หากย้อนกลับไปครั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ภาวะ เศรษฐกิจการเงินไทย จะไม่มีความผันผวนสูง เนื่องจากการนำเข้าและส่งออกมีปริมาณจำกัด แต่เมื่อเริ่มเปลี่ยนแปลงเน้นด้านอุตสาหกรรมและส่งเสริมการส่งออกมากขึ้น มีการนำเข้าปัจจัยการผลิต และสินค้า ส่งเสริมการตั้งฐานการผลิตโรงงานอุตสาหกรรมของต่างชาติ กำหนดนโยบายเพิ่มสิทธิพิเศษทางภาษีแก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน สร้างความแข็งแกร่งทางการค้า การลงทุนให้สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ เศรษฐกิจการเงิน ของประเทศไทยอิงกับการเคลื่อนไหวทางการค้า การลงทุน การผลิตสินค้าและบริการ การเปลี่ยนแปลงค่าเงิน นโยบายต่าง ๆ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมหาอำนาจที่มีผลต่อกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลก และนั่นทำให้เศรษฐกิจทางการเงินของไทยมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา
เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์เศรษฐกิจ ปี 2540 เป็นวิกฤตของค่าเงินบาทที่ร้ายแรงที่สุด
เนื่องมาจากช่วงปี 2530-2538 เศรษฐกิจประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมาก GDP โดยเฉลี่ยประมาณ 5-10% และ อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยประมาณ 5-6% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจทุกด้านขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านการเงินการธนาคาร การก่อสร้าง การลงทุน การค้าอุตสาหกรรม และการเปิดเสรีทางการเงินระหว่างประเทศทำให้มีการเคลื่อนย้ายทุนได้อย่างเสรีทั้งเงินกู้ และการลงทุน ซึ่งทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากและใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแม้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภครวมถึงราคาอสังหาริมทรัพย์จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม
ยังผลต่อเนื่องถึงภาคการเงินการธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อแบบผ่อนคลายให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ซื้อในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากเงินภายนอกประเทศที่ไหลเข้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศไทยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ เช่น ประเทศแถบยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น และยังเป็นโอกาสในการขยายการลงทุนของภาคเอกชน และนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากความต้องการในประเทศที่เพิ่มสูง โดยการแสวงหาแหล่งเงินกู้ที่มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำอย่างต่างประเทศ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคส่วนอื่น ๆ ประกอบกับนโยบายการเงินของประเทศไทยที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่โดยการผูกค่าเงินบาทกับค่าเงินสกุลอื่น แม้ว่าปัจจัยอื่นจะมีผลให้ค่าเงินที่แท้จริงเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยถึงจุดวิกฤตฟองสบู่ในช่วงปี 2539 เกิดปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากการส่งออกลดลง ตลาดหุ้นชะลอตัว เกิดภาวะอุปทานอสังหาริมทรัพย์ล้นตลาด ราคาอสังหาริมทรัพย์ตก ท่ามกลางปัญหาหนี้ NPL ของภาคการเงินการธนาคาร และภาระหนี้ของภาคเอกชนที่สูงขึ้น ทำให้รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาท ในปี 2540 เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้น ช่วยเหลือสถาบันการเงิน เพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน และภาคเอกชนในการส่งออกอย่างไรก็ดีได้ส่งผลกระทบต่อผู้กู้ทั้งหลายในตลาดการเงินต่างประเทศ
จวบจนถึงปี 2558 เศรษฐกิจการเงินประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางสวนทางกับปี 2530-2538
คือ อัตราเงินเฟ้อลดต่ำลงจนถึงระดับติดลบ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงเหลือประมาณ 1-2% สาเหตุมาจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศเป็นสำคัญที่ยังผลต่อเศรษฐกิจไทย แม้ว่าปัจจัยภายในประเทศด้านการเงิน การเมืองและการก่อเหตุร้ายจะมีผลอยู่บ้าง โดยปัจจัยภายนอกประเทศทั้งในส่วนของเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ที่ตกต่ำ อัตราการว่างงานสูง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง การนำเข้าต่ำลง เนื่องจากอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการของคนภายในประเทศลดลง และความกดดันด้านการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลต่อค่าเงินในประเทศต่าง ๆ รวมถึงราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ยังผลต่อเศรษฐกิจประเทศไทยโดยตรง นั่นคือ อัตราเงินเฟ้อของไทยลดต่ำลงตามการปรับลดลงของราคาน้ำมัน การส่งออกชะลอตัวตามความต้องการบริโภคที่ลดลง ทำให้การลงทุนภายในประเทศลดลง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่ำลง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุน ลดต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชน เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งผลที่ได้ก็ไม่ได้การส่งออกเพิ่มขึ้นมากนัก ในส่วนการใช้จ่ายของภาคประชาชนก็ยังคงต่ำเช่นเดิมแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงเพราะสถาบันการเงินก็มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อสูงขึ้นตามปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังปรับตัวขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจการเงินของประเทศในปี 2558 ยังชะลอตัวลง
สำหรับเศรษฐกิจการเงินปี 2559
หลายสถาบัน เช่น ภาคเอกชนอย่าง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ,ภาคการศึกษาอย่างศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ภาครัฐอย่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงนักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินหลายสำนัก ต่างคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจการเงินจะมีแนวโน้มการเติบโตดีขึ้น มี GDP ประมาณ 2.5-4.0% และอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเป็นบวก จากปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาลผ่านโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งในส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง และนโยบายสนับสนุนเงินกู้เพื่อการลงทุนของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์ของรัฐ และการให้เงินกู้แก่ภาคประชาชนผ่านโครงการหมู่บ้าน ซึ่งจะส่งผลให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น ประชาชนจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินก็ยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่นเดิม สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศยังมีผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งแง่บวกและลบ จากที่ราคาน้ำมันโลกลงลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อธุรกิจของไทยบางประเภท เช่น การก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง การขนส่ง แต่ก็ส่งผลต่ออุตสาหกรรมพลังงานของไทยเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวขึ้นแต่ก็ไม่สูงเหมือนหลายปีที่ผ่านมา ในส่วนการเปิด AEC ในปลายเดือนธันวาคม 2558 ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในแง่การส่งออก ไม่มีกำแพงภาษีในภูมิภาคอาเซียน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนก็สามารถทำได้คล่องขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมของไทยก็จะกระเตื้องขึ้นด้วยการเดินทางที่ง่ายขึ้น ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าเป็นตัวเสริม ซึ่งปัจจัยโดยรวมทั้งภายในและภายนอกประเทศน่าจะผลักดันให้เศรษฐกิจการเงินไทยปี 2559 ฟื้นตัวขึ้น
เมื่อประเทศไทยเปิดเสรีทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน เศรษฐกิจการเงินของไทยในอนาคตก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาคมากขึ้น เพราะต่างก็รวมเป็นหนึ่งเดียว เสมือนเป็นประเทศเดียวกันและมีเสรีทั้งการค้าสินค้า บริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุนและบุคลากร ซึ่งก็น่าจะเป็นผลดีในระยะยาวต่อเศรษฐกิจการเงินไทย
อ่านเพิ่มเติม >> เหลียวหลังปีมะแม แลหน้าปีลิง 59: เศรษฐกิจไทย รอดไม่รอด ? <<