กลับมาอีกครั้งสำหรับบทความที่เกี่ยวกับการลงทุน หากจะให้กล่าวเรื่องการลงทุนในบทความเดียวคงจะไม่จบอย่างแน่นอน เพราะการลงทุนเป็นมหากาพย์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ตราบใดที่สังคมโลกยังต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจและการดำรงชีพด้วยเงิน เราในฐานะที่เป็นพนักงานประจำหรือเจ้าของธุรกิจ หรือประกอบอาชีพอิสระ ก็จำเป็นที่จะต้องมีรายได้เสริมหรือที่นิยมเรียกว่า การออมเพื่อลงทุน ซึ่งจะมีหลากหลายวิธีหรือช่องทางการลงทุน เช่น การนำเงินออมไปซื้อทองเพื่อเก็งกำไร การลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งได้เคยกล่าวไว้แล้วในบทความก่อนหน้า หรือแม้แต่ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่างการลงทุนในหุ้น
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนสนิทที่ทำงานอยู่ธนาคารแห่งหนึ่งที่มีสาขาใหญ่อยู่สีลม ได้นำเสนอแนวทางการลงทุนเพิ่มเติมจากการลงทุนในหุ้น โดยได้นำเสนอการลงทุนในหุ้น ผู้เขียนก็ตอบกลับไปแบบไม่คิดว่า “ไม่เอาหรอก กลัว ไม่กล้าเสี่ยง” แต่สิ่งที่เพื่อสนิมตอบกลับ คือ ไม่เสี่ยงถ้าเราเลือกลงทุนในหุ้นที่มีเสถียรภาพ เพื่อนสนิทกล่าวเสริมว่า เธอได้ลงทุนด้วยเงินทุนหลักแสนจากเงินเก็บของเธอ โดยเธอเลือกลงทุนในหุ้นที่ไม่มีความผันพวนมาก และค่อยๆทยอยซื้อ ขายทำกำไรไปเรื่อยๆ ไม่เน้นตัวหุ้นที่ขึ้นลงแรง เพราะหุ้นที่ขึ้นลงแรงจะมีความเสี่ยงสูง แต่ผู้เขียนไม่ขอเปิดเผยว่าหุ้นที่เธอซื้อนั้น คือหุ้นตัวไหน ตอนนี้เธอสามารถทำกำไรจากเงินต้นมากกว่า 3 เท่า
จากจุดเริ่มต้นนี้เอง ผู้เขียนจึงเริ่มต้นค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการเริ่มต้นลงทุนในหุ้นว่าจะต้องเริ่มต้นจากตรงไหนและต้องทำอย่างไรบ้าง จึงเป็นที่มาของบทความนี้ ที่จะกล่าวถึงการเริ่มต้นลงทุนในหุ้นตั้งแต่ยังไม่เคยลงทุน ไปจนถึงการลงทุนและการเลือกซื้อหุ้น ซึ่งจะเป็นบทความที่เป็นซีรีย์ ผู้อ่านจะต้องติดตามอ่านเพื่อจะได้เข้าใจมากขึ้น ส่วนผู้ที่เป็นนักลงทุนแล้วก็สามารถที่จะอ่านเพิ่มเติมถึงเทคนิคต่างๆได้
ก่อนจะเริ่มต้นลงทุนในหุ้น สิ่งที่มือใหม่จะต้องทำ คือ การเปิดบัญชี เพื่อทำการลงทุนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยมีขั้นตอนการเปิดบัญชีดังต่อไปนี้ (สามารถทำการเปิดบัญชีได้กับสถาบันการเงินต่างๆที่ให้บริการ
เลือกบริษัทหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินที่จะเปิดบัญชี การเลือกนั้นไม่มีผลอะไรต่อผลกำไร สะดวกที่ไหนเลือกที่นั้น
เจ้าหน้าที่จะให้ทำการกรอกข้อมูล ขั้นตอนการกรอกข้อมูลควรกรอกให้ครบถ้วน ซึ่งจะมีข้อมูลที่ต้องกรอกนั้นจะค่อนข้างเยอะ เนื่องจากจะมีในส่วนของบัญชีที่จะไว้ใช้สำหรับการหักเงินจากบัญชีเพื่อทำการซื้อขาย ผู้ที่ต้องการเปิดบัญชีควรเตรียมสำเนาบัตรประชาชน และสมุดบัญชีที่จะไว้ใช้สำหรับซื้อขาย
หลังจากที่ได้ทำการกรอกข้อมูลและยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว จะต้องรอผลการพิจารณา 1 สัปดาห์
เมื่อได้รับการพิจารณาเปิดบัญชีแล้ว ทางธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์จะส่ง Username & Password ให้เพื่อใช้ในระบบซื้อขาย
เมื่อได้ทำการเปิดบัญชีและได้รับรหัวผ่านต่างๆแล้ว สิ่งที่นักลงทุนควรจะทำก่อนเริ่มต้นลงทุน คือ การศึกษากราฟต่างๆที่ปรากฎบนหน้าจอ เพื่อทำความเข้าใจว่าแต่ละตัวนั้นมีความหมายว่าอะไร ซึ่งจะกล่าวในบทความต่อไป แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น จะต้องเข้าใจก่อนว่าการลงทุนในหุ้นนั้นจะมีวิธีการลงทุนซื้อด้วยวิธีการ 3 แบบ คือ
1. บัญชีเงินสด (Cash Account)
เป็นบัญชีที่ไว้ใช้สำหรับซื้อขาย โดยผู้ซื้อจะได้รับ Credit ร่วงหน้าในการซื้อ หลังจากที่ได้ทำการซื้อหุ้นแล้ว ผู้ลงทุนจะต้องนำเงินไปชำระคืนภายใน 3 วัน โดยเงิน Credit ทางบริษัทหลักทรัพย์จะเป็นผู้พิจารณาวงเงินตามหลักทรัพย์ที่วางประกันไว้ ซึ่งจะมีมูลค่า 15% ของวงเงินอนุมัติ
2. บัญชีเงินฝาก หรือ Cash Balance , Cash Deposit
เป็นบัญชีที่ผู้ลงทุนจะสามารถลงทุนในหุ้นได้ตามจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนมือใหม่สามารถกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการลงได้ โดยไม่ลงทุนเกินวงเงินที่ตนเองตั้งไว้ แต่ทั้งหากต้องการจะซื้อหุ้นเพิ่ม ก็เพียงนำเงินฝากเข้าไปในบัญชี ก็สามารถซื้อเพิ่มได้ทันที ทั้งนี้เงินที่ฝากไว้ หากไม่ได้นำไปทำการซื้อหุ้น ก็สามารถได้รับดอกเบี้ย
3. บัญชีมาร์จิ้น (Margin Account), (Credit Balance)
เป็นบัญชีให้กู้ยืมเพื่อนำไปลงทุนในหุ้น แต่ผู้ลงทุนจะต้องนำเงินสดบางส่วนหรือหลักทรัพย์วางเพื่อคํ้าประกันไว้ รวมถึงจะต้องขำระอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ด้วย พูดง่าย คือสินเชื่อสำหรับลงทุนในหุ้นนั้นเอง แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ถ้าราคาหุ้นนั้นมีความผันพวนและปรับลดลงแรงมากๆจนอัตรามาร์จิ้นต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด บริษัทหลักทรัพย์อาจจะทำการบังคับให้วางหลักประกันหรือเรียกเงินสดเพิ่ม หรืออาจจะบังคับขาย (Forced Sell) หุ้นที่วางเป็นหลักประกันไว้ เพื่อรักษาอัตรามาร์จิ้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
เป็นยังไงบ้างครับสำหรับเบื้องต้นของการเริ่มต้นเดินเข้าสู่ตลาดหุ้น อาจจะดูเหมือนง่ายๆ แต่ไม่ง่ายนะครับ เพราะสิ่งที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้าจะมีความซับซ้อนมากขึ้นและต้องอาศัยประสบการณ์จากการลงทุน การลงทุนในหุ้นอาจจะแค่ ซื้อ ขาย หุ้นลง เข้าซื้อ หุ้นขึ้นขาย แต่ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่อย่างนั้น คงไม่มีคนกล่าวว่า “ตลาดชนะผู้ลงทุน”