เป็นปัญหาโลกแตกสำหรับมนุษย์วัยทำงานหลาย ๆ คน เพราะทำงานมาหลายปีแล้ว ยังไม่มีเงินเหลือเก็บสักที ไม่ว่าจะลองใช้วิธีใดก็ตาม สุดท้ายก็ต้องเอาเงินไปหมุนก่อนเสมอ เมื่ออายุกำลังเข้าสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่ บางคนก็ใกล้เกษียณเต็มที ก็ยิ่งมีความกังวลมากขึ้นว่าควรทำอย่างไรจึงจะมีเงินเก็บสักก้อนไปลงทุน หรือเอาไว้ใช้ในยามหลังเกษียณ โดยในบทความนี้จะแยกออกเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บ และวิธีแก้ไขเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินใหม่ที่สามารถเห็นผลได้ตั้งแต่เดือนแรกที่ทดลองทำ
สาเหตุของการไม่มีเงินเก็บ
เนื่องจากบางคนยังไม่สามารถยอมรับความจริง หรือไม่รู้จริง ๆ ว่าเงินของตัวเองหายไปไหนหมด ไม่ว่าจะเงินเดือนมากหรือน้อยก็ตาม ลองพิจารณาดูกันว่าข้อใดคือสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คุณไม่มีเงินเก็บกันบ้าง
ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
เป็นประเด็นแรก ๆ ที่ควรพูดถึง และคนส่วนมากก็มักจะนึกไม่ถึงว่าสิ่งของที่ตัวเองจับจ่ายซื้อเข้าบ้านอยู่ทุกวันนี้ เป็นสิ่งของฟุ่มเฟือย อันดับแรกที่ควรทำเมื่อมีความต้องการซื้อของชนิดหนึ่งเลยก็คือ พิจารณาก่อนว่าสิ่งของเหล่านี้มีความจำเป็นกับชีวิตคุณหรือไม่ ถ้ามี มีความจำเป็นอย่างไร สามารถหาอย่างอื่นทดแทนได้หรือไม่ ? หรือที่บ้านมีของประเภทนี้อยู่แล้วหรือไม่ ? คำถามจะช่วยให้คุณมีสติในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากยิ่งขึ้น ของฟุ่มเฟือยส่วนใหญ่ที่มักจะนิยมซื้อกันก็คือ เครื่องสำอาง เสื้อผ้า วิดีโอเกม อุปกรณ์ประดับยนต์ อาหารเสริมและยาลดน้ำหนัก รวมถึงการทานอาหารนอกบ้านเป็นประจำ เป็นต้น
มีหนี้สิน
ปัญหาใหญ่ไม่แพ้กันของการไม่มีเงินเก็บ ก็คือเรื่องของการมีหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนบ้าน หนี้ผ่อนรถ หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้สินเชื่อ ฯ ทั้งหมดนี้ก็นับเป็นค่าใช้จ่ายที่คุณต้องชำระเป็นประจำทุกเดือน สำหรับบางคน แค่ใช้หนี้สิ่งเหล่านี้ รวมกับจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ก็เหลือเงินไม่ถึง 50% ของรายได้ทั้งหมดแล้ว ยิ่งถ้าหากใช้ฟุ่มเฟือยก็ยิ่งแล้วใหญ่ นอกจากจะไม่มีเงินเก็บ ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เยอะกว่าเดิมด้วย
รายได้น้อยเกินไป
ข้อนี้ออกจะน่าเห็นใจระดับหนึ่ง บางคนทำงานเพียงคนเดียว แต่ต้องเลี้ยงครอบครัวอีก 1-2 ชีวิต ยิ่งถ้าหากมีลูกที่อยู่ในวัยต้องเข้าโรงเรียน ก็ยิ่งต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว แต่จะให้ลาออกไปหางานใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จำทนต้องทำงานเงินเดือนน้อยต่อไป แล้วไปเน้นในเรื่องของการประหยัดแบบสุด ๆ แทน อย่างไรก็ตามก็ใช่ว่าจะไม่มีทางออกเสมอไป เพราะการที่คุณมีรายได้น้อยเกิน ก็ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองได้ง่ายๆ ด้วยการทำอาชีพเสริมนั่นเอง
ลงทุนหนัก
เข้าใจว่าบางคนก็อยากมีเงินเก็บออม หรืออยากมีเงินท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว ๆ ได้เงินมาเท่าไรก็เก็บหมด เก็บจนกระทบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในแต่ละเดือน เมื่อขาดสภาพคล่อง ก็ต้องไปหยิบยืมเงินที่เก็บออมมา และสุดท้ายก็เอามาใช้จนหมด เพราะไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ ถือว่าไหน ๆ ก็ใช้ไปแล้ว ค่อยหาเอาใหม่แล้วกัน ยิ่งถ้าบางคนเอาไปลงทุนก่อน ก็มีโอกาสที่จะขาดทุน (ดอกเบี้ย) ได้สูง
วิธีแก้ไขพฤติกรรมการใช้เงินดังที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อให้มีเงินเก็บที่มากกว่าเดิม
ในกรณีที่มีหนี้สินล้นตัว ให้ดูว่าหนี้ก้อนไหนมีจำนวนน้อยที่สุด หรือนี้ก้อนไหนมีจำนวนดอกเบี้ยมากที่สุด เพื่อที่จะได้ปิดหนี้ก้อนนั้นไปก่อน โดยอาจจะเลือกการยืมเงินจากที่อื่น ที่มีดอกเบี้ยถูกกว่า และมีระยะเวลาคืนมากกว่า มาหมุนเพื่อใช้หนี้ก้อนนั้น ๆ ก็จะช่วยให้มูลค่าหนี้ต้องชำระในแต่ละเดือนลดลงได้บ้าง ทยอยทำไปเรื่อย ๆ จนปิดหนี้ได้ทุกก้อน และไม่ควรก่อหนี้ใหม่อีกต่อไป
กรณีชอบซื้อของฟุ่มเฟือย ให้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายออกมาในแต่ละเดือน ว่าเงินที่หายไปหมดไปกับค่าอะไรบ้าง แล้วทำบัญชีแยกออกมา จะเห็นเงินจำนวนนี้ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ควรเพิ่มเทคนิคในเรื่องของการรอคอย เมื่อเห็นของที่ต้องการจะซื้อ ควรทิ้งระยะเวลาไว้อย่างน้อย 2-3 วันเพื่อพิจารณาว่า ยังอยากได้ของสิ่งนั้นอยู่หรือไม่
กรณีมีรายได้น้อย หากมีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ก็ควรหาอาชีพเสริมที่สามารถทำได้หลังเลิกงาน หรือให้คนในครอบครัวเป็นคนช่วย เช่น การขายของกินตามตลาดนัด หรือการขายของออนไลน์แบบไม่ต้องสต็อกของ หรือจะเลือกทำงานแบบฟรีแลนซ์ตามความถนัดของตัวเองก็ได้ เช่น รับเขียนโปรแกรม รับทำงานออกแบบ รับติดตั้งจานดาวเทียม เป็นต้น พยายามอย่าให้กระทบงานประจำ และอย่าให้หนักเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้ เพราะถ้าหากเกิดการเจ็บป่วยขึ้น นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องมากขึ้นไปอีก
กรณีลงทุนหนัก ควรเก็บออมเงินแต่พอดี ประมาณ 10-20% ของรายได้หลักในแต่ละเดือนก็เพียงพอแล้ว ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนใช้เงินเก่งและยับยั้งชั่งใจไม่ค่อยได้ ก็ให้ฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์แบบธรรมดา เพื่อไม่ให้เกิดการเสียโอกาสในการได้ดอกเบี้ยเมื่อต้องเอาเงินมาหมุนก่อน
ใครที่ทำงานมานานแต่ยังไม่มีเงินเก็บสักที ลองทำตามวิธีเหล่านี้กันดูสิ แล้วคุณจะไม่ผิดหวังแน่นอน