรมตามลำดับขั้นดังนี้
- ลำดับที่ 1 : ผู้สืบสันดาน (บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย, บุตรบุญธรรม)
- ลำดับที่ 2 : บุพการี
- ลำดับที่ 3 : พี่น้องที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกัน
- ลำดับที่ 4 : พี่น้องที่เกิดจากบิดาหรือมารดาเดียวกัน
- ลำดับที่ 5 : ปู่, ย่า, ตา, ยาย
- ลำดับที่ 6 : ลุง, ป้า, น้า, อา
โดยมีหลักการคือ ญาติสนิทพิชิตญาติห่าง ความหมายคือ หากมีทายาทที่อยู่ในลำดับต้น ๆ มีชีวิตอยู่ ทายาทลำดับต้น ๆ นั้น ก็จะได้รับมรดกไป ส่วนทายาทในลำดับถัดไป ก็จะไม่ได้รับอะไรเลย เช่น นาย A มี ลูก, พี่ชายที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน และ คุณปู่ ต่อมานาย A เสียชีวิต ผู้ที่จะได้รับมรดกทั้งหมดจะเป็นลูก เนื่องจากลูกเป็นทายาทลำดับที่ 1 ซึ่งเป็นลำดับที่มาก่อน พี่ชาย(ทายาทลำดับที่ 3) และ คุณปู่(ทายาทลำดับที่ 5) เป็นต้น
** ยกเว้นหากมีทายาท ลำดับ 1 และ ลำดับ 2 มีชีวิตอยู่ทั้งคู่ ลำดับ 1 จะไม่ตัด ลำดับ 2 กล่าวคือ ทายาทลำดับที่ 1 และ 2 จะได้มรดกไปในสัดส่วนเท่า ๆ กัน
แล้วปัญหาคืออะไร
- บางท่านรู้ความต้องการอยู่แล้วว่าต้องการยกอะไรให้ใคร หากไม่ทำพินัยกรรม สินทรัพย์อาจไม่ได้ตกไปเป็นของคนที่ต้องการจะให้จริง ๆ
- อาจเกิดปัญหาในการจัดการทรัพย์สินบางประเภท เช่น จากกรณีตัวอย่างของนาย A หากนาย A มีทรัพย์สินประเภท หุ้นของบริษัท ซึ่งเมื่อตกไปเป็นของลูก ลูกอาจจะยังไม่มีความรู้ไม่สามารถจัดการดูแลต่อไปได้ เป็นต้น
- ลูกหลานอาจไม่ทราบว่าเรามีทรัพย์สินอะไรและอยู่ที่ไหนบ้าง ทำให้ทรัพย์สินบางอย่างอาจตกหล่นไปเป็นของคนอื่น
-
จัดทำพินัยกรรม
หลายคนไม่อยากทำพินัยกรรมเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แต่ในความเป็นจริง การทำพินัยกรรม ไม่ได้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนขนาดนั้น โดยวิธีการจัดทำสามารถทำได้หลายแบบ เช่น การพิมพ์, การเขียนเอง, หรือหากกลัวว่าจะไม่ครบถ้วนก็ไปทำที่เขตหรืออำเภอ เป็นต้น แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละท่าน ทั้งนี้สามารถดูข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมได้ที่ http://www.vcharkarn.com/blog/39713
ข้อดีของการทำพินัยกรรมสามารถแบ่งเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
- มรดกจะตกไปเป็นของคนที่เจ้ามรดกต้องการอย่างแท้จริง
- ทรัพย์สินจะตกไปสู่ผู้รับที่ได้ผ่านการประเมินเบื้องต้นแล้วว่า สามารถจัดการดูแลทรัพย์สินนั้น ๆ ต่อไปได้
- ไม่มีใครจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของเราได้ดีกว่าตัวเราเอง ดังนั้น จะทำให้ลดปัญหาทรัพย์สินบางอย่างตกหล่นสูญหาย
- การแก้ไขพินัยกรรมสามารถทำได้ตลอดเวลา วันนี้ทำไว้ก่อน ต่อมาเปลี่ยนใจอยากเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ก็กลับไปแก้ได้ไม่ได้มีความยุ่งยากอะไร
- เป็นการ update สินทรัพย์ของเราอยู่เสมอ ผ่านการรวบรวมสินทรัพย์เพื่อการทำพินัยกรรม
เป็นไงบ้างคะ ดูๆ แล้ว ทำพินัยกรรมไว้ก็ไม่ได้เสียหายอะไรใช่มั้ยคะ ไม่ได้ยุ่งยาก ทำไว้ก่อนดีกว่า ภายหลังอยากจะเปลี่ยนอะไรก็ทำได้ เพื่อความสบายใจทั้งตอนอยู่ และตอนจากไปค่ะ
… แล้วมา “เอนหลังฟังเรื่องเงิน” ในตอนถัดไปกันนะคะ