นับว่าเป็นช่วงเวลาแห่งเคราะห์ซ้ำกรรมซัดโดยแท้สำหรับชาวนาไทย การทำนาหลังขดหลังแข็ง หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินเพื่อให้ได้ข้าวมาในแต่ละเม็ดว่ายากแล้ว การที่ต้องคอยระมัดระวังปัญหาใหญ่ที่มักจะคอยมาทักทายอยู่เสมอของสภาพอากาศ ที่กะเกณฑ์อะไรไม่ได้แบบจริงจังก็เป็นสิ่งที่หนักหนาเอาการสำหรับชาวนาเป็นที่สุด เพราะจะมีผลอย่างมากต่อคุณภาพของข้าวและแน่นอนว่าเกี่ยวเนื่องไปถึงราคาในการขายตามไปด้วย และแถมอีกหนึ่งปัญหาที่ช่วยซ้ำเคราะห์ให้หนักขึ้นมากกว่าเดิมก็คือ ปัญหาของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีผลกระทบไปทั่วโลกนั่นเอง
ข้าวคือพืชทางการเกษตรที่คนไทยรู้จักกันดีเป็นพืชที่จำเป็นทั้งในการบริโภคภายในประเทศและเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าเป็นแหล่งของรายได้หลักให้แก่เกษตรกรหรือชาวนาไทยมาแต่ไหนแต่ไร โดยในประเทศไทยไม่มีภาคใดเลยที่ไม่ทำการปลูกข้าว แต่พื้นที่ที่ปลูกเป็นจำนวนมากก็จะอยู่ในภาคกลางและภาคอีสาน ชนิดของข้าวที่นิยมปลูกกันก็มีอยู่มาก หลัก ๆ เลยก็จะเป็น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ซึ่งในแต่ละชนิดก็จะมีแยกย่อยสายพันธุ์ออกไปอีกหลายสายพันธุ์ ขึ้นอยู่กับในแต่ละพื้นที่เพราะแต่ละภูมิภาคก็จะเอื้ออำนวยให้การปลูกแต่ละสายพันธุ์มีผลผลิตที่คุณภาพต่างกันไปอีกด้วย เช่น ในทางภาคเหนือจะนิยมปลูกเป็นข้าวเจ้าและข้าวเหนียว และเพราะภาคเหนือจะมีภูเขาสูง การปลูกข้าวจึงทำการปลูกในบริเวณที่เป็นไร่ดอนซึ่งอยู่ระหว่างเขา
ในทางภาคกลางจะนิยมปลูกทั้งข้าวเจ้า ข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ซึ่งในพื้นที่ภาคกลางจะได้เปรียบในเรื่องของลักษณะทางภูมิศาสตร์มาก เพราะเป็นพื้นที่ราบลุ่มมีน้ำหมุนเวียนอยู่ตลอดทั้งปี จึงสามารถสร้างผลผลิตได้มากคือปลูกข้าวได้ทั้งปีหรือที่เราเรียกกันว่า การทำนาปีและนาปรัง ในทางภาคอีสานก็นิยมปลูกข้าวหอมมะลิโดยมากและมีชนิดอื่นร่วมด้วย แต่การเพาะปลูกข้าวส่วนมากจะทำได้แค่ช่วงเดียวคือการทำนาปี เพราะสภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยมักจะเกิดความแห้งแล้งอยู่เสมอหากไม่ใช่ช่วงฤดูฝน ส่วนในพื้นที่ภาคใต้จะนิยมปลูกเป็นข้าวเจ้า แต่ในการปลูกอาจจะล่าช้ากว่าภาคอื่นไปบ้างเพราะต้องรอฝน เนื่องจากไม่มีน้ำจืดเพียงพอในการทำนา เพราะเป็นพื้นที่ติดทะเล
แต่ทั้งหมดนั่นก็เป็นสถานการณ์ที่ปกติเหมือนที่ผ่านมาตลอดของประเทศไทยในการปลูกข้าว โดยอาจจะมีบ้างที่เกิดปัญหาใหญ่ ๆ แต่ก็นับว่าผ่านมาได้ตลอด ในช่วงปี 2559 นี้ก็เช่นกันที่ชาวนาไทยต้องประสบกับปัญหาใหญ่ ซึ่งจริง ๆ ก็เริ่มมีปัญหาในการปลูกข้าวมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 แล้ว ที่ในหลายประเทศต้องเจอกลับภาวะอากาศร้อนและแล้ง ประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้น ต้องเจอกับปัญหาแล้ง ขาดน้ำและเริ่มหนักขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้มีผลไปยังภาคการเกษตรในทุกด้านไม่เฉพาะแต่ข้าวเท่านั้น โดยภัยแล้งที่เกิดขึ้นนั้นมีผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งก็กินระยะเวลาไปจนถึงช่วงเกือบกลาง ๆ ปี 2559 ในไตรมาส 1 และ 2 จึงทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก การส่งออกอันดับ 1 จึงตกเป็นของอินเดียไป
แต่ก็ยังคาดการณ์ว่าช่วงครึ่งปีหลังเราจะกลับมาส่งออกได้มากขึ้น เพราะจะเข้าช่วงฤดูฝน แต่แล้วก็ต้องประสบกับปัญหาน้ำมากเกินไปจากปรากฏการณ์ลานีญาซึ่งตามมาซ้ำเติมอีก จึงทำให้…
ไตรมาสที่ 3 ช่วงเดือน (กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน)
เกิดภาวะฝนตกหนักในทุกภาคของไทย การปลูกข้าวจากช่วงเริ่มต้นฝนที่ได้น้ำลงนาข้าวก็เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้น้ำท่วมนาข้าวต้องเร่งระบายออกจากผืนนา บางพื้นที่ข้าวต้องจมน้ำ เน่าเสียหายจนต้องรีบเก็บเกี่ยว จึงทำให้ชาวนาในทุกภาคส่วนของไทยจำต้องเกี่ยวข้าวก่อนกำหนดไปหลายจังหวัดและข้าวที่เก็บเกี่ยวมาก็ยังต้องมาเจอกับความชื้นซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลมาจากฝนและน้ำ รวมถึงสภาพอากาศที่ชื้นมากเกินไปด้วย เป็นเหตุให้ข้าวมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสูงกว่าที่กำหนดไว้ ราคาก็ย่อมตกลงไปด้วย อีกทั้งยังต้องมาเจอกับปัญหาเศรษฐกิจที่ค่าเงินบาทแข็งตัว จากเดิมที่ 36 บาทต่อเหรียญ กลายเป็น 34 บาทต่อเหรียญ จึงทำให้ราคาการส่งออกต่ำลงและรวมถึงเกิดปัญหาการต่อสู้กับอีกในหลายประเทศที่มีกำลังผลิตข้าวเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ขายส่งออกข้าวไปยังประเทศอื่นด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งลดการนำเข้าลงตามไปด้วย ปัจจัยดังกล่าวทั้งหมดเข้าประกอบกันส่งผลให้ราคาข้าวตกลงไปต่ำสุดถึง 8,000 บาทต่อตัน ภาครัฐจึงต้องเร่งช่วยแก้ปัญหา เช่น โครงการชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการช่วยเหลือเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว รวมถึงโครงการอันเป็นประเด็นใหญ่ที่พูดถึงด้วยอย่าง โครงการจำนำยุ้งฉาง เป็นต้น ซึ่งการช่วยเหลือในแต่ละแบบก็พอจะเป็นผลอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ค่อยดีขึ้นเท่าที่ควร
ไตรมาสที่ 4 ช่วงเดือน (ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม)
จากราคาข้าวที่ตกต่ำและส่งออกมีปัญหาก็เกี่ยวเนื่องมาจนถึงช่วงเดือนตุลาคม โดยภาครัฐก็ได้ช่วยปรับราคาข้าวหอมมะลิขึ้นให้อยู่ในหลักหมื่นขึ้นไป สักระยะก็มีแผนที่เตรียมปรับช่วยเหลือข้าวชนิดอื่นด้วยเช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้นช่วงคาบเกี่ยวกันนี้ความต้องเร่งรีบเก็บเกี่ยวและขายข้าวของชาวนา เนื่องจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทำให้เริ่มการขายข้าวให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือโครงการใด ๆ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ต้นเดือนพฤศจิกายนก็เริ่มมีพื้นที่ให้ชาวนาได้ทำการบอกกล่าวและวางขายข้าวของตนเองได้โดยตรง ซึ่งทำให้เห็นถึงน้ำใจในคนไทยด้วยกันเอง เช่น ดารานักแสดงหลายท่านก็ให้ลูกหลานชาวนาได้มาประชาสัมพันธ์ฝากขายข้าวให้ทางครอบครัวโดยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของตนเอง อย่าง เฟสบุ๊คหรืออินสตาแกรม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอีกในหลายสถานที่ก็ได้เปิดพื้นที่ให้ชาวนานำข้าวมาวางขายได้อย่างต่อเนื่อง การเลือกขายข้าวแบบนี้ทำให้ชาวนาได้ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องขายให้โรงสีหรือพ่อค้าคนกลางไปได้มาก อีกทั้งผู้บริโภคเองก็ได้ซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนาที่สีใหม่ ๆ ไม่มีสารปนเปื้อน แถมราคาก็ไม่แพงอย่างปกติด้วย
จนถึงตอนนี้อาจพูดได้ว่าสถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้นมามาก ทั้งการช่วยเหลือของภาครัฐและส่วนต่าง ๆ ที่ทำให้ราคาข้าวค่อย ๆ ปรับสูงขึ้นจากเดิม อีกทั้งการระบายข้าวจากการขายโดยตรงของชาวนาเองด้วย ทั้งนี้มาตรการและการวางแผนในเดือนธันวาคมของไตรมาสที่ 4 นี้ จะดีขึ้นเรื่อย ๆ หรือจะวนลูบแบบเดิมก็ยังต้องลุ้นกันต่อไป