อัตราแลกเปลี่ยนประจำวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 เงินดอลลาร์สหรัฐ รับซื้อที่ 33.80 บาท ขายออกที่ 35.32 บาท ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 40.88 บาท เงินหยวนของจีนอยู่ที่ 5.60 บาท เงินเยนของญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.34080 บาท ในขณะที่เงินปอนด์อยู่ที่ 51.73 บาท
หากเปรียบเทียบกับช่วงปลายปี 2558 ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐถือว่าแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 เงินดอลลาร์สหรัฐในขณะนั้นรับซื้อที่ 34.86 บาท และขายออกที่ 36.35 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมเฟดในเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่มีสัญญาณว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนเลยยังไม่รีบร้อนในการถือเงินดอลลาร์ในขณะนี้ ดังนั้นเลยเป็นผลให้เงินสกุลที่ถือเป็นสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวแข็งค่าขึ้น ในบ้านเราก็จะสังเกตได้จากเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศไทยมากขึ้นมากในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เฟดยังได้ลดการปรับขึ้นดอกเบี้ยจากที่จะปรับ 4 ครั้งในปีนี้ เหลือแค่เพียง 2 ครั้งเท่านั้น ถือเป็นการปรับดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้กระทบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังถือว่าอยู่ในช่วงชะลอตัวอยู่ไม่ให้ถดถอยไปมากกว่านี้ รวมถึงเศรษฐกิจของหลายประเทศก็ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่
ในส่วนของค่าเงินหยวนปัจจุบันถือว่ายังทรงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเมื่อตอนปลายปี 2558 เนื่องจากธนาคารกลางของจีนได้มีการแทรกแซงเป็นระยะเพื่อให้ค่าเงินหยวนอยู่ในระดับที่เหมาะสมและใกล้เคียงกันระหว่างตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราในประเทศและต่างประเทศ ส่วนเงินเยนของญี่ปุ่นถือว่าอ่อนตัวลงหลังจากที่แข็งค่าขึ้นมาตลอดจนถึงจุดสูงสุดที่ 18 เดือน โดยตลาดเงินญี่ปุ่นได้ปิดทำการในวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมาเนื่องในวันที่ระลึกรัฐธรรมนูญและจะเปิดทำการในวันศุกร์
ส่วนเงินยูโรถือว่าอ่อนตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปลายปี 2558 เนื่องจากประธานเฟดสาขา 2 ท่านได้ออกมาให้ความเห็นว่ายังมีโอกาสที่ในเดือนมิถุนายน 2559 จะมีการประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ส่วนยูโรโซนเองก็ได้ประกาศปรับประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจและเงินเฟ้อลดลงทั้งในปี 2016 และ 2017 ซึ่งเป็นการชี้ว่าเศรษฐกิจในประเทศยุโรปยังไม่สามารถฟื้นตัวได้
ผลจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็ยังคงมีผลลบต่อเนื่องกับภาคการส่งออกของไทย ที่ถือว่าเป็นการซ้ำเติมจากตัวเลขภาคการส่งออกเองที่ก็ไม่ดี แม้ในไตรมาสแรกจะทำได้ดีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ก็ตาม แต่หลายสำนักก็ออกมาคาดการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้ยังคงเป็นติดลบ เนื่องจากผลของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของหลายประเทศในโลก ประเทศจีนเองก็มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศทำให้นำเข้าสินค้าจากไทยน้อยลง ภาคการส่งออกของไทยเองก็ยังเน้นในเรื่องของการเกษตรและสินค้าที่เทคโนโลยีต่ำ ทำให้ยังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้
แนวโน้มค่าเงินบาท ในระยะสั้นสัปดาห์หน้า ช่วงวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2559 น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.80-35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยยังต้องเฝ้าติดตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ต่อไปว่าหลังจากการประกาศตัวเลขการจ้างงานแล้วจะคงอัตราดอกเบี้ยหรือจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ของสหรัฐฯ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต สินค้าคงคลังของภาคธุรกิจ ยอดค้าปลีก ที่จะทยอยประกาศเพิ่มเติมหลังจากนี้ และยังมีข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศจีน เช่น ภาคการผลิต เงินเฟ้อ ยอดรวมสินเชื่อ และยอดค้าปลีกด้วย ที่สำคัญในช่วงกลางสัปดาห์จะมีความสนใจพุ่งไปที่ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ที่ก็จะมีผลกับอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินบาท โดยนักวิชาการอิสระได้ออกมาให้ความเห็นว่า ทาง กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายไว้ที่ 1.5% เท่าเดิม เนื่องจากเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ถือว่าต่ำแล้ว
แนวโน้มค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 ยังมีโอกาสอ่อนตัวลงได้บ้าง เนื่องจากเป็นช่วงของการจ่ายเงินปันผลของตลาดหุ้น โดยยอดของการจ่ายเงินปันผลรวมให้นักลงทุนต่างชาติของทั้งเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมซึ่งถือเป็นช่วงเทศกาลปันผล มีจำนวนสูงถึง 9.85 หมื่นล้านบาท และเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะนำเงินก้อนนี้กลับไปยังประเทศของตน
ก่อนหน้านี้ที่เฟดได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงการดำเนินนโยบายทางการเงินกลับสู่รูปแบบปกติ และก็มีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยอาจปรับขึ้นอีก 1-2 ครั้ง ในปีนี้ ผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดก็จะส่งผลให้เงินทุนมีการไหลออกไปจากประเทศไทยเพื่อกลับไปลงทุนในประเทศสหรัฐ การไหลออกของเงินทุนก็จะเป็นตัวกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดยทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ออกมาประเมินว่า อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐในปี 2559 นี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5-1% โดยเชื่อว่าการไหลออกของเงินทุนจะไม่เป็นไปอย่างเฉียบพลันเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มีความแข็งแกร่งขึ้น และการถือครองทรัพย์สินของนักลงทุนต่างชาติส่วนมากก็เป็นในตราสารหนี้ระยะสั้นซึ่งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในเชิงนโยบายของเฟดมีผลน้อยที่จะเคลื่อนย้ายเงินทุน