สังคมในปัจจุบันนี้ด้วยเทคโนโลยีของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้ทุกการโอนเงิน จ่ายเงินเป็นเรื่องง่าย ทั้งบัตรเครดิตและธนาคารทางอินเทอร์เน็ตหรือ Mobile Banking ต่าง ๆ ซึ่งทำให้ผู้คนมีความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินเป็นอย่างมาก แดดจะออกฝนจะตกก็ไม่ต้องไปธนาคารเอง แค่สั่งการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต มีข้อดีที่เห็นได้ชัดก็คือไม่ต้องเสียเวลาไปเข้าคิวและปลอดภัยกว่าในแง่กายภาพแต่ทางออนไลน์กลับต้องระวังมากขึ้น
หลาย ๆ ครั้งเพราะอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งนี่เองที่ทำให้คนเราสูญเงินไปได้ง่าย ๆ ถูกหลอกโอนเงิน เพราะมิจฉาชีพ ในบทความนี้จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ที่ทุกคนควรจะระมัดระวังไว้ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อการล่อลวงด้วยวิธีต่าง ๆ
เทคนิคการล่อลวงเบื้องต้นมักจะใช้วิธีการสวมรอย ปลอมแปลงและดักจับข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างรอบคอบจะช่วยให้คุณปลอดภัยจากการ ถูกหลอกโอนเงิน โจรกรรมทางเทคโนโลยี ลองมาดูกันว่ามีข้อพิจารณาอย่างไรกันบ้าง
คุณเข้าหน้าเว็บไซต์ธนาคารจริงหรือไม่
สมัยนี้หน้าเว็บไซต์สามารถลอกเลียนแบบกันได้ง่ายมาก เหมือนกันทุกพิกเซลเลยก็ว่าได้ มิจฉาชีพมักจะสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมาเพื่อล่อลวงเหยื่อ หลังจากนั้นจะส่ง Email ไปแจ้งเหยื่อว่าแอคเคานท์ถูกระงับ หรือว่ามีเรื่องด่วนด้านความปลอดภัยให้เหยื่อรีบเข้าไปตรวจสอบบัญชีตัวเองว่าเป็นอย่างไร พร้อมกับแปะ Link ทางเข้ามาไว้ให้เสร็จสรรพ วิธีนี้สามารถหลอกลวงคนได้เป็นจำนวนมาก หลาย ๆ รายที่เผลอคลิก Link ในอีเมลดังกล่าวก็จะถูกนำไปสู่หน้าเว็บไซต์ปลอม ๆ ที่หน้าตาเหมือนของธนาคาร ถ้าเหยื่อไม่เฉลียวใจและกรอกชื่อพร้อมรหัสผ่านลงไปก็เหมือนกับบอกรหัส ATM ให้กับมิจฉาชีพนั่นเอง หลังจากนั้นก็จะถูกลักลอบโอนเงินออกจากบัญชีไปอย่างไร้ร่องรอย เพราะบัญชีปลายทางมักจะเป็นพวกที่รับจ้างเปิดบัญชีและไม่สามารถสาวถึงตัวผู้กระทำผิดได้
ทางป้องกันคือต้องไม่คลิก Link ในอีเมลเพื่อการล๊อกอินไม่ว่ากรณีใดใด ให้เข้าจาก Link ที่เคย Bookmark ไว้หรือการพิมพ์ชื่อเว็บไซต์ธนาคารเองให้ถูกต้อง การใช้บราวเซอร์ที่ดีและอัพเดทอยู่เสมอจะช่วยเตือนไม่ให้เข้าไปยังเว็บไซต์ที่เข้าข่ายหลอกลวงเช่นนี้
อีกจุดหนึ่งที่น่าสังเกตคือ Green Bar และสัญลักษณ์ HTTPS ซึ่งเป็นโปรโตคอลที่ได้รับการยืนยันว่ามีการปกป้องข้อมูลดิจิตอลไม่ให้ถูกดักจับระหว่างทาง ลองสังเกตเว็บไซต์ของธนาคารจะได้รับการรับรองด้านความปลอดภัย โดยที่หัวเว็บก่อนหน้าชื่อธนาคารจะแสดงเป็นสีเขียว มีรูปแม่กุญแจและคำว่า https เป็นสีเขียว ก่อนคำว่า www. เป็นต้น ตัวอย่างเช่นธนาคารทางอินเทอร์เน็ตอย่าง PayPal หรือแม้แต่ Facebook, Google ก็มาใช้การ Verify Green Bar เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้
คุณกำลังโอนเงินไปให้ใคร
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รักการช้อปปิ้งออนไลน์ เพราะว่าสะดวก สามารถค้นหาสินค้าเพื่อเปรียบเทียบราคาได้ง่าย เมื่อถึงขั้นตอนการจ่ายเงิน คุณควรจะรู้ตัวตนของผู้รับโอนที่แน่ชัดว่ามีชื่อ-นามสกุลจริง มีร้านค้าที่มีที่อยู่และไม่มีชื่อเสียงทางลบ มีหลายครั้งที่มีคนถูกหลอกให้โอนเงินค่าสินค้าไปยังร้านค้าแต่ไม่ได้รับของก็มี เพราะว่ามีผู้อื่นแอบอ้างให้คุณจ่ายเงินแทนแต่เขาเป็นผู้รับสินค้าแทนไปแล้ว หรือบางทีเขาอาจจะแอบอ้างตัวเป็นผู้ขายเองให้คุณโอนเงินให้เขา ดังนั้นเมื่อซื้อของออนไลน์คุณควรจะรู้จักร้านผู้จำหน่ายเป็นอย่างดี โดยให้โทรสอบถามไปยังชื่อและเบอร์โทรผู้ติดต่อในเว็บไซต์เพื่อยืนยันราคาที่จะโอน ชื่อของคุณเองและที่อยู่ที่จะให้จัดส่ง ก่อนจะทำการโอนเงิน วิธีนี้เพื่อให้มั่นใจทั้งสองฝ่ายว่าคุณโอนเงินไปยังผู้ขายตัวจริงและผู้ขายจะส่งของมายังที่อยู่ของคุณเองไม่ใช่ที่อยู่คนอื่น หลังการโอนเงินให้ทำการเก็บบันทึกภาพหน้าจอและแจ้งการโอนเงินไปยังผู้ขายให้เรียบร้อยเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการโอนเงินให้แล้วและขอรับเลขส่งพัสดุเพื่อการตรวจสอบวันและเวลาจัดส่งต่อไป
ระวังการใช้อีเมล
ในย่อหน้าข้างต้นได้กล่าวเรื่อง Email ไปแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้ชื่ออีเมลของคุณถูกนำไปอยู่ในระบบของพวกที่ชอบส่งอีเมลมาสแปม ขั้นแรกคือการเลือกผู้ให้บริการอีเมลที่ไว้ใจได้ เช่น Gmail, Hotmail ที่มีระบบการกรองอีเมลที่เข้าข่ายการเป็น Phishing หรืออีเมลปลอมหลอกลวง อีเมลพวกนี้จะจดชื่อคล้าย ๆ เป็นหน่วยให้บริการของธนาคารมีตัวสะกดคล้ายกันมากต่างกันแค่เครื่องหมายจุดหรือขีด หากผู้รับไม่ได้สังเกตก็จะไม่ทราบเลยว่าเป็นอีเมลปลอม การใช้อีเมลของผู้ให้บริการระดับโลกจะช่วยกรองอีเมลขยะ สแปม ไปอยู่ในกล่อง Spam หรือ Junk โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้แล้วไม่ควรไปโพสชื่ออีเมลของคุณในบอร์ดหรือเว็บไซต์สาธารณะโดยไม่จำเป็น เพราะจะถูกโปรแกรมพวกเก็บชื่ออีเมลนำไปไว้ในฐานข้อมูลเพื่อรอการส่งอีเมลหลอกลวงหรือโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ ในอนาคต
การตั้งค่ารหัสผ่าน
เป็นเรื่องจริงที่คนเรามักตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาง่ายอย่างเหลือเชื่อ ดังนั้นคุณควรจะอ่านคำแนะนำของธนาคารเรื่องการตั้งค่ารหัสผ่านให้คาดเดาได้ยาก หลายคนนิยมตั้งวันเดือนปีเกิดหรือเลขที่บ้านหรือใช้การผสมผสานกันที่ไม่ซับซ้อน ธนาคารจะแนะนำให้ตั้งโดยมีจำนวนอักขระมากกว่า 8 ตัว โดยมีอักษรอังกฤษใหญ่ เล็ก ตัวเลข และเครื่องหมายพิเศษสลับให้แตกต่างกันไป คาดเดาได้ยาก เช่น 6&g8Ke#3 ก็เป็นรหัสผ่านที่มีความปลอดภัยสูงกว่า tim1998 เป็นต้น ที่สำคัญเมื่อตั้งแล้วพยายามจำให้ได้ ทุกครั้งที่มีการใช้รหัสผ่านเพื่อล๊อกอินเข้าหน้า Internet Banking อย่าลืมสังเกต Green Bar ที่แถบ Address ทุกครั้งตามที่แนะนำในย่อหน้าข้างต้นเพื่อให้มั่นใจว่าเรากำลังส่งข้อมูลไปยังเว็บไซต์ของธนาคารที่แท้จริง
แม้ใช้ระบบ PIN2 หรือ OTP ก็ต้องระวังให้ดี
ปกติแล้วการทำธุรกรรมทางการเงิน ธนาคารจะส่งรหัสผ่านขั้นที่ 2 มาให้ทาง SMS เสมอ ให้อ่าน SMS อย่างละเอียดว่าระบุข้อมูลถูกต้องหรือไม่ เช่น จะโอนไปที่บัญชีชื่ออะไร จำนวนเงิน รหัสตรวจสอบ ถ้าตรงกันกับหน้าเว็บไซต์จึงค่อยนำ PIN Code ไปกรอกทางหน้าเว็บ เคยมีกรณีการปลอม SMS เพื่อเปลี่ยนปลายทางผู้รับโอน ถ้าผู้ใช้งานไม่สังเกตกรอกแต่ PIN แต่ไม่อ่านใน SMS อย่างละเอียด ก็จะทำให้โอนเงินไปยังบัญชีของมิจฉาชีพได้
จำกัดวงเงิน
เพื่อเป็นการป้องกันอีกชั้นหนึ่งโดยจำกัดวงเงินไว้สำหรับบัญชีที่เชื่อมโยงกับระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ในจำนวนเงินที่คุณคิดว่าในเหตุสุดวิสัยหากโดนเจาะระบบเอาเงินไปแล้วคุณจะไม่เสียดายมากนัก ซึ่งวงเงินแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน เช่น 10,000 บาท หรือ 100,000 บาท สำหรับธนาคารที่มีบัตรเครดิตเสมือนเพื่อให้ใช้จ่ายออนไลน์ได้ ก็ควรจำกัดวงเงินการใช้บัตรต่อครั้งเช่นกัน เพื่อไม่ให้เสียหายครั้งละมาก ๆ และเจ้าของบัญชีจะได้รู้ตัวทันก่อนสายเกินไป
การระมัดระวังไม่ให้เงินของคุณถูกลักเอาไปด้วยวิธีการทางเทคโนโลยี มีส่วนช่วยในการสร้างความปลอดภัยให้กับระบบการเงินของคุณเอง ก่อนเลือกใช้เทคโนโลยีก็จำเป็นต้องรู้ถึงภัยแอบแฝงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีนั้น เมื่อหาทางป้องกันได้ตามสมควรแล้ว เงินของคุณจะได้รับการปกป้องเช่นกัน