ก่อนเริ่มธุรกิจ ต้องศึกษาอะไรบ้าง รวมเรื่องน่ารู้สำหรับนักธุรกิจมือใหม่
คนในยุคนี้เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากจะเป็นลูกจ้างมนุษย์เงินเดือนไปตลอดชีวิต แต่การหาเงินก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน หลายคนเลยเริ่มหันมาสนใจการทำธุรกิจด้วยตัวเองมากขึ้น ถึงอย่างนั้น การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องรู้ และทำความเข้าใจก่อนลงมือทำ เราเลยจะพาเพื่อน ๆ นักธุรกิจมือใหม่ทุกคนไปดูกันว่า ก่อนเริ่มธุรกิจ ต้องศึกษาอะไรบ้าง?
ก่อนเริ่มธุรกิจ ต้องศึกษาอะไรบ้าง เตรียมตัวให้พร้อมก่อนตัดสินใจ
คำถามสำคัญก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจก็คือก่อนเริ่มธุรกิจ ต้องศึกษาอะไรบ้าง เพราะในวงการนี้มีอยู่หลายอย่างที่เราควรรู้เอาไว้ เป็นการติดอาวุธก่อนลงสู่สนามจริง ถ้าเราเตรียมความพร้อมตัวเองได้ดีพอ มีความรู้ ความเข้าใจ ก็จะทำให้การลงทุนทำธุรกิจของเราเป็นไปอย่างราบรื่น ได้กำไรกลับคืนมา จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
-
เงินทุน
สิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดในการทำธุรกิจก็คือเงินทุนนั่นเอง เราต้องพิจารณาก่อนว่าเรามีเงินทุนมากพอในการทำธุรกิจหรือเปล่า การจะทำธุรกิจต้องมีเงินทุนในระดับหนึ่ง และควรเป็นเงินเย็น การนำเอาเงินเก็บทั้งหมดมาลงทุนไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสักเท่าไหร่ เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่ามันจะสามารถดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ จนสร้างผลกำไรให้กับเราได้หรือเปล่า ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินขึ้นมา เราก็จะไม่มีเงินสำรองในส่วนนี้
เราขอแนะนำว่าให้เริ่มต้นเล็กๆ ด้วยเงินเย็นที่มีก่อน เพราะนอกจากจะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในการขาดทุน เวลาที่ขายของก็จะคืนทุนไวมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย หลังจากที่ธุรกิจไปได้ เราค่อยขยายกิจการ หลังจากนั้นจะหาเงินทุนด้วยการระดมทุนกับเพื่อนๆ หรือขอเงินทุนจากสถาบันการเงินก็ได้เหมือนกัน
-
รูปแบบธุรกิจ
การทำธุรกิจมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ความต้องการของเพื่อนๆ อย่างเช่น การทำธุรกิจใหม่ที่เราตั้งใจจะสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านขายของ หรือคาเฟ่ เราต้องเริ่มตั้งแต่ 0 ไปจนถึง 100 ด้วยตัวเอง ทั้งการออกแบบโลโก้ คิดชื่อแบรนด์ พิจารณาสินค้าที่จะนำเอามาขาย หรือบริการที่จะมอบให้กับลูกค้า วางโครงสร้างการทำงานว่าจะต้องทำยังไง
และยังมีแฟรนไชส์ ธุรกิจที่เราไปซื้อรูปแบบการทำงานมาจากเจ้าของ เราไม่ต้องคิดอะไรเองให้ปวดสมอง เพราะเจ้าของให้เรามาหมดทั้งชื่อแบรนด์ โลโก้ สินค้า ถ้าเป็นอาหารก็จะมีสูตรมาให้ บางเจ้ามีวัตถุดิบให้โดยเฉพาะ เวลาหมดก็สามารถสั่งกับเจ้าของแฟรนไชส์ได้เลย ไม่ต้องไปหาวัตถุดิบ หรือสินค้ามาขายเอง เราแค่ลงทุนตั้งร้าน ขายเอง หรือจะจ้างลูกจ้างก็ได้ หลังจากนั้นก็รอรับเงินได้เลย
นอกเหนือจากรูปแบบการทำธุรกิจแล้ว ยังมีเรื่องของการจดทะเบียนธุรกิจ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ นั่นก็คือแบบจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับบุคคลธรรมดา เป็นการจดทะเบียนที่เหมาะสำหรับธุรกิจเล็กๆ ทำกันเองกับคนในครอบครัว หรือเพื่อนๆ วิธีการไม่ซับซ้อนยุ่งยาก และแบบจดทะเบียนนิติบุคคล ตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด วิธีการยากขึ้น แต่ก็เพิ่มความน่าเชื่อถือได้ดี ง่ายเวลาที่เราจะไปขอระดมทุนจากสถาบันการเงิน รูปแบบการทำงานของธุรกิจทั้ง 2 อย่าง ก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย
-
การทำแผนธุรกิจ
การทำธุรกิจไม่เหมือนกับการทำงาน เพราะการทำงาน ผลลัพธ์ของมันก็คืองานแล้วเสร็จเป็นอย่างๆ ไป แต่การทำธุรกิจก็คือการที่เราจะต้องขายของ หรือบริการให้สำเร็จ การวางแผนจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ เพราะมันจะช่วยให้เราได้เปรียบในการแข่งขันบนตลาดการค้าที่กำลังร้อนแรง ให้เราดูว่ากิจการของเรามีจุดอ่อนจุดแข็งยังไง โอกาส และความเสี่ยงมีมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ยังต้องวิเคราะห์คู่แข่งทางการค้าด้วย ดูกลยุทธ์ว่าพวกเขาทำอย่างไร มีผลดี ผลเสียยังไง แล้วนำเอามาปรับใช้กับกิจการของเรา
แต่แค่นั้นยังไม่พอ เพราะเราต้องหาคู่ค้าทางธุรกิจด้วยเหมือนกัน อย่างเช่นคนที่จะขายวัตถุดิบให้กับเรา คนนำเข้าสินค้า หรือพันธมิตร อย่างเช่นแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ Influencer ที่จะช่วยโฆษณาสินค้าของเรา หรือแม้แต่การโปรโมทด้วยวิธีการดั้งเดิมอย่างการลงโฆษณาบนโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์
-
การทำบัญชี
เงินทองเป็นของที่ไม่เข้าใครออกใคร ยิ่งธุรกิจไหนมีผู้เกี่ยวข้องเยอะยิ่งต้องทำบัญชีเอาไว้ให้รัดกุม นอกจากนี้มันยังจะช่วยให้เราพิจารณาได้ว่ากิจการของเรามีรายรับเข้ามาเท่าไหร่ มีรายจ่ายออกไปมากน้อยแค่ไหน ต้องแก้ไขยังไงเพื่อให้กิจการสร้างกำไรให้กับเรา นอกจากมันจะใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานของเราได้แล้ว ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ต้องใช้ในการยื่นภาษีประจำปีอีกต่างหาก
ยิ่งถ้าจดทะเบียนนิติบุคคล ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการทำบัญชี เพราะมันไม่ใช่แค่การจดรายรับรายจ่าย แต่ถ้าเราวางแผนบัญชีดีๆ ก็จะช่วยให้เราสามารถจัดการภาษีได้ง่ายขึ้น ต้องพิจารณาว่าจะจ้างนักบัญชีมาทำงานในองค์กร หรือจะจ้างสำนักงานบัญชี ใครจะเป็นผู้สอบบัญชีให้กับเรา ต้องซื้อโปรแกรมการทำบัญชีไหม
-
กลุ่มลูกค้า
ก่อนจะขายของ เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะขายให้ใคร เพราะอยู่ดีๆ เอาของมาขายก็คงจะมีคนมาซื้อยากหน่อย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ อย่างเช่น เราตั้งใจจะตั้งโต๊ะขายของหน้าโรงเรียน แต่ของที่เอามาขายดันเป็นเครื่องสำอาง โอกาสที่จะขายได้ก็จะน้อยลงกว่าเดิม ถ้าเราจะขายของหน้าโรงเรียน ลูกค้าของเราก็คือเด็ก ถ้าเป็นโรงเรียนประถม ก็จะเป็นเด็กประถมอายุตั้งแต่ 7 ขวบไปจนถึงประมาณ 12 ปี เราต้องมาพิจารณากันต่อว่าเด็กกลุ่มนี้จะซื้ออะไร ของที่นำมาขายส่วนใหญ่จึงเป็นขนม ของขบเคี้ยว น้ำดื่ม และของเล่นนั่นเอง
แต่การทำธุรกิจที่ไม่ใช่การตั้งโต๊ะขายของต้องพิจารณามากกว่านั้น ให้เรายกสินค้าขึ้นมาเป็นโจทย์ อย่างเช่นเราต้องการจะขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาประหยัดบนโลกออนไลน์ กลุ่มลูกค้าของเราก็จะมีหลากหลายมากขึ้น แต่เราก็ต้องกำหนดอยู่ดีว่าเป็นใคร เพื่อที่เราจะได้สามารถโฆษณาสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการปิดการขายได้มากขึ้นกว่าเดิม อย่างเช่นเป็นวัยรุ่นผู้ชาย อายุตั้งแต่ 15 ปีถึง 40 ปี รายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทถึง 30,000 บาท
-
การจ้างงาน
ถ้าเราเริ่มต้นจากการทำธุรกิจเล็กๆ ในช่วงแรกการจ้างงานก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญสักเท่าไหร่ แต่ถ้าธุรกิจเริ่มใหญ่มากขึ้นจนเราทำเองทั้งหมดไม่ไหว สิ่งที่จะตามมาก็คือการจ้างงานนั่นเอง สิ่งที่เราต้องทำก็คือการจัดแผนผังบุคคลภายในองค์กร ตอนนี้คนในตำแหน่งไหนที่กำลังขาดแคลน เข้ามาแล้วทำหน้าที่อะไรบ้าง ต้องมีความสามารถมากน้อยแค่ไหน และที่ทำให้หลายคนปวดหัวมากที่สุดก็คือจะหาคนจากไหนดี
ในปัจจุบันเราสามารถหาคนได้ง่ายๆ ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มบนโซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์หางานทั้งหลาย ขอเพียงแค่เราระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานอย่างครบถ้วน เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยให้มีคนสนใจ และสมัครเข้ามาทำงานกับเราแล้ว
และอย่าลืมการจ่ายค่าแรงที่ต้องไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย มีวันหยุด และวันลาตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด เพราะมันไม่ใช่แค่จะช่วยให้เราไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น แต่ความยืดหยุ่นในการทำงานพวกนี้ จะช่วยให้พนักงานรู้สึกดีกับการทำงานในองค์กรของเรามากขึ้นกว่าเดิมได้อีกต่างหาก
รวมภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อทำธุรกิจ
หนึ่งในสิ่งที่นักธุรกิจจะต้องรู้ และทำความเข้าใจก็คือเรื่องของภาษีนั่นเอง เพราะเมื่อเราออกมาทำธุรกิจเอง เราก็ต้องจัดการเรื่องภาษีเองเหมือนกัน ภาษีในการทำธุรกิจนั้นมีหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายประเภท แต่ละประเภทก็จะแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ว่าเราทำธุรกิจแบบไหน โดยรวมมีดังนี้
- ภาษีที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องเสีย
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีที่เราจะต้องเสียตามประมวลรัษฎากร อัตราภาษีสูงสุดจะอยู่ที่ 20% สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ นั่นก็คือภ.ง.ด. 50 เป็นภาษีที่เราจะต้องจ่ายตามรอบบัญชีภายใน 150 วันหลังจากที่ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว และภ.ง.ด. 51 เซ็นภาษีที่จะต้องยื่น 2 เดือนหลังจากที่ผ่านรอบบัญชีครึ่งปี
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่หักไว้ล่วงหน้าเมื่อมีการจ่าย เป็นไปตามกำหนดของประเภทเงิน อย่างเช่น 1% ของค่าขนส่ง 2% ของค่าโฆษณา และ 3% ของค่าบริการ หากเป็นบุคคลธรรมดาให้นำส่งด้วยแบบภ.ง.ด. 3 หากเป็นนิติบุคคลให้นำส่งด้วยภ.ง.ด. 53 เป็นประจำทุกเดือน ไม่เกินวันที่ 7 ในเดือนถัดไป
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่จะเก็บจากการซื้อขาย ทั้งสินค้า และบริการ จำนวน 7% เราในฐานะผู้ประกอบการจะต้องรีบเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ที่มาซื้อของ หรือใช้บริการ จากนั้นก็ออกใบกำกับภาษีเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บ จากนั้นก็ให้ยื่นแบบภ.พ. 30 เป็นประจำทุกเดือน
- อากรณ์แสตมป์ เป็นภาษีที่ใช้กับเอกสารต่างๆ ในการแสดงสิทธิ์ อย่างเช่น หนังสือเช่าที่ดิน ค้ำประกัน กู้เงิน การทำสัญญาจ้าง หรือสัญญาร่วมลงทุน ถ้าไม่มีอากรแสตมป์ก็จะไม่มีผลทางกฎหมาย
- ภาษีอื่นๆ
- ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีที่จะจัดเก็บกับการประกอบกิจการบางธุรกิจ อย่างเช่น โรงรับจำ ธนาคาร หรือบริษัทประกัน เราต้องยื่นขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะภายในระยะเวลา 30 วันหลังจากที่เริ่มกิจการ
- ภาษีบำรุงท้องที่ เป็นภาษีที่ถูกจัดเก็บจากเจ้าของที่ดิน ทั้งที่ดินเปล่า และที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้าง เป็นประจำทุก 4 ปี หรือจ่ายภายใน 30 วัน ถ้าเราเพิ่งได้รับกรรมสิทธิ์มาใหม่ หรือว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินมีการเปลี่ยนแปลง
- ภาษีป้าย เป็นภาษีที่จะจัดเก็บจากป้ายทุกชนิด ทั้งป้ายประชาสัมพันธ์ ป้ายโฆษณา เราจะต้องยื่นประเมินภายในวันที่ 30 มีนาคมของทุกปี อัตราจะคิดตามขนาด และตัวอักษรที่ใช้บนป้าย
สรุปแล้ว ก่อนเริ่มธุรกิจ ต้องศึกษาอะไรบ้าง โดยรวมแล้วสิ่งที่ต้องรู้ก็คือวิธีการทำธุรกิจแต่ละประเภท รายละเอียดปลีกย่อยอย่างเช่นการวางแผน กลุ่มลูกค้า การทำบัญชี และภาษี ถ้าเราเป็นมือใหม่ในวงการนี้ เริ่มจากธุรกิจเล็กๆ ก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น สำหรับใครที่อยากจะเริ่มต้นเป็นนักธุรกิจ เราขอส่งกำลังใจให้ทุกคนสามารถตั้งกิจการเป็นของตัวเองได้ และทำมาค้าขายร่ำรวย