ภาระหนี้สินบัตรเครดิตที่ตนเองเป็นผู้ก่อขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ลูกหนี้มีหน้าที่ในการชำระ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะสถาบันการเงินเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตให้ก็มีหน้าที่ในการติดตามทวงถาม หรือติดตามหนี้ค้างชำระจากลูกหนี้
โดยขั้นตอนทั่วไปที่สถาบันการเงินจะติดตามหรือการส่งจดหมายแจ้งเตือน แต่ถ้าลูกหนี้ยังคงนิ่งเฉย จะด้วยเหตุผลที่หมุนเงินไม่ทัน หรือยังไม่พร้อมจะชำระ ทางสถาบันการเงินจะดำเนินการขั้นตอนต่อไปคือ การโทรศัพท์ติดต่อไปที่ลูกหนี้ ตั้งแต่เบอร์มือถือ หรือโทรศัพท์บ้าน แต่ถ้ายังไม่รับสาย ก็จะติดต่อไปที่เบอร์โทรศัพท์ที่ทำงาน หากเจ้าหน้าที่ติดตามทวงหนี้ติดต่อไป แต่ไม่พบลูกหนี้ ก็จะทำการโทรไปใหม่อีกครั้ง แต่ถ้ายังติดต่อไม่ได้อีก ทางสถาบันการเงินจะทำการแจ้งกับบุคคลอื่นซึ่งอาจเป็นที่ทำงานที่ติดต่อไป ว่าคุณมีหนี้บัตรเครดิต ในกรณีนี้ ที่ทางสถาบันการเงินแจ้งเรื่องหนี้สินของเรากับบุคคลอื่น เราสามารถยื่นฟ้องได้หรือไม่ ?
ก่อนที่จะตอบประเด็นว่าฟ้องได้หรือไม่นั้น ลูกหนี้เมื่อมีหนี้ก็ไม่ควรที่จะหนี แต่ควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการรับสายหรือติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อขอลดหย่อนหรือเจรจาต่อรอง เพราะหากไม่สามารถชำระหรือเจรจาได้ ทางสถาบันการเงินก็มีหน้าที่ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้สินที่คงค้าง
แต่ในกรณีที่สถาบันการเงินหรือเจ้าหน้าที่ติดตามทวงหนี้แจ้งเรื่องหนี้บัตรเครดิตต่อบุคคลอื่นนั้น ลูกหนี้สามารถทำการฟ้องร้องได้ เนื่องจากผิดจรรยาบรรณ และ มี พรบ คุ้มครองผู้บริโภคอยู่ สามารถยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะสถาบันการเงินหรือเจ้าหน้าที่ติดตามทวงหนี้สามารถทำได้เพียงสอบถามข้อมูลการติดต่อลูกหนี้ได้เท่านั้น ไม่สามารถบอกเรื่องภาระหนี้สินต่อบุคคลอื่นได้ ซึ่งผิดแนวทางในการปฎิบัติติดตามทวงหนี้
อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ทำการฟ้องร้องในเรื่องนี้ ถ้าไม่ถึงขั้นเสียหายต่อวิชาชีพ เพราะถึงที่สุดแล้วการฟ้องร้องก็จะไม่จบง่ายๆ เพราะสถาบันการเงินก็จะยื่นฟ้องกลับทันที เนื่องจาก ลูกหนี้มีหนี้สินค้างชำระ ดังนั้น จึงไม่คุ้มที่จะฟ้องร้อง ควรจะทำการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินให้ทราบ และทำการเจรจาในเรื่องของหนี้สินที่ค้างชำระน่าจะดีกว่า