ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ปี 2559 มาพร้อมคำถามคาใจที่ว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อย้อนดูเศรษฐกิจในปี 2558 ผลพวงจากระบบเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว การลงทุนที่ซบเซา ผลพวงจากปัญหาภัยแล้งที่ยาวนาน ส่งผลให้สินค้าเกษตรตกต่ำและมีผลต่อกำลังซื้อของเกษตรกร ยังไม่นับที่สหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางการค้าและแบนสินค้าประมงของไทยเป็นระยะเวลานานกว่า 6 เดือน ตบท้ายด้วยการลดการนำเข้าของประเทศจีน เหตุผลทุกอย่างที่ได้กล่าวมาทำให้ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ทุลักทุเลพอตัวเลยทีเดียว จึงไม่แปลกที่ทุกคนต่างหวังให้ปีนี้เป็นปีที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็รู้ว่า สถานการณ์จะเป็นยังไงต่อไป เพื่อสามารถเตรียมตัวรับมือได้อย่างถูกต้อง
ในช่วงปลายปี 2558 มีหลายสำนักออกมาคาดการณ์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเริ่มจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ที่ออกมาชี้ว่า เศรษฐกิจไทย 2559 มีโอกาสเติบโตขึ้นร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นควบคู่ไปกับการส่งออกค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ
สอดคล้องกับผลการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทยกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวมากขึ้นได้ถึงร้อยละ 2.5-3.5 และ ร้อยละ 3-4 ตามลำดับ โดยเป็นผลพวงมาจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปี โดยมีการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจนแตะ 36.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลดีต่อการแข่งขันในตลาดการส่งออก
ในส่วนของภาคเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยเองก็จะได้รับการเกื้อหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะที่ 3 ซึ่งได้รับการสานต่อนโยบายให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 และ 2 มาตรการดังกล่าวจะเข้ามาปรับประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ ปรับรายได้ให้เกษตรกรมีรายได้อย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยปัจจัยที่มีความสำคัญ คือ เรื่องของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่มีการใช้กรอบงบประมาณของปี 2559 มูลค่าประมาณ 3.9 แสนล้านบาท
เมื่อเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น ภาพรวมของการเงินและการธนาคารก็จะมีการขยายตัวขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่า สินเชื่อและเงินฝากสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.1 และ 6.8 ตามลำดับ เพราะสินเชื่อจะถูกขับเคลื่อนโดยภาคธุรกิจ ทั้งกลุ่มธุรกิจรายย่อยและกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงหนุนจากนโยบายของภาครัฐ เช่น อุตสาหกรรมการก่อสร้าง เป็นต้น
การขยายตัวของสินเชื่อพร้อมกับการปรับลดเพดานคุ้มครองเงินฝากตามนโยบายของรัฐบาล ที่ระบุว่า ให้เหลือเพดานเพียง 1 ล้านบาท ภายในเดือนสิ่งหาคมถึง ทำให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์จำต้องสร้างฐานเงินฝากเพิ่มขึ้น ยิ่งอยู่ในสภาวะที่มีการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกขณะเช่นนี้ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อส่งผลให้มีการฝากเงินมากยิ่งขึ้น
หลังจากทางด้านกลุ่มวิชาการออกมาคาดเดาถึงผลดีต่าง ๆ นา ๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ แต่ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า มีกระแสของทิศทางเศรษฐกิจที่ไปในทิศทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจของประเทศไทยที่ซบเซามานาน ทำให้มีความเข้าใจและความกลัวอยู่ลึก ๆ ว่า ปีนี้ก็จะเป็นอีกปีที่ระบบเศรษฐกิจไทยยังน่าเป็นห่วง ยังเป็นช่วงเวลาที่ต้องล้มลุกคลุกคลานหาทางออกกันต่อไป
กระแสด้านลบที่อ้างอิงถึงโครงสร้างสำคัญของเศรษฐกิจไทยในแต่ละส่วน ที่มีการเชื่อมโยงกันระหว่างกันทั้งหมด ไม่ว่า จะเป็น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการนำเข้า-ส่งออก อุตสาหกรรมพลังงาน และการบริโภคภายในประเทศ เป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องถึงการเมืองการปกครองภายในประเทศและภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่คงที่ ซึ่งเป็นสภาวะที่เปราะบางยากแก่การระบุว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจจะดีมากยิ่งขึ้น
ความน่ากังวลประเด็นหนึ่งที่ต้องระมัดระวังคือ ควรตระหนักรู้ถึงความเป็นไปของเศรษฐกิจ เพราะประชาชนและผู้ประกอบการไม่ค่อยตระหนักถึงความเปราะบางของสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นเรื่องง่ายเปรียบเทียบได้ว่า เศรษฐกิจของไทยเรากำลังย่ำแย่ แต่หลังจากนี้จะไม่มีการทรุดหนักลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นที่ผ่านมาอีกแล้ว เมื่อสังเกตได้ยากว่า เศรษฐกิจกำลังแย่ลงหรือกำลังทรงตัว อาจทำให้เมื่อรู้ตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว
สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากการเติบโตขึ้นทางเศรษฐกิจ ยังควรพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อด้วย ในความเป็นจริงแล้วถึงแม้ว่า เศรษฐกิจจะมีการเติบโตขึ้นแต่เมื่ออัตราเงินเฟ้อยังติดลบ การเติบโตที่แท้จริงก็อาจน้อยนิดจนไม่สามารถประคับประครองเศรษฐกิจขึ้นได้เลย ตัวอย่างเช่น หากมีการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 3 แต่เงินเฟ้อติดลบร้อยละ 1 เมื่อนำมาหักลบกันแล้ว การเติบโตจะเหลือเพียงแค่ร้อยละ 1 กว่า ๆ เท่านั้น เช่นเดียวกันการนำเข้าที่ติดลบ ก็จะทำให้ภาพของจีดีพีดูสูงขึ้นได้ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วกลับลดลง
ในภาพรวมทั้งหมดของการวิเคราะห์และคาดการณ์ต่าง ๆ อาจมองในเบื้องต้นได้ว่า เศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเกื้อหนุนและนโยบายของภาครัฐ แต่อย่างไรก็ตามต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในสภาพที่เหมือนกับแขวนอยู่บนเส้นด้าย มีความไม่แน่นอนอยู่มาก หากเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์และตัวแปรด้านเศรษฐกิจโลกเข้ามากระทบ แนวโน้มที่เหมือนจะดีก็สามารถพลิกล้มได้ไม่เป็นท่า สิ่งที่สามารถทำได้ ณ ขณะนี้ คือการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คอยดูทิศทางลมและตั้งท่าคอยรับสิ่งเกิดขึ้น