การเรียนจบออกมาแล้ว ทำงานไม่ตรงสาย เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่นับสายอาชีพเฉพาะทางที่ต้องการใบอนุญาตพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์สาขาต่าง ๆ วิศวกร หรือสถาปนิก อาชีพอื่น ๆ นั้นบอกได้เลยว่ามีคนจำนวนมากที่ทำงานไปคนละทิศคนละทางกับสายที่เรียนมา ผลสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าบุคคลทั่วไปร้อยละ 73 ทำงานไม่เกี่ยวข้องกับสายอาชีพที่เรียนในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้น สำหรับหลายคนที่เรียนจบแล้วกำลังหางานทำหรือกำลังคิดจะเปลี่ยนงานไม่ต้องกังวลไป หากคุณกำลังจะทำงานที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมันไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากพิจารณาถึงความเป็นจริง การทำงานตรงสาขาที่เรียนต่างหากที่เป็นเรื่องหาได้ยาก
งานไม่ตรงใจ-ได้งานไม่ตรง
สาเหตุหลัก ๆ ของการทำงานไม่ตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมามีอยู่ 2อย่างด้วยกัน คือ เมื่อได้ลองทำงานแล้วกลับพบว่าไม่ใช่งานที่ตนเองต้องการ จึงเปลี่ยนงานไปในด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจมากกว่า และอย่างที่ 2 คือ เมื่อเรียนจบแล้วไม่สามารถหางานที่ตรงกับสาขาที่เรียนมาได้
สำหรับสาเหตุแรกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายเพราะการเรียนและการทำงานมีวิถีทางที่ไม่เหมือนกัน เนื้อหาบางสาขาวิชา ตอนเรียนอาจเรียนสนุกน่าสนใจ แต่เมื่อต้องออกมาทำงานที่เกี่ยวข้องจริง ๆ กลับพบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ตนเองต้องการเสียหน่อย หรือเกิดความรู้สึกด้านลบต่อวิชาชีพที่ทำ ส่งผลให้ตัดสินใจเปลี่ยนงานในที่สุด
ส่วนทางด้านสาเหตุที่สองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เยอะมากในสังคมไทย เพราะตอนเลือกเรียนนั้นนักศึกษาส่วนมากเลือกตามกระแสนิยมหรือเมื่อพลาดหวังจากสาขาวิชา-มหาวิทยาลัยที่อยากเรียน ก็ทำการเลือกเพียงส่ง ๆ เอาที่จบง่ายเข้าว่า ทำให้ตอนหางานนั้นอาจเป็นสาขาวิชาที่ไม่มีตลาดรองรับ เมื่อไม่มีตลาดรองรับที่เพียงพอต่อความต้องการบุคลากรในส่วนนี้จึงจำต้องไปหางานในสาขาวิชาชีพอื่น ๆ
อย่าเสียดายเมื่อไม่ใช่ มันก็คือไม่ใช่
เมื่อต้องตัดสินใจเลือกงานที่ไม่ตรงกับสาขาวิชาที่เรียน มีหลายคนที่รู้สึกเสียดาย เพราะเรียนมาตั้งนานแต่กลับจะไม่ได้ใช้มันเลย ขอให้คิดถึงอนาคตให้มาก อย่าเสียดายกับสิ่งที่ผ่านและคิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป ในจุดนี้มีเรื่องที่เราต้องคิดคำนึงถึงอยู่หลายเรื่องหลายปัจจัยอย่างแรกเลยสิ่งที่เราเก่งอาจไม่ได้เป็นทักษะเดียวกับสิ่งที่เราเรียนมา ทักษะที่เรามีติดตัวเป็นสิ่งที่หล่อหลอมขึ้นมาเป็นตัวเรา ไม่ใช่เนื้อหาหรือชื่อชั้นที่สำเร็จการศึกษามา ขอเป็นสิ่งที่เราคิดว่า เหมาะสมและมีความถนัด สามารถทำได้ เพียงแค่นี้ก็สามารถเป็นอาชีพที่เหมาะสมแล้ว
อีกสิ่งที่สำคัญก็คือเมื่อคุณเริ่มก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน ยังมีเรื่องมากมายที่ต้องเรียนรู้เพิ่ม ความรู้เป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มได้จากประสบการณ์ตรงจากการทำงาน ส่วนสิ่งที่ได้จากรั้วสถาบันการศึกษาเปรียบได้กับรากฐานที่สร้างขึ้นมาเป็นตัวตน ทักษะต่าง ๆ ที่ได้จากการเรียนโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นความอดทน การทำงานกลุ่ม ฯลฯ ทักษะเหล่านี้ที่ได้มาจะไม่หายไปไหน เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรที่เสียเปล่ากับการเลือกงานที่ไม่ตรงกับสายที่เรียนมาหรอก
ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย
ถ้ายังไม่มั่นใจว่าการทำงานไม่ตรงสายที่เรียนมาแล้วจะไปได้ดีไหมจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า ให้ลองมองไปในตามคนเด่นคนดังในสังคม แล้วคุณจะพบว่ามีหลายคนทีเดียวที่ไม่ได้ทำงานในสาขาที่เรียนมา ซึ่งในวันนี้ขอยกตัวอย่างมาสักสองสามคนที่ทุกคนอาจเคยได้ยินชื่อหรือคุ้นเคยกับผลงานของพวกเขากันเป็นอย่างดี
คนแรกเลยขอยกตัวอย่างเป็นนักร้องชื่อดัง ‘บี้ เดอะ สตาร์’ ที่ถือว่าเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งในยุคนี้ ถ้ามองตามสายอาชีพแล้ว บี๊ เดอะสตาร์ จะต้องเรียนมาทางสาขานิเทศศาสตร์ แต่ความเป็นจริงแล้วแฟน ๆ ของนักร้องหนุ่มคนนี้คงรู้กันดีว่า บี้ ไม่ได้เรียนอะไรที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้เลย เขาจบมาทางสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งห่างไกลกับอาชีพในปัจจุบันอยู่มากโข นอกเหนือจากนี้แล้วยังมีนักข่าว-ผู้ประกาศข่าวหลายคนที่ไม่จบมาทางนิเทศศาสตร์อีกหลายคน อาทิ คุณกิตติ สิ่งหาปัด ผู้ประกาศข่าวที่เป็นที่รู้จักกันดีก็จบการศึกษาปริญญาตรี เกษ
ในสายธุรกิจยังมีอีกมาก ทั้งที่จบไม่ตรงสายหรือแม้กระทั่งกลุ่มรุ่นเก๋าที่ไม่ได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็ยังสามารถประสบความสำเร็จเป็นมหาเศรษฐีได้ ยกตัวอย่างเช่น “ต๊อด” ปิติ ภิรมย์ภักดี ทายาทธุรกิจเบียร์สิงห์ ซึ่งเข้ามาดูแลกิจการทำให้มีทรัพย์สินกว่าหมื่นล้านบาท สำหรับรายนี้เองก็ไม่ได้จบบริหารธุรกิจมาโดยตรง แต่จบด้านวิศวกรรมมา นอกเหนือจากตัวอย่างที่ยกมาในวันนี้แล้ว ขอย้ำอีกครั้งว่ายังมีอีกหลายคนที่ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ได้ทำงานในสายที่เรียนมา
ไม่ว่าจะทำงานตรงสายหรือไม่ตรงสาย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความต้องการและความชอบส่วนบุคคล การเลือกอาชีพควรเป็นการเลือกที่พิจารณาถึงปัจจัยของแต่ละปัจเจกบุคคล อะไรคือเป้าหมายในการทำงาน เมื่อทำงานแล้วเป็นอย่างไร หรือแม้แต่ความสามารถของเรามีมากพอหรือเหมาะสมกับตำแหน่งนั้น ๆหรือไม่ มีคำถามมากมายที่ควรถามตัวเองให้ชัดเจน เพราะงานที่น่าพอใจไม่ได้หมายถึงงานที่ตรงกับสายที่เรียนมา แต่เป็นงานที่เราสามารถทำมันได้อย่างไม่อึดอัด ที่สำคัญที่สุดต้องถามตัวเองว่ามีความสุขกับงานที่ทำอยู่หรือไม่ เมื่อมีความสุข งานนั้นแหละก็คืองานที่เหมาะกับคุณ