ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยภาพรวมเศรษฐกิจของไทย ในเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมาว่ายังมีการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า หลัก ๆ เป็นเพราะภาคการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องช่วยหนุนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยให้ดีขึ้นได้ สายการบินโลว์คอสต่าง ๆ พากันขยายเส้นทางบินทำให้ได้นักท่องเที่ยวจากประเทศใหม่ ๆ เช่น เยอรมันและรัสเซียเพิ่มมากขึ้น
สำหรับภาคครัวเรือนและภาคเกษตรจากตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงช่วงกลางปี ถือว่ากำลังซื้อค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากยางพาราที่มีราคาปรับตัวดีขึ้นจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา จากความต้องการใช้ยางพาราที่เพิ่มขึ้นในประเทศรวมถึงเศรษฐกิจจีนที่กระเตื้องขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ที่ผ่านมาด้วย ทำให้เกษตรกรมีกำลังซื้อมากขึ้นโดยเฉพาะเกษตรกรในภาคใต้ ก่อนหน้านี้ที่มีความกังวลในเรื่องพืชผลการเกษตรจากภาวะภัยแล้ง สถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น คาดว่าปริมาณผลผลิตในภาคเกษตรจะกลับมาเป็นปกติในไม่ช้าซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อกำลังซื้อของเกษตรกรด้วย
อีกรายงานที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ก็คือ ตัวเลขรายได้ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากที่ก่อนหน้านี้หดตัวต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 การขยายตัวในเดือนพฤษภาคม 2559 เกิดจากผลไม้ไทยที่ส่งไปขายในจีนและอาเซียน ทั้งทุเรียนและมะม่วง หลายฝ่ายเชื่อว่าจุดต่ำสุดของรายได้ภาคเกษตรน่าจะกำลังผ่านไปแล้วและกำลังค่อย ๆ ดีขึ้น
ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่รงเป็นสินค้าคงทนก็ถือว่าปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากค่ายรถยนต์มีการโปรโมทมีการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ด้วย ทำให้ภาพรวมของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนกลับมาขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.8 ในส่วนของภาคการส่งออกก็ยังถือว่าหดตัวอยู่ แต่มีสัญญาณที่ดีคือหดตัวลดลง รายงานตัวเลขส่งออกในเดือนพฤษภาคมยังคงหดตัวร้อยละ 5.6 ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นไปแบบเปราะบางไม่แข็งแกร่ง ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้เช่นกัน ทาง กนง. เชื่อว่าปัจจัยบวกต่าง ๆ จะสามารถพยุงเศรษฐกิจไทยให้ยังสามารถขยายตัวได้อยู่ จึงยังคงตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ จีพีดี ของไทยทั้งปีไว้ที่ 3.1%
ตลาดหุ้นไทยที่มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ก็มีอันต้องมาสะดุดลงพักฐานจากผลของการลงประชามติของอังกฤษที่จะออกจากการเป็นสมาชิกของอียู ความไม่แน่นอนนี้ทำให้มีผลกับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มพลังงานที่อาจมีการถูกเทขาย แต่อย่างไรก็ตามผลที่เกิดขึ้นไม่มากนักเนื่องจากยังคงมี Fund Flow ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง เน้นให้นักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นที่ได้รับปัจจัยบวกในประเทศ รวมถึงมีการคาดการณ์ผลประกอบการที่ดีในไตรมาสที่ 2 เป็นหลัก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ได้ออกมาบอกถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีผลกับเศรษฐกิจไทยด้วยว่ามีให้เห็นอยู่เหมือนกัน ดูจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปัจจุบันอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อราคาน้ำมันมีราคาสูงขึ้นก็จะมีผลกับราคาสินค้าอื่น ๆ สูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนทองคำแทบจะไม่พูดถึงไม่ได้ เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 นี้ ราคาทองคำไปค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนมาปรับตัวขึ้นสูงสุดในช่วงที่มีเหตุการณ์ Brexit นี้ ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงกว่า 1,300 เหรียญต่อออนซ์
สำหรับผลกระทบจากกรณีที่อังกฤษลงมติแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกของอียู นายธนวรรธน์ ได้ประเมินผลกระทบไว้ว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยไม่มากนักประมาณ 0.32% ของ GDP โดยผลกระทบหลัก ๆ จะเป็นในเรื่องการส่งออกสินค้า ด้านการท่องเที่ยงและการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง สินค้าส่งออกจากไทยไปอียูที่จะมีผลกระทบโดยตรงก็เป็นรถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป รวมถึงเครื่องประดับและอัญมณีต่าง ๆ แต่ผลกระทบจากการส่งออกมีไม่มากนักเนื่องจากสินค้าที่ไทยส่งออกไปอียูโดยตรงคิดเป็นมูลค่าเพียง 2% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของประเทศ
อ่านเพิ่มเติม : ผลกระทบของ Brexit ที่มีต่อประเทศไทย
ในด้านการท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน แม้ผลกระทบจาก Brexit จะมีผลต่อค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษจะรู้สึกว่าการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นแพงขึ้น แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากอังกฤษเทียบกับนักท่องเที่ยวรวมคิดเป็นเพียง 3.2% เท่านั้น ผลกระทบต่าง ๆ เหล่านี้จะมากน้อยหรือยาวนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่อังกฤษจะเจรจากับอียูเพื่อออกจากการเป็นสมาชิก มีการคาดการณ์กันว่าอาจใช้เวลาในการเจรจากว่า 2 ปี ดังนั้น ผลจากความไม่แน่นอนในเรื่องนี้ก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป
สำหรับการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจตลอดทั้งปี ทาง กนง. ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยตลอดปีไว้ที่ 3.1% โดยเชื่อว่าการบริโภคภายในประเทศ การใช้จ่ายของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่องรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวจะช่วยชดเชยภาคการส่งออกได้ ส่วนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อก็ประมาณการไว้ใกล้เคียงเดิมคือที่ 0.6% แม้เศรษฐกิจจะมีการขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมแต่การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อน่าจะใกล้เคียงกับประมาณการเดิมได้ สำหรับนโยบายทางการเงินที่ประชุม กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% การที่คงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่องนี้ก็เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายอย่างด้วยกัน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางผลของ Brexit การลงประชามติของอังกฤษในการออกจากการเป็นสมาชิกอียูและภาคการเงินของจีนยังถือว่ามีความเสี่ยงและไม่แน่นอนอยู่มาก
ปัจจัยที่ไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลกไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฟื้นตัวอย่างไม่มั่นคงของเศรษฐกิจโลก เรื่อง Brexit และการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงต้องขับเคลื่อนและขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนและการใช้จ่ายจากภาครัฐในโครงการใหญ่ ๆ อย่างการสร้างรถไฟฟ้า การสร้างรถไฟ เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการผลักดันโครงการใหญ่ ๆ ให้เริ่มดำเนินงาน ปัจจัยเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีด้วย
อ้างอิง