ในการทำธุรกิจการค้านั้น เงินคือกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้ธุรกิจนั้น ๆ ก้าวเดินไปข้างหน้า หรือ หยุดชะงักหงายเงิบลงก็ได้เช่นกันค่ะ การที่กิจการมีเงินตุงเต็มระบบก็เหมือนกับมีเครื่องช่วยหายใจให้ธุรกิจขยับขยายได้เต็มกำลัง และแหล่งที่มาของเงินทุนในการทำธุรกิจที่ทั้งผู้ประกอบการรายเก่า, รายใหม่, รายเล็ก หรือ รายใหญ่ ๆ ต่างก็นึกถึงและพึ่งพานั้นก็คงไม่พ้นการกู้สินเชื่อ หรือ กู้เงินจากสถาบันการเงินและธนาคารต่าง ๆ นั่นเองค่ะ และการกู้เงินมาทำทุนก็เอื้อประโยชน์มากกว่าการนำเงินของตัวเองออกมาแน่นอนค่ะ
แต่ก็ไม่มีอะไรสามารถมารับรองได้หรอกนะคะว่าเงินที่คุณกู้ยืมออกมานั้นจะนำมาแต่ผลกำไรให้คุณค่ะ และถ้าเกิดคุณพลั้งพลาดในการบริหารจัดการเงิน ก็อาจจะทำ ธุรกิจขาดทุน กลายเป็นหนี้ก้อนโตที่ต้องแบกภาระขาดสภาพคล่องจนต้องตกเป็นหนี้การค้าที่ไม่สามารถจ่ายชำระเงินให้เจ้าหนี้ตามกำหนดเวลาก็ได้ค่ะ สำหรับคุณ ๆ ที่เผชิญปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงินอยู่ในตอนนี้ ก็ลองนำแนวทางต่อไปนี้ไปประยุกต์ใช้กับกรณีของคุณดูนะคะ
แนวทางแรกที่แนะนำก่อนเลยก็คือ ให้คุณเลือกที่จะเจรจาขอประนีประนอมกับทางเจ้าหนี้ของคุณ ค่ะ
โดยคุณเจ้าของกิจการจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หนี้สินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้นเกิดจากความผิดพลาดของตนเองและตัวเจ้าของกิจการก็ต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินที่เกิดขึ้นค่ะ และทุกปัญหาก็จะคลี่คลายลงได้ด้วยการหันหน้ามาพูดคุยเจรจากันค่ะ หลัก ๆ ที่คุณลูกหนี้จะต้องขอประนีประนอมกับเจ้าหนี้ก็คือ การขอขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป, การขอพักดอกเบี้ย หรือ ขอลดจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยค่ะ การเปิดใจที่จะหาทางออกเพื่อชำระเงินให้กัน ย่อมต้องดีกว่าการหนีหน้าแน่นอนค่ะ และเมื่อคุณลูกหนี้แสดงเจตนาที่จะชำระหนี้ชัดเจนอย่างนี้ เรื่องก็จะไม่ลุกลามไปถึงขั้นตอนทางกฎหมายให้คุณ ๆ ต้องเสียชื่อเสียเครดิตไปตลอดแน่นอนค่ะ
แนวทางที่ 2 ก็คือ ชดเชยค่าปรับ ค่ะ
เมื่อคุณผู้ประกอบการไม่มีเงินมากพอที่จะมาชำระหนี้ได้ตามจำนวนและระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ การยอมรับในจุดนี้และเสียค่าปรับผิดนัดชำระตามอัตราที่กำหนดเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอยู่แล้วค่ะ ซึ่งเป็นที่รู้กันอีกเช่นกันว่า ค่าเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระนั้นถือว่าคิดคำนวณในอัตราที่สูงมาก ๆ ค่ะ คุณผู้ประกอบการจึงควรบันทึกรายจ่ายหนี้ทั้งหมดออกมาและค่อย ๆ บริหารจัดการหนี้ทีละก้อน โดยดูจากหนี้ก้อนใหญ่ที่สุด และ หนี้ที่คิดดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อนเลยค่ะ
แนวทางที่ 3เดินหน้าคุยกับทางสถาบันการเงิน
ในภาวะที่สภาพคล่องทางการเงินติดขัดอยู่นั้น จะให้คุณผู้ประกอบการชำระยอดเต็มจำนวนคงเป็นเรื่องที่ยากเกินไป ถ้าคุณ ๆ กำลังตกที่นั่งลำบากอย่างนี้ ขอแนะนำให้เดินหน้าคุยกับทางสถาบันการเงิน หรือธนาคารที่ดูแลเรื่องนี้เพื่อยื่นความประสงค์ขอเจรจาพักชำระเงินเต็มจำนวนและยื่นขอชำระในส่วนของดอกเบี้ยทดแทนเงินต้นที่ต้องชำระก่อนค่ะแต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินเป็นหลักค่ะ ยังไงซะวิธีนี้ก็ยังดีกว่าการที่คุณเพิกเฉยไม่ติดต่อขอเจรจาอะไรกับเขาเลยนะคะ
แนวทางที่ 4 คือ ขอขยายเวลาการชำระหนี้ หรือที่เราคุ้นหูกันว่า Extension ค่ะ
วิธีนี้นับว่าเป็นทางเลือกที่มีคนใช้กันมากอยู่นะคะ โดยคุณลูกหนี้หรือผู้ประกอบการควรที่จะเข้าไปติดต่อขอเจรจาขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามที่คุณสะดวกและมีกำลังชำระได้จริง ๆ ด้วยตัวเองค่ะ จุดนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะคุณลูกหนี้จะได้รับรู้โครงสร้างหนี้ของตนเองและสามารถนำไปปรับแก้ให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินขึ้นได้อีกด้วยค่ะ แต่ก็เช่นกันคือต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินเสียก่อน และก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะโดยส่วนใหญ่เจ้าหนี้มักจะไม่ขัดข้องกับการขยายเวลาชำระเงินเนื่องจากยังไงเจ้าหนี้ก็ได้รับเงินกู้ยืมครบจำนวนอยู่ดีแล้วก็ยังได้เพิ่มในส่วนของดอกเบี้ยแถมมาอีกด้วยค่ะ สบาย ๆ ค่ะ
มาถึงแนวทางที่ 5 คือ รีไฟแนนซ์ หรือ Refinance นั่นเองค่ะ
ในบางกรณีภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินของคุณผู้ประกอบการก็อาจจะมาจากมีสัญญากู้เงินที่ตึงมากจนเกินไป การรีไฟแนนซ์จึงเป็นการคลายปมออกให้พอดีและเป็นทางเลือกที่น่าสนใจค่ะ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคิดพิจารณาให้ดีก็คือเปรียบเทียบสัญญาฉบับปัจจุบันกับข้อเสนอใหม่ที่ได้รับจากสถาบันการเงินต่าง ๆ และรวมไปถึงสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ในขณะนั้นด้วยค่ะ แล้วค่อยเลือกสถาบันการเงินที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุดซึ่งข้อเสนอนั้นควรช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่ต้องลดลงทั้งจากสัญญาเงินกู้เดิมและสัญญาฉบับใหม่ด้วยค่ะ ลองเทียบดูว่าคุ้มค่ากับการรีไฟแนนซ์หรือเปล่า แล้วก็อย่าลืมคิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรีไฟแนนซ์ด้วยนะคะ แต่ถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถเจรจาหรือหาวิธีชำระหนี้ได้เลย ก็อาจจะต้องเลือกวิธีต่อไป คือ
วิธีที่ 6 นั่นก็คือ การยอมแลกหุ้นและสิทธิในการบริหารกิจการนั้น ๆ ค่ะ
แต่ก็เป็นไปได้ว่าเจ้าหนี้ต้องพิจารณาเปรียบเทียบดูก่อนระหว่างความคุ้มค่าในการเข้ามาถือหุ้นในกิจการนั้น ๆ กับเม็ดเงินทุนที่ลงไปก่อนหน้านี้ค่ะ ซึ่งอย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการก็ควรลองยื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยนหุ้นเพื่อชดเชยหนี้สินไปก่อนค่ะ และถ้าทุกแนวทางกลับกลายเป็นทางตัน การเลือกปิดกิจการและนำทรัพย์สินมาขายทอดตลาดเพื่อปลดหนี้ก็เป็นทางออกที่ดีที่สุดค่ะ