ในวัฏจักรของความเป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ แน่นอนว่า เมื่อได้รับเงินเดือนมา แล้วนำฝากเข้าธนาคารแล้ว ขั้นตอนต่อไป ก็คือ ต้องถอนเพื่อนำออกมาใช้
การถอนเงินเพื่อนำออกมาใช้ในปัจจุบัน นับว่าเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นกว่าในอดีตมาก ๆ เนื่องจากเราสามารถถอนเงินได้ทั้งทางเคาน์เตอร์ธนาคารทางตู้ ATM ซึ่งทุกวันนี้มีตั้งอยู่อย่างเกลื่อนกลาด สามารถถอนเงินได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยสำหรับตู้ ATM สามารถถอนเงินได้มากที่สุดอยู่ที่ 10,000 -20,000 บาท ส่วนการถอนผ่านทางเคาน์เตอร์ธนาคาร สามารถทำได้แบบไม่จำกัดจำนวน
ด้วยความที่การถอนเงินในปัจจุบันสามารถทำได้อย่างสะดวกเช่นนี้นี่เอง ส่งผลทำให้ความถี่ของการถอนเงินมีมากขึ้นเรื่อย ๆ มีทั้งถอนจำนวนน้อย ๆ ประมาณ 100-1,000 บาท ไปจนถึงถอนจำนวนมาก ๆ เป็นหลักหมื่น ทีนี้พอหันกลับมามองชีวิตมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ แล้ว ทางเลือกในการถอนเงินก็คงจะมีอยู่ 2 แบบ คือ ถอนเงินทีละนิด กับถอนเงินมาเป็นก้อน ๆ แล้วเอามาใช้เป็นเดือน ๆ ไป ซึ่งหลายคนคงจะเกิดความสงสัยอยู่ในใจว่า เราควรจะถอนเงินมาทีละนิด หรือจะถอนมาเป็นก้อน ๆ แล้วใช้เฉพาะก้อนนั้นไปเลยในเดือนหนึ่งดี ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่า การถอนเงินทั้ง 2 แบบนี้ ส่งผลแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้นำมาเป็นทางเลือกสำหรับใช้จ่ายในแต่ละเดือนต่อไป
เริ่มจากแบบแรก คือ การถอนเงินแบบทีละนิด ประมาณว่าพอจะใช้ทีหนึ่ง ก็ถอนออกมาเท่านั้น
การถอนเงินในลักษณะนี้ แน่นอนที่สุดว่าเงินจะสูญหายไปจากบัญชีน้อยกว่าถอนออกมาทั้งก้อน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเผลอใช้เงินไปจนหมดน้อยกว่าการถอนออกมาแบบเป็นก้อนอีกด้วย และยังสามารถกันเงินเอาไว้ออมได้สะดวกกว่าแบบถอนออกมาเป็นก้อน อีกประการหนึ่ง คือ การที่ต้องไปคอยเบิกเงินจากธนาคาร ย่อมเป็นอุปสรรคที่จะเบรกการใช้เงินของเราเอาไว้ได้ บางทีอยากได้อะไร แต่ไม่มีสถานที่ที่จะเบิกเงินมาได้ นั่นก็เท่ากับเรามีเวลาที่จะคิดมากขึ้น ว่ารายจ่ายนั้นจำเป็นมากน้อยแค่ไหน แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ การถอนเงินแบบนี้ไม่ต้องการการบริหารอะไรมาก ผู้ที่ใช้วิธีถอนเงินลักษณะนี้จึงมักไม่ค่อยมีการวางแผนการใช้เงิน การใช้เงินจะเป็นไปในลักษณะตามอารมณ์มากกว่า หากที่ไหนมีตู้ ATM ก็จะกดเงินออกมาใช้ แต่ถ้าที่ไหนไม่มีตู้ ATM ผู้ที่ใช้วิธีกดเงินทีละน้อย ๆ มักจะเปลี่ยนใจไม่กด ซึ่งพฤติกรรมการใช้เงินตามใจตนเองอย่างนี้ ย่อมส่งผลให้เงินในบัญชีหมดไวกว่าผู้ที่ใช้วิธีกดเงินมาเป็นก้อน ๆ และมักจะหมดไปกับรายจ่ายที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะหากไปอยู่ในที่ ๆ สามารถเบิกเงินได้ง่าย
ส่วนแบบที่สอง คือ การกดเงินมาแบบเป็นก้อน ๆ แล้วใช้เฉพาะก้อนนั้น
การกดเงินด้วยวิธีนี้มักจะเป็นเงินที่มีจำนวนมากกว่า 10,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่าเงินจะหมดไปจากบัญชีมากกว่าการกดเงินทีละน้อย ๆ ส่วนที่เหลือติดบัญชีเอาไว้ ถ้าไม่เป็นเงินที่กันเอาไว้สำหรับรายจ่ายฉุกเฉิน ก็มักจะเป็นเงินที่เหลือไว้สำหรับรักษาบัญชีเท่านั้น หากเงินส่วนนี้หมด ก็คือหมดเลย ข้อเสียก็แน่นอน ว่าคือการที่เงินหมดไปจากบัญชีมากกว่าแบบแรก อีกทั้งการนำเงินแบบเป็นก้อน ๆ มาใช้ ก็จำเป็นที่จะต้องมีแผนการบริหารที่แยบยลเป็นระบบและต้องใช้เฉพาะรายจ่ายที่จำเป็นจริง ๆ เพราะหากเงินก้อนนี้หมดก็เท่ากับว่าต้องรอเดือนถัดไป ยิ่งถ้าหมดตั้งแต่ช่วงต้นเดือนความลำบากในการใช้ชีวิตเดือนนั้นจะบังเกิดขึ้นทันที
อย่างไรก็ตาม การกดเงินออกมาแบบเป็นก้อน ๆ นี้ ก็ยังมีข้อดีคือเงินจะหมดไปกับรายจ่ายที่จำเป็นมากกว่า นั่นหมายความว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่กดมาจะถูกบริหารและใช้จ่ายอย่างคุ้มค่ากว่าการกดมาทีละน้อย ๆ อีกทั้งหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงิน ก็สามารถนำเงินออกมาใช้ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปเบิกเหมือนกับแบบแรก แต่อย่างที่บอกไป หากต้องการนำเงินออกมาใช้เป็นก้อน ๆ จำเป็นต้องมีแผนการบริหารที่ดีและเป็นระบบมาก ๆ เพราะการนำเงินมาใช้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก หากเผลอนำเงินไปใช้แบบไม่จำเป็นจนหมด นั่นหมายถึงการใช้ชีวิตที่จะยากลำบากขึ้น ซึ่งจะต่างจากการกดเงินออกมาทีละน้อย ๆ ที่จะมีปัจจัยเรื่องสถานที่เบิกมาเป็นอุปสรรคและเป็นตัวเบรกการใช้เงินของเราได้เป็นอย่างดี
กล่าวโดยสรุป วิธีการกดเงินออกมาใช้มีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ กดมาทีละน้อย ๆ พอใช้ในแต่ละครั้งกับกดออกมาเป็นก้อน ๆ สำหรับใช้ในระยะเวลานาน ๆ โดยที่แต่ละวิธีต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวมนุษย์เงินเดือนแล้ว ว่าจะเลือกใช้วิธีไหนที่ถูกกับจริตของเราและช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากที่สุด แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายจะลืมไปมิได้หากต้องการประหยัดรายจ่าย คือ ต้องรู้จักหักห้ามใจ พยายามเลือกซื้อของที่มีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต มากกว่าจะซื้อของตามใจตนอยากได้ เพราะหากยังควบคุมกิเลสของตนเองไม่ได้ การจะพยายามควบคุมการใช้จ่ายด้วยรูปแบบการเบิกเงินก็คงจะไม่มีประโยชน์