ค่านิยมของคนในสมัยนี้ที่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่รู้จักค่าของเงิน ทำให้เกิดการสร้างหนี้ จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนนิสัยนั้นก็เป็นเรื่องที่ยากไปเสียแล้ว อย่างที่โบราณกล่าวไว้ว่าไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก แต่เราสามารถแก้ปัญหาการใช้จ่ายเกินความจำเป็นได้ที่ต้นเหตุ โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัวนั่นเอง
เงินนั้นไม่ได้หาได้ง่ายๆ แต่มักจะออกจากกระเป๋าเราไปอย่างไม่ยากเย็น พ่อแม่ควรสอนและปลูกฝังนั่นก็คือ ‘การรู้คุณค่าของเงิน’ เพื่อให้ลูกของเราใช้เงินเป็น โดยเริ่มจากสอนให้ลูกรู้จักการวางแผนการเงิน อย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้
1. เริ่มต้นฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบขั้นพื้นฐาน
ด้วยการกำหนดเงินค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสมให้กับลูกในระยะเวลาที่ตกลงกัน เช่น เริ่มจากให้เงินเป็นรายสัปดาห์ และค่อยๆเพิ่มระยะเวลาออกไปเป็นรายเดือนเมื่อลูกโตพอจะสามารถบริหารเงินของตัวเองได้ หากลูกไม่สามารถจัดสรรค่าใช้จ่ายได้ตามกำหนด เช่น ใช้เงินรายสัปดาห์ไม่พอ ให้เพิ่มก็ไม่พอ วิธีการแก้ปัญหาคือ ให้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อดูว่าใช้จ่ายเกินในส่วนใด แล้วปรับการใช้จ่ายเพื่อให้สามารถบริหารเงินได้เองในภายหลัง
2. การพาลูกไปซื้อของด้วย
นอกจากจะเป็นการสอนลูกให้รู้จักเปรียบเทียบราคาสินค้า และให้รู้จักบริหารเงินที่มีอยู่จำกัดแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังการเลือกซื้อของอย่างชาญฉลาดอีกด้วย เพราะการซื้อของอย่างคุ้มค่านั้น ไม่ใช่ว่าเลือกแต่ของที่มีราคาถูก แต่เรายังต้องพิจารณาคุณภาพ และปริมาณเพื่อประกอบการตัดสินใจ หากเลือกซื้อของถูกแต่ไม่มีคุณภาพมา ก็จะใช้ไม่ได้นานหรือเสื่อมสภาพไวต้องซื้อใหม่อยู่บ่อยๆ เมื่อรวมแล้ว อาจแพงกว่าซื้อของที่มีคุณภาพในราคาที่สูงกว่าตั้งแต่ต้น ที่สำคัญพ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้สอนให้ลูกรู้จักแยกแยะ ‘ความอยาก’ และ ‘ความจำเป็น’ เพราเด็กมักจะแยกแยะสองสิ่งนี้ไม่ออก คิดว่าสิ่งที่อยากได้คือสิ่งที่จำเป็นไปเสียหมด พ่อแม่จึงต้องคอยสอน
3. ชมเมื่อลูกทำดี
เมื่อลูกทำดีรางวัลที่ดีที่สุดสำหรับลูกอาจไม่ใช่ของขวัญราคาแพง แต่เป็นความรู้สึกที่ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับพ่อแม่ คำชม รอยยิ้ม และอ้อมกอดของพ่อแม่นั้นมีความหมาย เพราะเป็นการแสดงถึงการยอมรับในตัวลูกอย่างชัดเจนและอบอุ่น ทั้งนี้รางวัลอาจเป็นสิ่งที่คนในครอบครัวได้รับร่วมกัน เช่น ไปรับประทานอาหารมื้อพิเศษ หรือไปเที่ยวกันทั้งครอบครัว ส่วนของขวัญที่เป็นสิ่งของนั้น อาจให้เป็นครั้งคราว แต่ไม่ควรให้บ่อย และไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงเสมอไป เพราะอาจเป็นการปลูกฝังให้ลูกยึดติดกับวัตถุ ทำดีเพื่อแลกกับสิ่งตอบแทนได้
4. อย่าตามใจลูกมากจนเกินไป
แม้สิ่งที่ลูกอยากได้จะไม่ได้ใหญ่โต หรือมีราคาแพงเกินกำลังของพ่อแม่ จะควักกระเป๋าซื้อให้ก็คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่การตามใจลูกไปเสียหมดจะเพาะนิสัยเอาแต่ใจ อยากได้ต้องได้ สิ่งที่ควรทำคือการสอนให้ลูกรู้จักเก็บออมเพื่อซื้อของที่ต้องการมากกว่า โดยอาจเริ่มจากการตกลงกันว่าพ่อแม่จะออกเงินให้ครึ่งหนึ่ง ส่วนลูกต้องเก็บเงินเองอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการปลูกฝังให้ลูกรู้จักอดออม และรู้จักคุณค่าของสิ่งของมากขึ้น
5. สอนให้รู้จักการแบ่งปัน
นอกจากจะสอนให้เขารู้จักออมเงินแล้วพ่อแม่ควรสอนให้เด็กรู้จักการแบ่งปัน เช่น หยอดตู้บริจาคทำบุญ หรือเก็บเงินเล็กๆน้อยๆเพื่อซื้อของขวัญให้ญาติในโอกาสพิเศษ ของขวัญอาจไม่ได้มีมูลค่ามาก แต่สิ่งสำคัญคือการสอนให้เขารู้ว่า นอกจากการออมเงินจะสร้างความสุขให้กับตนเองได้แล้ว ยังสามารถสร้างความสุขให้ผู้อื่นได้เช่นกัน
นี่คือเทคนิคในการสอนให้ลูกรู้จัก การใช้เงิน ได้เป็นอย่างดีพ่อแม่ต้องเริ่มสอนให้ลูกรู้จักการเก็บเงิน รู้คุณค่าของเงิน เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาลูกก็จะกลายเป็นคนที่มีคุณภาพไม่ใช้จ่ายเกินตัว