ปรับโครงสร้างหนี้ เลือกวิธีแบบไหนดี เหมาะกับใคร
การเป็นหนี้ ก็ต้องจ่ายหนี้คืนให้หมด ถึงจะเรียกว่าหมดภาระหนี้ แต่ถ้าเป็นหนี้เกินตัว ทั้งหนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงิน หนี้บ้าน หนี้รถ รวมถึงหนี้นอกระบบ จนไม่สามารถชำระคืนได้ แล้วจะมีทางออกอย่างไรบ้าง วันนี้เราจึงมาแนะนำวิธี จัดการหนี้อย่างเหมาะสม และง่ายขึ้น ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ โดยสามารถเลือกแบบที่เหมาะกับ สถานการณ์ทางการเงินที่แตกต่างกันออกไป เพื่อเป็นทางออกที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ ให้เหมาะสมที่สุด ประกอบกับการพิจารณาถึงเรื่อง จำนวนเงิน และระยะเวลาที่เราจะสามารถจ่ายหนี้ต่อไปได้ มาดูกันว่า เมื่อถึงเวลาอยากปรับโครงสร้างหนี้ เลือกวิธีแบบไหนดี เหมาะกับใคร
อยากปรับโครงสร้างหนี้ เลือกวิธีแบบไหนดี
ก่อนอื่นลองตรวจสอบตัวเองก่อนว่า เมื่อไหร่ควรปรับโครงสร้างหนี้ นี่คือหลักในการประเมินตัวเองได้ง่าย ๆ
- ติดต่อสถาบันการเงิน เมื่อคิดว่าเริ่มจะผ่อนชำระหนี้ไม่ไหวแล้ว ลองติดต่อสถาบันการเงินให้เร็วที่สุด ไม่ต้องรอให้เป็น หนี้เสีย เพื่อช่วยรักษาประวัติเครดิต
- ทำเรื่องขอปรับโครงสร้างหนี้ กรณีเข้าข่ายการเป็นหนี้เสียแล้ว ก็มีคุณสมบัติ เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสม และผ่อนได้
- หาข้อมูลเพื่อเตรียมตัวก่อน จากบทความนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางปรับโครงสร้างหนี้แบบไหนที่ เหมาะกับตัวเองที่สุด
การเปลี่ยนประเภทหนี้
กรณีนี้เป็นการเปลี่ยนหนี้จากสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง เพื่อช่วยให้ชำระหนี้ได้ เช่น หนี้บัตรเครดิต เป็นการเปลี่ยนมาขอสินเชื่อแบบมีกำหนดระยะเวลาจ่ายคืนที่ชัดเจน และมีอัตราดอกเบี้ยต่ำลงแทนหนี้เดิมที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งการพิจาณานั้นอาจต้องจ่ายหนี้แต่ละงวดมากขึ้น หรือน้อยลงกว่ายอดขั้นต่ำที่เคยจ่าย ขึ้นอยู่กับยอดหนี้คงค้าง และระยะเวลาของสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติใหม่
การลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น
เป็นการขอลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับหนี้เดิมที่มีอยู่แล้ว ช่วยลดภาระหนี้ที่จะต้องจ่ายเพียงบางส่วน วิธีนี้เหมาะสำหรับลูกหนี้ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาปรับตัว ได้แก่ ช่วงรายได้ลดลงกะทันหัน เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 3 เดือน 6 เดือน เป็นต้น แต่วิธีนี้อาจไม่เหมาะกับลูกหนี้ในสถานการณ์ เช่น ธุรกิจปิดตัวลง หรือราย ได้ลดลงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาว ๆ
การยืดขยายเวลาชำระหนี้ออกไป
เป็นการขอเพิ่มระยะเวลาในการจ่ายหนี้ให้ผ่อนหนี้ได้นานขึ้น แต่ยอดผ่อนต่อเดือนจะลดลง เหมาะสำหรับคนที่มีรายได้ลดลงชั่วคราว แต่หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรขยายเวลาในการชำระหนี้นานเกินไป เพราะการผ่อนน้อยลง แต่ผ่อนนานขึ้น จะทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นนั่นเอง
การพักชำระเงินต้น หรือการพักชำระทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย
- การพักชำระเงินต้น
เป็นวิธีที่ไม่ต้องจ่ายเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย เหมาะกับคนที่รายรับลดลงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ และสามารถกลับมาชำระหนี้ตามเดิมได้ สามารถพักชำระเงินต้นประมาณ 3 – 6 เดือน แต่การพักชำระเงินต้น ทำให้ภาระหนี้จากพักชำระเพิ่มขึ้น หรืออาจขยายเวลาการชำระหนี้ต่อไป
- การพักชำระทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย
วิธีนี้เป็นการหยุดจ่ายทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาหนึ่งสั้น ๆ เหมาะกับคนที่ต้องพักชำระในช่วงเวลา 3 เดือน หรือ 6 เดือน โดยเมื่อครบกำหนดพักชำระแล้ว จะต้องจ่ายคืนทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยในช่วงที่พักไปด้วย ซึ่งดอกเบี้ยยังคงเดินอยู่ตลอดเวลาที่พักชำระ วิธีนี้สามารถขยายเวลา การชำระหนี้เพื่อเฉลี่ยผ่อนชำระตามงวดที่เหลือ หรือการชำระคืนเงินต้นที่พักชำระทั้งหมดคราวเดียวในงวดสุดท้ายก็ได้
การรีไฟแนนซ์ (refinance)
วิธีนี้มัเหมาะกับหนี้ประเภท หนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด เป็นต้น เป็นวิธีการเปลี่ยนเจ้าหนี้ หรือธนาคารใหม่ คือ การปิดยอดหนี้จากเจ้าหนี้รายเดิมแล้วย้ายไปขอกู้กับเจ้าหนี้รายใหม่ที่ให้อัตราดอกเบี้ยถูกกว่าธนาคารเดิม แต่มีข้อควรระวัง คือ ความคุ้มค่ากับดอกเบี้ยใหม่ที่ลดลงหรือไม่? เพราะการรีไฟแนนซ์จะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่น ค่าจดจำนองหลักประกัน ค่าใช้จ่ายในการประเมินมูลค่า หลักประกัน ค่าทำประกันใหม่ ค่าปรับให้แก่เจ้าหนี้รายเดิม ที่คุณจ่ายคืนหนี้ทั้งจำนวนก่อนครบกำหนด เวลาที่ระบุในสัญญา เป็นต้น
การปิดหนี้ทั้งหมดด้วยเงินก้อน
วิธีนี้เป็นการขอส่วนลดหนี้ทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีหนี้ทันที วิธีนี้ต้องมั่นใจว่าจะจ่ายได้ทั้งหมดภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ รูปแบบหนี้มีเงื่อนไขโดยให้จ่ายหนี้ให้ครบภายในเวลาที่กำหนด หรือเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น 1 – 6 งวด วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีหนี้สินเรื้อรัง และมีเงินก้อนอยู่ แต่ไม่พอที่จะปิดหนี้ทั้งหมดในครั้งเดียว เช่น มียอดหนี้ค้าง 100,000 บาท ขอลดหนี้เหลือ 80,000 บาท แล้วจ่ายทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีทันที
สรุป ถ้าอยากปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนตัดสินใจ ควรทำความเข้าใจในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้แต่ละวิธี เพื่อให้เราสามารถเลือกแบบที่เหมาะกับสถานการณ์ทางการเงินของตัวเองในขณะนั้นที่สุด เพราะถ้าเรา เลือกวิธีการปรับโครงสร้างที่ไม่ถูกต้องกับภาระหนี้สิน ย่อมเป็นวิธีปรับโครงสร้างหนี้แบบไม่คุ้มค่านั่นเอง