ถึงแม้ว่าในสมัยนี้เรื่องการเงินและการลงทุนจะเป็นเรื่องที่สามารถหาความรู้ได้อย่างง่ายดาย มีหนังสือมากมายให้เราค้นคว้า แต่บางครั้งเนื้อหาของเรื่องราวเหล่านั้นก็เยอะเกินไปจนบางคนอาจจะไม่อยากอ่าน ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าคุณแนนจะมาอธิบายเรื่องการเงินยุคใหม่กับ ซิงเกิ้ลมัม ให้คุณลดาแบบสั้นๆได้อย่างไร
คุณแนน : สวัสดีค่ะ น้องลดา วันนี้มีเรื่องอะไรหรือเปล่าเอ่ยมาหาพี่ถึงนี่เลย
คุณลดา : พี่แนน พอดีลดาเพิ่งเลิกกับแฟนไปน่ะค่ะ เลยอยากมาขอคำแนะนำบ้างว่าช่วงแรกนี้พี่จัดการชีวิตตัวเองอย่างไรบ้าง
คุณแนน : ก่อนอื่นเลยที่สำคัญก็ต้องเข้มแข็งไว้ล่ะ แต่พี่เชื่อว่าเราทำได้นะ คิดถึงลูกไว้ก่อนดีที่สุดค่ะ เพราะลูกคือแก้วตาดวงใจของเราและเขาก็คือคนเดียวที่จะเป็นแรงผลักดันให้เราได้
คุณลดา : ตอนนี้กังวลเรื่องลูกเนี่ยแหล่ะค่ะ อีก 2 ปีจะเข้าโรงเรียนแล้ว ค่าใช้จ่ายน่าจะเยอะใช้ได้เลย ลดาไม่รู้จะหาเงินให้ลูกเรียนทันมั้ย ไหนจะค่าใช้จ่ายตอนนี้อีก
คุณแนน : อย่างนี้ที่สำคัญคือการวางแผนให้ดีว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ตอนที่ลูกเข้าโรงเรียน จะใช้เงินเท่าไร่ และต้องเก็บเงินเท่าไหร่ เอาให้เคลียร์ จากนั้นก็จะได้มาเริ่มต้นบริหารการใช้จ่ายเงินและออมเงินกันค่ะ
คุณลดา : ยังไงหรอคะ จริงๆก็มีเงินเก็บอยู่นะคะ แต่ก็กลัวไม่พอเหมือนกัน
คุณแนน : ได้ทำพวกบัญชีรายรับรายจ่ายอยู่ไหมล่ะ ถ้ายังไม่ได้ทำก็เริ่มทำเลย ข้อดีของมัน คือมันทำให้เราเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่าวันๆนึงหรือเดือนนึงเราเสียเงินไปกับอะไรบ้าง พอลงรายละเอียดลงไปเราก็จะเจอพวกรายจ่ายสิ้นเปลือง เราก็หยุดรายจ่ายตรงนั้นเพื่อเอามาเก็บไว้ให้ลูกก็ได้ บางทีมันเป็นรายจ่ายที่สามารถลดได้อย่างพวกอินเทอร์เน็ตหรือค่าโทรศัพท์พวกนี้ ถ้าเราลดลงมาได้ก็ลดลงมา เช่น จากโปรโมชั่น 500 บาท เราก็ลดลงมาใช้โปรโมชั่น 300 บาท เป็นต้น
บางทีพวกประกันก็สำคัญนะแต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าน้องลดาหรือลูกเราป่วยบ่อยไหมถ้าป่วยบ่อยๆก็เอาที่ครอบคลุมหลายๆโรคหน่อยก็ได้ หรือจะเอาแบบประกันที่มีทั้งการลงทุนและคุ้มครองสุขภาพไปในตัวด้วยก็ได้ ถ้าเราต้องเสียภาษีด้วยก็เอาอันนี้ประกันภัยนี่ล่ะมาลดหย่อนภาษี แล้วตอนที่ยังอยู่กับแฟนนี่เรื่องค่าใช้จ่ายในบ้านแบ่งกันยังไงหรอ
คุณลดา : แฟนจ่ายค่าบ้านค่ารถยนต์ค่ะ แต่ตอนนี้บ้านหมดแล้วแต่เป็นชื่อของลดา ส่วนรถยนต์แฟนเอาไปค่ะ ส่วนลดานี่ใช้จ่ายในบ้านค่ะ
คุณแนน : ก็ยังดีนะ หมดห่วงเรื่องบ้านไปหนึ่ง อย่างนั้นก็สบายเลยล่ะ เพราะค่าใช้จ่ายในบ้านเป็นของเราอยู่แล้ว แถมน่าจะลดลงด้วย เงินส่วนต่างก็เอามาเก็บไว้ล่ะกัน เออ เมื่อกี้บอกว่ามีเงินเก็บอยู่บ้าง พี่ว่ารอให้มีเงินมากขึ้นอีกนิด เอาเงินไปลงทุนอื่นๆเพื่อสร้างเงินบ้างก็ดีนะ ทิ้งเงินไว้เฉยๆมูลค่าเงินมันก็ลดลงเรื่อยๆ สู้เอาไปลงทุนให้มันสร้างเงินได้จะดีกว่า เดี๋ยวนี้การลงทุนก็มีอยู่หลากหลายเหมือนกัน แค่เลือกการลงทุนให้เหมาะกับตัวเองที่สุดก็พอแล้ว
คุณลดา : ลดาก็มองเรื่องเล่นหุ้นอยู่นะคะ แต่ไม่รู้จะไปทางไหนดี
คุณแนน : อันนี้พี่ว่าเราต้องโบรกเกอร์มาดูแลแล้วล่ะ พี่ก็ไม่ค่อยสันทัดแฮะ เดี๋ยวกลับมาเรื่องเงินเก็บก่อน ถึงพี่จะบอกว่าเอาเงินไปลงทุนก็ดี แต่อย่าลืมนะว่าเวลาเราเอาเงินไปลงทุนแล้ว เราจะดึงเงินกลับมาได้ยาก ดังนั้นเวลาที่แบ่งเงิน เราต้องแบ่งเงินเป็น 4 ส่วนนะ ส่วนแรกเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ส่วนที่สองเป็นค่าใช้จ่ายในเวลาฉุกเฉินที่เราสามารถดึงออกมาใช้ได้ใน เวลาที่จำเป็นจริงๆ ส่วนที่สามเงินในอนาคตที่เราจะใช้ พวกค่าใช้จ่ายเวลาส่งลูกเข้าเรียนจะเอามาใส่ตรงนี้ก็ได้ เหมือนเป็นเงินสำหรับการใช้จ่ายในอนาคต อาจจะค่อยๆฝากไปหรือดึงเงินในส่วนที่สองมาเพิ่มก็ได้ ส่วนที่สี่คือเงินสำหรับลงทุน ใครที่แน่ใจว่าเงินสามส่วนแรกแบ่งไว้ใช้จ่ายได้พอดีแล้ว ก็ค่อยเอามาใส่ตรงนี้ เพราะเงินในการลงทุนนั้นเป็นเงินที่เราถอนนอกมาได้ยาก จึงต้องเป็นเงินที่เราไม่ต้องใช้นั่นเอง
คุณลดา : รายละเอียดเยอะเหมือนกันนะคะเนี่ย ถ้ายังไงเดี๋ยวลดากลับมาเริ่มทำบัญชีรายรัยรายจ่ายก่อนดีกว่า แล้วถ้าสงสัยอะไรจะกลับมาถามพี่แนนอีกนะคะ ขอบคุณนะคะพี่
คุณแนน : จ้าไม่เป็นไรจ้า มีอะไรให้ช่วยก็บอกนะ เมื่อต้องกลายมาเป็น ซิงเกิ้ลมัม การบริหารค่าใช้จ่ายให้พอใช้ในแต่ละเดือนทั้งตัวคุณและค่าเลี้ยงดูลูกนั้น ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลย เพียงแต่ตั้งสติและหันมาเริ่มจัดการค่าใช้จ่ายเสียใหม่ บริหารรายได้ออกเป็นส่วนๆ และที่สำคัญคือส่วนของเงินออมห้ามลืมเด็ดขาด เพราะเงินส่วนนี้จะเป็นเงินสำรองในอนาคตที่คุณสามารถนำออกมาใช้ในยามฉุกเฉินได้นันเอง เพราะฉะนั้นใครที่เป็นซิงเกิ้ลมัมหรือเพิ่งจะกลายเป็นซิงเกิ้ลมัมอย่าเพิ่งกังวลไป มาเริ่มจัดการกับปัญหาการเงินของตัวเองเพื่ออนาคตของลูกกันดีกว่า