ASEAN Economic Community( AEC) คือการรวมในด้านเศรษฐกิจของ 10 ประเทศในเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก และยังเป็นการเปิดการค้าเสรีในด้านการค้า การบริการ มีความเสรีในด้านแรงงานและเปิดกว้างในการลงทุน โดยจะเกิดขึ้นในปี 2558 นี้ จึงไม่แปลกใจที่จะมีนักลงทุนต่างประเทศจับตามองอยู่ เพื่อที่จะเข้ามาลงทุนในด้านตลาดเงิน ตลาดทุน ที่จะมีความเป็นเสรีมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้แนวโน้มการเงินของไทยเราหลัง เปิด AEC มีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นด้วย เพราะประเทศไทยของเราก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เหมาะกับการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติมากทีเดียว
จึงทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดเสรีการเงิน การก่อสร้างถนนหนทาง สาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับ “ประชาคมอาเซียน”ที่กำลังจะเกิดขึ้น สำหรับด้านการเงินอาเซียนได้ตั้งหลักใหญ่ๆไว้ 4 ด้านด้วยกัน คือ
1. ระบบการชำระเงินของประเทศในอาเซียนต้องเชื่อมต่อกันได้
โดยต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน สามารถกดเอทีเอ็มร่วมกันได้ ซึ่งในอนาคตประเทศไทยของเราก็กำลังเตรียมร่วมมือดำเนินการกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เป้าหมายนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีในเร็วๆ นี้นั่นเอง
2. เงินทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี
ลดมาตรการ กฎระเบียบ ที่ขัดขวางการเคลื่อนย้ายเงินทุน แต่ก็จะมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งในตอนแรกนี้อาจจะเป็นการเคลื่อนย้ายทุนในรูปแบบของเงินดอลลาร์สหรัฐก่อน โดยยังไม่แตะเงินสกุลท้องถิ่นของแต่ละประเทศ และยังไม่มีการรวมเงินแต่ละประเทศเป็นเงินสกุลเดียวกัน เพราะประเทศในอาเซียนยังคงมีความแตกต่างกันมากเกินไป และยังมีนโยบายทางด้านการคลังที่ไม่เหมือนกัน แต่อาจใช้ระบบการอิงค่าเงินกัน อาจใช้สกุลเงินของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นหลัก แล้วใช้สกุลเงินอื่นอิง
3. ธนาคาร สถาบันการเงินเชื่อมต่อกัน
โดยอาจยกระดับเป็นธนาคารกลางอาเซียน ซึ่งจะสามารถทำธุรกรรมการเงินได้เสรีในทุกประเทศ ประเทศไทยสามารถไปเปิดธนาคารได้ในต่างประเทศ และต่างประเทศก็สามารถเข้าเปิดในประเทศเราได้เช่นกัน ซึ่งก็อาจจะเกิดการแข่งขันในด้านการบริการได้ จึงอาจเป็นผลดีต่อประชาชน แต่ก็ต้องศึกษาให้ดีก่อนเช่นกัน ซึ่งทั้งนี้การดำเนินการในรูปแบบนี้จะทำให้การเงินของไทยเราดีขึ้นมา จากที่ปีนี้ประเทศไทยเราต้องเจอกับพายุเศรษฐกิจที่ถดถอย รายได้ในประเทศลดต่ำลง หากได้ใช้มาตรการการเงินในระบบของ AEC ก็มีแนวโน้มที่การเงินไทยจะดีขึ้นมากเช่นกัน
4. การเปิดเสรีในด้านตลาดทุน
ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในรูปแบบต่างๆกันประมาณ 4 รูปแบบด้วยกันคือ
- แบบแรก การให้บริการในรูปแบบสาขา เช่น ธนาคารกรุงเทพไปเปิดสาขาที่อินโดนีเซีย เป็นต้น
- แบบที่สอง เป็นการจับมือกับธนาคารท้องถิ่นในรูปแบบพันธมิตรกัน เช่น ธนาคารกสิกรไทยร่วมเป็นพันธมิตรกับเวียตตินแบงก์ ของเวียดนาม เป็นต้น
- แบบที่สาม คือการเข้าไปซื้อกิจการของธนาคารท้องถิ่น ซึ่งแบบนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ทำ แต่มีของมาเลเซียเข้าไปเทคโอเวอร์ธนาคารในอินโดนีเซีย เป็นต้น
- แบบที่สี่ คือการรวมสามรูปแบบข้างต้นเอาไว้ด้วยกัน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เข้าไปตั้งสาขาในสิงคโปร์ และได้เป็นพันธมิตรกับธนาคารในเวียดนาม เป็นต้น
ทั้งนี้การแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราในอาเซียนโดยตรงอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงกว่าปัจจุบัน เพราะปัจจุบันการแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว เงินบาทของเราน่าจะมีความต้องการในเขตชายแดนมากขึ้น เพราะปัจจุบัน การค้าขายในเขตชายแดนที่เชื่อมต่อกันกับไทย ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา พม่า ลาว ซึ่งประเทศพวกนี้ก็รับเงินบาทควบคู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีการ เปิด AEC ความต้องการเงินบาทเป็นตัวกลางในการซื้อขายก็น่าจะมากขึ้นไปด้วย
ถึงแม้ว่าในขณะนี้สกุลเงินบาทของไทยจะไม่ใช่สกุลเงินหลักในตลาดการซื้อขายของอาเซียน แต่น่าจะเป็นไปได้ว่าบทบาทของค่าเงินบาทไทยในอนาคตจะมีการผ่อนปรนด้านข้อจำกัดการนำเงินธนบัตรหรือเงินสดเข้าไปใช้ข้ามแดนในประเทศข้างเคียงมากขึ้น โดยจากเดิมให้นำข้ามแดนได้ไม่เกิน 500,000 บาทเท่านั้น
ในด้านการผลิตธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น แต่เดิมจะผลิตมากขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจไทยที่กระเตื้องขึ้น แต่เมื่อมีการรวมตัวอาเซียนแล้ว อาจต้องมีการพิจารณาภาพโดยรวมของอาเซียนเพิ่มขึ้นเข้าไปอีกปัจจัยหนึ่ง แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องรอศึกษาไปก่อน และเรามั่นใจว่าในอนาคตแนวโน้มทางการเงินของไทยเราจะต้องรุ่งขึ้นอย่างแน่นอน
อ่านเพิ่มเติม >> คิดดีหรือยัง ก่อนลงทุนตาม กระแส AEC <<
ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ในปี 2558 อาจจะเป็นแค่เพียงการเริ่มต้นของอาเซียนเท่านั้น สิ่งที่คิดและกำหนดไว้คงต้องมีการอาศัยระยะเวลาศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีในด้านการเงิน การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนอย่างเต็มรูปแบบ อาจจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ อาจต้องรอความพร้อมของไทยให้มากกว่านี้ เพราะยังมีเวลาเหลือให้จัดการทางด้านการเงินได้ถึงปี 2563 และแนวโน้มทางการเงินในระบบ AEC นี้ก็มีแนวโน้มที่พุ่งสูงมากทีเดียว