ทองคำ ของสะสมที่มีคุณค่าทั้งทางมูลค่าและจิตใจ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ชีวิตของมนุษย์ผูกพันกับทองคำมาโดยตลอด จนในบางครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่าทองนั้นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราตังแต่เกิดเลยทีเดียว
ในวันที่เราเกิด บางครอบครัวโดยเฉพาะผู้ที่มีเชื้อสายจีน จะมอบทองคำให้เป็นของรับขวัญ เพื่อให้ชีวิตมีแต่สิ่งดีดีเข้ามา พอเข้าสู่วัยรุ่นและวัยทำงาน เราก็จะใช้ทองคำเป็นเครื่องประดับ เช่น ต่างหู แหวน สร้อยคอ พอถึงในวันแต่งงานก็จะใช้ทองคำเป็นของขวัญของหมั่นเพื่อการสู่ขอ เมื่อต้องการใช้เงินเพื่อทำธุรกิจ เราก็ยังสามารถนำทองคำไปขายเพื่อนำเงินมาใช้ก่อนได้ด้วย
เริ่มเห็นความสัมพันธ์ของทองคำกับชีวิตของเราเพิ่มมากขึ้นหรือยัง.. วันนี้เรามารู้จักทองคำในรูปแบบของสินทรัพย์สะสมกัน
รู้จัก “ทอง”
มนุษย์รู้จักทองคำมาตั้งแต่ประมาณ 5,000 ปี ทองคำเป็นธาตุโลหะทรานซิชัน สีเหลืองทองมันวาวเนื้ออ่อนนุ่ม มีความอ่อนตัวสูง สามารถยืดและตีเป็นแผ่นได้บางมาก น้ำหนักทองประมาณ 2 บาท จะสามารถยืดออกเป็นเส้นลวดได้ยาวถึง 8 กิโลเมตร หรืออาจตีเป็นแผ่นบางได้ถึง 100 ตารางฟุต ด้วยคุณสมบัติของทองคำที่ ได้แก่ ความมันวาว คงทนถาวร เป็นแร่ที่หายาก และสามารถนำมาขึ้นรูปใหม่ได้ตามต้องการ จึงเป็นโลหะโดดเด่นกว่าโลหะประเภทอื่น และกลายเป็นสินค้ามีมูลค่า ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากทองคำเป็นโลหะที่มีความอ่อนตัวสูง จึงจำเป็นต้องมีการผสมโลหะอื่นๆ เพื่อให้เนื้อแข็งและคงรูปได้ดีขึ้น โดยโลหะที่นิยมนำมาผสมกับทองคำ ได้แก่ เงิน ทองแดง นิกเกล และสังกะสี ซึ่งอัตราส่วนจะขึ้นอยู่กับสูตรของผู้ผลิตทองแต่ละราย บางรายอาจผสมทองแดงในสัดส่วนที่มาก เพื่อให้สีของทองออกมามีสีอมแดง หรือบางรายอาจชอบให้ทองมีสีเหลืองขาวก็จะผสมเงิน เพื่อให้สีอ่อนลง แต่ไม่ว่าจะผสมอย่างไรก็จะต้องให้ทองนั้นๆ ได้ความบริสุทธิ์ของทองเท่ากับ 96.5 % ตามเกณฑ์มาตรฐาน
คุณภาพ “ทองไทย”
ในการกำหนดคุณภาพทองคำในประเทศไทย เราใช้มาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำเท่ากับ 96.5% หรือ 23.16 กะรัต หรือ 24 กะรัต หากมีโลหะอื่นผสมอยู่มาก ความบริสุทธิ์ของทองคำก็จะลดต่ำลงมา เราก็จะเรียกทองเหล่านั้นตามเนื้อทองบริสุทธิ์ที่ผสมอยู่ เช่น ทอง 14 กะรัต หรือทอง K หมายถึง ทองที่มีเนื้อทองบริสุทธิ์ 14 ส่วน และมีโลหะอื่นเจือปน 10 ส่วน เป็นต้น
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการแบ่งเกรดทองคำตามส่วนผสมที่ใช้ผสมในทอง ซึ่งจะทำให้ทองมีสีที่แตกต่างกัน และส่งผลให้ราคาแตกต่างกันด้วย โดยการเรียกจะเริ่มต้นตั้งแต่ทองเนื้อสี่ ถึงทองเนื้อเก้า ในสมัยนั้นทองเนื้อสี่ น้ำหนัก 1 บาท จะมีราคา 4 บาท จนถึงทองเนื้อเก้า ซึ่งเป็นทองที่บริสุทธิ์ที่สุด มีราคาบาทละ 9 บาท เป็นต้น
การกำหนดราคาและตีมูลค่าทองคำ
ทองคำ แบ่งออกเป็น ทองคำแท่ง และทองรูปพรรณ โดยกรรมวิธีการผลิตจะแตกต่างกัน ทำให้มูลค่าและราคาแตกต่างกันไปด้วย ปัจจัยในการกำหนดราคา มีดังนี้
ทองคำแท่ง :
วัตถุประสงค์หลักของการซื้อทองคำแท่ง คือ เพื่อสะสม เพื่อลงทุน และเพื่อเป็นของที่ระลึก ทองคำแท่งในปัจจุบันร้านทองจะผลิตขนาด และรูปแบบต่างๆ มีตั้งแต่ขนาด 5 หุน(ครึ่งสลึง), 1 สลึง, 2 สลึง, 1 บาท, 2 บาท, 5 บาท , 10 บาท ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการ
ในการกำหนดราคาสำหรับทองคำแท่งจะมีการเรียกเก็บ ค่าบล็อค ในการผลิต ซึ่งแต่ละร้านก็จะคิดค่าบล็อคแตกต่างกันไป โดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 50 – 100 บาท ต่อบาททองคำ แต่หากร้านทองอยู่ไกลจากแหล่งผลิต ก็อาจจะแพงขึ้นตามความเหมาะสม ซึ่งหมายความว่า ราคาทองคำแท่ง 1 บาท จะประกอบไปด้วย ค่าทองคำ และค่าบล็อกการผลิตนั่นเอง
ทองรูปพรรณ :
คือ การนำทองคำมาขึ้นรูป หรือผลิตในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดความสวยงาม และเป็นชิ้นงานที่ต้องการ เช่น สร้อย แหวน ต่างหู กำไลข้อมือ ข้อเท้า เป็นต้น ในการผลิตซึ่งมีขั้นตอนและความยุ่งยาก ทำให้ในการกำหนดราคา ทางร้านจะคิดค่าผลิตในราคาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของชิ้นงานนั้นๆ ค่าแรงหรือค่าจ้างผลิตดังกล่าวเราเรียกว่า “ค่ากำเหน็จ ”
ซึ่งปัจจุบันค่ากำเหน็จอยู่ที่ 700 – 2,000 บาท ต่อน้ำหนักทอง 1 บาท เช่น ซื้อสร้อยคอ 1 เส้น ทองรูปพรรณ ณ วันนั้น ราคาบาทละ 18,650 บาท ค่ากำเหน็จ 1,000 บาท เท่ากับว่าเราจะซื้อสร้อยทองเป็นเงิน 19,650 บาท ในขณะที่ถ้าเราซื้อทองคำแท่ง 1 บาท ราคาณ วันนั้น อยู่ที่ 18,250 บาท จะไม่เสียค่ากำเหน็จ แต่จะเสียค่าบล็อกประมาณ 100 บาท ซึ่งจะถูกกว่าทองรูปพรรณ
ดังนั้นในการ ซื้อขายทองคำ ควรเลือกประเภทตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ถ้าจะนำมาใช้เป็นเครื่องประดับก็ต้องยอมเสียเงินที่แพงกว่า เพื่อให้ได้รูปแบบที่สวยงามตามต้องการ แต่ถ้าต้องการซื้อเก็บหรือลงทุน ก็ควรเลือกเป็นทองคำแท่ง จะได้ทองที่ราคาถูกไม่ต้องเสียค่ากำเหน็จ