การจะคาดคะเนหรือพิจารณาว่าธุรกิจไหนจะดำเนินการได้ด้วยดี ก็คงไม่พ้นต้องดูกันที่กระแสเงินสดที่เป็นยุทธปัจจัยหลักของการบริหารจัดการธุรกิจค่ะ มีกิจการหลาย ๆ แห่งนะคะที่มียอดรายรับและควบคุมรายจ่ายได้เป็นอย่างดี แต่ว่าไปพลาดไม่ทันได้สนใจในเรื่องของเงินสดหมุนเวียน หรือ กระแสเงินสด ที่เป็นตัววัดสภาพคล่องทางการเงินของกิจการนั้น ๆ ค่ะ
สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องไม่ลืมก็คือว่า จำนวนลูกค้าที่มีมากขึ้น หรือ ใบสั่งซื้อสินค้าที่มีเข้ามามากมายทุก ๆ วัน นั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีเงินสดอยู่ในมือมากอย่างนั้นหรอกนะคะ เพราะในการซื้อขายในปัจจุบัน ลูกค้าต่าง ๆ ก็ยังคงนิยมเลือกซื้อสินค้าและชำระเงินแบบผ่อนส่ง คือ ครบกำหนดแล้วค่อยจ่ายออกไป และก็มีลูกค้าบางกลุ่มที่จ่ายช้าเกินกำหนดไปมาก ๆ และนี่คือปัญหาลูกหนี้การค้าที่ร้องเตือนผู้ประกอบการว่า มีบางอย่างต้องเร่งแก้ไขก่อนที่ไฟจะลามทุ่งค่ะ แต่เพราะการแข่งขันทางการค้าที่สูงมากขึ้นทุกวัน เมื่อลูกค้าผิดนัดชำระ เราก็ต้องคิดหาทางติดตามเงินกลับมาด้วยวิธีที่บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุนกันบ้างค่ะ อย่างน้อย ๆ ก็ต้องรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจกันไว้บ้าง จริงมั๊ยค่ะ
วิธีทวงเงินที่จะช่วยให้ลูกค้าชำระเงินให้คุณเร็วขึ้น
- วิธีที่ 1 ก็คือ มอบส่วนลดค่าสินค้าหรือบริการให้ เมื่อลูกค้าชำระเงินก่อนกำหนดค่ะ โดยคุณอาจจะพิมพ์ส่วนลดนี้ไปในใบแจ้งหนี้ หรือ ใบคำสั่งซื้อก็ได้ค่ะ ว่าถ้าลูกค้าชำระเร็วกว่า 15 วันจะได้รับส่วนลดค่าสินค้าหรือบริการกี่เปอร์เซ็นต์ค่ะ เพราะโดยส่วนใหญ่ในกลุ่มลูกค้าที่มีสภาพคล่องทางการเงิน เมื่อเห็นข้อเสนอที่เป็นส่วนลดพิเศษอย่างนี้ก็จะเคลียร์บัญชีให้เพื่อผลตอบแทนที่เป็นส่วนลดค่ะ บางครั้งการที่คุณยอมให้ส่วนลดราคาไปบ้าง เพื่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบดีขึ้น และสามารถนำเงินนี้ไปใช้ลงทุนอย่างอื่นต่อได้ ก็อาจจะให้ประโยชน์กับกิจการมากกว่านะคะ
- วิธีที่ 2 ก็คือ ใช้เทคโนโลยีออนไลน์เข้าช่วย เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทุกวันนี้โลกการค้ากับโลกออนไลน์แทบจะกลายเป็นส่วนเดียวกัน การนำระบบชำระเงินออนไลน์เข้ามาเป็นผู้ช่วยจึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะไม่เพียงอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าแล้ว การที่ลูกค้าผูกบัญชีไว้กับธนาคารทำให้เงินในบัญชีถูกตัดออกมาชำระผ่านเข้าบัญชีธุรกิจของคุณได้อัตโนมัติตรงตามเวลาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอนด้วยค่ะ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ในการจัดการด้านการเงินของทั้งฝั่งเราและก็ฝั่งของลูกค้าด้วยค่ะ สบายใจทั้ง 2 ฝ่ายนะคะ
- วิธีที่ 3 หยอดทีละนิด แต่ทวงกันบ่อย ๆ วิธีนี้ทางเจ้าของธุรกิจอาจจะต้องพิจารณาและสังเกตพฤติกรรมการชำระเงินของลูกค้าประกอบกันไปด้วยค่ะ เพราะลูกค้าบางรายพอเห็นใบแจ้งหนี้ยอดรวมหลักแสนบาทขึ้นมา ก็มักจะขอประวิงเวลาไม่ค่อยยอมชำระตามกำหนด และบางครั้งอาจจะจ่ายช้านานกว่า 30 วันก็ได้ค่ะ แต่ถ้าเป็นใบแจ้งหนี้ที่มียอดรวมอยู่ที่หลัก 30,000 – 40,000 บาท กลับไม่มีปัญหาในการชำระเงินเลยสักนิดค่ะ ดังนั้นถ้าคุณ ๆ เจอลูกค้าลักษณะนี้ก็ทยอยออกใบแจ้งหนี้ หรือไม่ก็เรียกเก็บเงินต่อใบให้ยอดเงินน้อยลงมาหน่อยค่ะ ก็จะช่วยให้ลูกค้ามีความสามารถในการชำระเงินได้ตามกำหนด หรือถ้าใบแจ้งหนี้ยอดสูงมาก ๆ ก็อาจจะให้ใช้วิธีแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ ได้ค่ะ เท่านี้คุณก็จะไม่มีหนี้การค้าจากลูกค้าลักษณะนี้แล้วค่ะ
- วิธีที่ 4 ก็คือ สื่อสารกับลูกค้าอย่างตรงไปตรงมาเรื่องระบบการชำระเงินของคุณ บ่อยครั้งที่การรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองทางการค้ามักจะทำให้เราพบกับทางออกที่บังตาอยู่ จะดีกว่าหรือเปล่า ถ้าคุณจะหันหน้ามาพูดคุยกับลูกค้าของคุณอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องของการชำระเงินตั้งแต่เริ่มทำการค้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวันครบกำหนดชำระเงิน, ดอกเบี้ยจากการชำระเงินล่าช้า หรือ ส่วนลดหากชำระก่อนกำหนด หรือ ช่องทางการชำระเงินต่าง ๆ ค่ะ โดยคุณอาจจะบอกกับลูกหนี้ของคุณไปด้วยเลยก็ได้ว่า คุณเองก็มีเจ้าหนี้ที่ต้องนำเงินไปจ่ายให้เขาเหมือนกัน และกรณีที่ลูกค้าไม่ชำระเงินเราตามกำหนด เราเองก็ได้รับผลกระทบอะไรกันบ้าง ซึ่งถ้าเป็นคู่ค้าที่ดีต่อกัน โดยมากก็จะเข้าใจและร่วมกันหาทางออกได้ไม่ยากค่ะ
- และสุดท้ายวิธีที่ 5 “มัดจำมางานเดิน” นั่นก็คือ ในบางกรณีและกับลูกค้าบางกลุ่มที่คุณ ๆ เดินงานให้ไปแล้วกว่า 50% แต่ยอดเงินที่ควรจะต้องชำระตามกำหนดก็ยังคงไร้วี่แวว ถ้าเป็นอย่างนี้ เห็นทีคุณ ๆ คงจะต้องชะลองานผลิตของลูกค้ารายนี้ไปก่อน และก็แจ้งกลับทางลูกค้าไปเลยว่าจะต้องจ่ายล่วงหน้า หรือ จ่ายเงินส่วนที่เหลือมาก่อน ไม่อย่างนั้นก็คงจะผลิตให้ต่อไม่ได้ค่ะ วิธีนี้จะเป็นตัวช่วยกดดันให้ลูกค้าเร่งการชำระเงินมาให้คุณค่ะ แต่ในอีกแง่หนึ่งที่งัดเอาเรื่องถ่วงเวลาผลิตสินค้าก็ออกจะแรงไปบ้าง การใช้วิธีทวงเงินรูปแบบนี้จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าได้ค่ะ คุณ ๆ ควรเก็บไว้เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อวิธีการอย่างอื่นใช้ไม่ได้ผลแล้วนะคะ