เคยสำรวจตัวเองหรือไม่ว่าทำงานมาตั้งนาน ไม่ว่าจะเป็น ฟรีแลนซ์ หรือ มนุษย์เงินเดือน มีเงินเก็บอยู่เท่าเนี่ย … แล้วเคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างหรือไม่ว่า ถ้าวันนี้เราทำงานไม่ได้ ไม่มีงานทำ เราจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ จะเอาเงินที่ไหนมาดูแลครอบครัวและคนที่เรารักได้ หากเราไม่เคยตั้งคำถามแบบนี้กับตัวเอง แนะนำเลยว่าต้องถามตัวเองตั้งแต่วันนี้แล้วล่ะ ซึ่งถ้าถามแล้วมีคำตอบที่ดีอยู่แล้วก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่เรามีการวางแผนเรื่องการเงินของตัวเองได้อย่างดีทีเดียว แต่ถ้าเรายังไม่มีคำตอบล่ะ… จะทำยังไงดี … ไม่เป็นไรนับจากนี้เราจะมาหาคำตอบเรื่องพวกนี้ให้ตัวเองกันเลย
ทุกครั้งที่เรามีรายได้เข้ามาก่อนที่เราจะจ่ายให้กับคนอื่น เราควรจะจ่ายเงินให้กับตัวเองก่อน โดยโค้ชการเงินส่วนใหญ่ก็จะแนะนำให้แบ่งเงินออกเป็นส่วน ส่วน เมื่อเหลือแล้วค่อยเอาไปใช้จ่าย โดยเงินที่แบ่งออกมาแต่ละส่วนนั้นจะมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน ได้แก่ เงินเพื่อการเกษียณอายุ เงินเพื่อการออมระยะยาว เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉิน เงินประกันชีวิตและสุขภาพ เงินเพื่อเป็นรางวัลแก่ชีวิต เงินตอบแทนผู้มีพระคุณ และเงินตอบแทนให้กับสังคมที่เราได้อยู่อาศัย แล้วแต่ละประเภทมีความหมาย หรือมีความสำคัญยังไงล่ะ มาเริ่มกันเลย
เงินเพื่อการเกษียณอายุ…
ถ้าเราเป็นพนักงานบริษัทเงินก้อนนี้จะอยู่ในรูปแบบของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเราจะถูกหักออกจากเงินเดือนทุกเดือน แต่ถ้าเราอยากให้บั้นชีวิตของเราสบายมากขึ้น เราอาจจะกันเงินในส่วนนี้เพิ่มขึ้นก็ได้ อาจจะเป็น 5-10% ของรายรับของเราก็ได้ หรืออาจจะคำนวณตามสูตรที่ว่าหากไม่ทำงานแล้วเราต้องการเงินใช้จ่ายเท่าไร คิดย้อนกลับก็อาจจะได้จำนวนเงินที่ต้องแบ่งสำหรับส่วนนี้ก็เป็นได้ จากนั้นถ้าได้มาพอสมควรก็ลองหาช่องทางการลงทุนเพื่อให้มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งก็ได้ หรือจะแค่ฝากไว้ในธนาคารก็อุ่นใจพอแล้ว ก็ตามแต่ที่ใจเราชอบได้เลย ซึ่งเงินเพื่อการเกษียณนี้จำเป็นมาก มากสำหรับคนที่ทำงานแบบฟรีแลนซ์ เพราะไม่มีสวัสดิการเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเหมือนพนักงานบริษัททั่วไป เพราะฉะนั้นฟรีแลนซ์ทั้งหลายอย่าลืมกันเงินส่วนนี้ไว้ด้วยนะ
เงินเพื่อค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉิน…
ตามชื่อเลยยามฉุกเฉิน… คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน เช่น รถเสีย คนในครอบครัวเจ็บป่วย ตกงานกระทันหัน ไม่มีคนมาจ้างงาน บลา บลา… อื่น อื่น อีกมากมาย ที่จะเกิดขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องฉุกเฉิน ตามตำราส่วนใหญ่ก็มักจะให้แบ่งไว้ 10% ของรายรับที่เข้ามา และเนื่องจากเราเงินกันก้อนนี้ไว้เพื่อเรื่องฉุกเฉิน ดังนั้นเงินจำนวนนี้ควรจะเบิกง่าย ใช้คล่องและไม่ควรนำไปทำอย่างอื่น ควรจะเก็บไว้เป็นเงินฝากธนาคารที่สามารถถอนได้ทันที
เงินเพื่อการออมระยะยาวหรือเงินเพื่อการลงทุน
ซึ่งเงินก้อนนี้จะทำให้เราได้ผลตอบแทนแบบเป็นกอบเป็นกำ และสามารถช่วยให้นำไปต่อยอดลงทุนในสิ่งที่เราชอบได้ เช่น เปิดร้านขายของ เปิดร้านอาหาร เป็นต้น โดยเงินส่วนนี้เราอาจจะแบ่งไว้ 10-15% รายรับก็ได้ หรือจะมากจะน้อยกว่าก็ได้ตามกำลังและสภาวะเศรษฐกิจทางการเงินส่วนตัวของตัวเองก็ได้ ซึ่งเมื่อออมได้เงินจำนวนหนึ่งแล้ว ก็นำไปลงทุนในแบบที่ตัวเองรับความเสี่ยงได้ ไปลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนตามที่ต้องการได้ และเมื่อมีเงินเพียงพอก็นำไปลงทุนเพิ่มเติมกับสิ่งสร้างความสุขในการทำงานให้กับเรา
เงินประกันชีวิตและสุขภาพ
จะเหมาะมากสำหรับคนทำงานฟรีแลนซ์ไม่มีเงินเดือนประจำและไม่มีสวัสดิการการรักษาพยาบาลจากบริษัท อาจจะเป็นภาคบังคับให้ทำเลยก็ได้ เพราะหากเราหยุดทำงานไป ถ้าไม่มีประกันเราก็จะไม่มีเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล อีกทั้งขาดรายได้จากการหยุดทำงานไปด้วย คนที่เราดูแลอยู่ก็อาจจะลำบากได้เช่นกัน ถ้าไม่อยากให้ใครต้องเดือดร้อนจากความเจ็บป่วยของเราก็ควรที่จะแบ่งเงินมาทำประกันชีวิตสักหน่อย จะเลือกแผนประกันแบบไหนก็ลองศึกษาให้ดีเลือกให้เหมาะสมและคุ้มค้า เลือกบริษัทประกันชีวิตที่ให้บริการที่ถูกใจกับเรา
เงินตอบแทนให้กับผู้มีพระคุณของเรา…
ซึ่งก็ได้แก่ พ่อแม่ หรือจะเป็นญาติผู้ใหญ่ที่เคยให้ความเมตตา หรือจะเป็นเพื่อนร่วมงาน คนรู้จักที่เราเคยได้รับความช่วยเหลือยามที่เราเดือดร้อน ตามคำสอนของทุกศาสนาเลย คือ จงเป็นผู้ให้ เพราะเมื่อเรามีน้ำใจ มีความกตัญญูตอบแทนสิ่งดี ดีให้กับผู้อื่นแล้ว สิ่งดี ดี ก็มีตามเข้ามาในชีวิตเราได้เอง อาจจะมากบ้างน้อยบ้างตามกำลังที่เหลือของเรา แล้วค่อย ค่อย เพิ่มไปทีละนิดก็ได้ ดีกว่าไม่มีเอาเสียเลย
เงินตอบแทนสังคมที่เราอยู่
เอาแบบเข้าใจง่าย ง่าย ก็คือ การทำบุญ ทำทาน ตามแต่แรงศรัทธาในแต่ละทีของ แต่ละบุคคล บางคนอาจจะทำบุญที่วัด บางคนอาจจะเลือกบริจาคเงินให้กับมูลนิธิต่างๆ ตามแต่ที่ชอบและอยากให้ได้เลย เพราะในบ้านเรามีองค์กรเหล่านี้มากมาย… แล้วก็เหมือนเดิมคือ มากบ้าง น้อยบ้าง ก็ตามแต่กำลังของเรา แต่ก็ต้องมี
บทสรุปก็คือ ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์ เป็น มนุษย์เงินเดือน ต้องมีเงินออมกันทุกคน มากน้อยก็ตามแต่กำลัง และสภาพทางการเงินของแต่ละคน เริ่มมีน้อยในวันนี้ มันก็จะค่อยพอกพูนขึ้นในอนาคตได้ จนเราจะเจอคำว่าอิสรภาพทางการเงินได้อีกทาง แต่ที่สำคัญเราต้องมีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน มีการวางแผนให้ไปถึงเป้าหมายที่ชัดเจน และสุดท้ายคือการมีวินัยและบังคับตัวเองให้ทำให้ได้ตามแผนที่วางไว้ เท่านี้เราก็มีเงินออมได้ ใช้ชีวิตได้ตามที่ต้องการได้ตลอดไป