ปี 2016 เป็นปีที่พลังดิจิทัล เทคโนโลยี ขับเคลื่อนในทุกแวดวง รวมถึงการเงิน การธนาคาร ทำให้เกิดนวัตกรรมการเงินที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมการเงิน และทำให้พฤติกรรมของผู้ใช้งานค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป K-Now ธนาคารกสิกรไทย สรุป 4 ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่ยังคงส่งผลเป็นระลอกต่อเนื่องมาถึงปี 2017 ได้แก่
- National e-Payment
- E-Wallet
- FinTech
- Digital Banking
ความเคลื่อนไหวแรก – National e-Payment
โครงการระดับชาติ ที่ต้องการผลักดันให้เกิดระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบายในการชำระเงินมากขึ้น มี 4 โครงการสำคัญ ได้แก่
พร้อมเพย์: ทางเลือกใหม่ในการรับ-โอนเงินด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลง และง่ายขึ้นผ่านหมายเลขโทรศัพท์ หรือเลขประจำตัวประชาชน ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนระบบพร้อมเพย์ 18 ล้านคน
- เริ่มใช้แล้ว 8 ธ.ค. กับ 3 สถาบันการเงินของภาครัฐ ในโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
- เงินคืนภาษีประจำปี 2559 ก็จะจ่ายผ่านระบบพร้อมเพย์เช่นกัน
ขยายการใช้บัตร: ก้าวสู่ Cashless Society ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บัตรเดบิตมากขึ้นทั้งกับร้านค้าและหน่วยงานราชการ ขยายจุดวางเครื่องรับรูดบัตร (เครื่อง EDC) ในร้านค้าต่างๆ และสถานที่ราชการ
e-Payment ภาครัฐ: รับและจ่ายเงินสวัสดิการสังคม รวมถึงการทำธุรกิจกรรมกับหน่วยงานภาครัฐโดยไม่ใช้เงินสดและเช็ค นำร่องด้วยโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ก่อนขยายไปยังโครงการและบริการรัฐอื่นๆ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ และระบบรักษาพยาบาล
ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์: ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีจะมาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องใช้กระดาษ ช่วยลดขั้นตอนและเวลาในการจัดทำเอกสารชำระภาษี และจัดการคืนเงินภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้รวดเร็วขึ้น
ความเคลื่อนไหวที่สอง – e-Wallet หรือกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์
โอน เติม จ่ายได้ง่ายและรวดเร็ว แบบ Anytime, Anywhere มี 2 รูปแบบ
- Card Base หรือบัตรเงินสด ผู้ใช้สามารถเติมเงินเข้าไปในบัตร และใช้บัตรซื้อของหรือชำระค่าบริการได้ทันที อย่างง่ายดาย และสะดวก ไม่ต้องพกเงินสด แค่บัตรใบเดียวพอ เช่น Rabbit Card, Smart Purse
- Digital Account หรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของแอพพลิเคชั่น เช่น PayPal, AIS mPay, TrueMoney สามารถใช้ชำระเงินได้รวดเร็ว เพียงผูกบัญชีกับบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต หรือเติมเงินผ่านการโอนจาก Mobile Banking/Internet Banking ก็ได้เช่นกัน
โอกาสของ e-Wallet ในไทย
ด้วยจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนในไทยถึง 47 ล้านคน และเทคโนโลยี 4G ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระแสของ e-Wallet มาแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จะเห็นว่าในปี 2015 ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้งาน e-Wallet อยู่ 7.6%
ปัจจุบันในประเทศไทย มีผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 14 รายที่ไม่ใช่ธนาคาร เช่น
- กลุ่มผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ อย่าง mPay, PaysBuy, TrueMoney
- กลุ่มสตาร์ทอัพ เช่น AirPay, T2P, MOL
- กลุ่มผู้ให้บริการต่างชาติ เช่น AliPay, WeChat Pay และ Samsung Pay
ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายในการเข้าถึง e-Wallet นอกจากนี้ ธุรกิจนี้ยังเติบโตได้อีกมาก ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป คือนิยมพกเงินสดน้อยลง รวมถึงมีความต้องการซื้อของออนไลน์ หรือซื้อแอพพลิเคชั่นบนแอพสโตร์ (มีผู้ใช้ 16 ล้านราย)และกูเกิลเพลย์ (มีผู้ใช้ 20 ล้านราย) แต่ไม่มีบัตรเครดิต หรือไม่อยากผูกบัญชีกับบัตรเครดิต
จากรายงานของ Global Payment Report ปี 2016 พบว่าค่าเฉลี่ยสัดส่วนการใช้ e-Wallet ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ปี 2015 อยู่ที่ 19.5% และในปี 2017 จะเพิ่มขึ้นเป็น 23% และมีการประมาณการมูลค่าการใช้ e-Wallet ในปี 2017 ทั่วโลกอาจสูงถึง 1,656,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ คิดเป็น 41% ของการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์
ความเคลื่อนไหวที่สาม – FinTech
Key Word สำคัญที่กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการการเงินของโลก ซึ่งกำลังเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงรูปแบบการให้บริการของสถาบันการเงิน
รู้หรือไม่ ทุกวันนี้เราได้ใช้ FinTech กันแล้ว
- FinTech สำหรับชำระเงิน ไม่มีบัตรเครดิตก็สามารถช้อปของออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา เช่น 2C2P, mPay, TrueMoney, Air Pay, Rabbit LINE pay
- FinTech สำหรับเปรียบเทียบประกันและโปรฯ บัตรเครดิต ช่วยประหยัดเวลาค้นหาโปรฯ ที่ดีที่สุด และตรงความต้องการมากที่สุดด้วยตัวเองในพริบตา เช่น go bear, Rabbit Finance
- FinTech สำหรับข้อมูลการลงทุน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนด้วยการค้นหาหุ้นเด่นได้ในเวลาอันสั้น เช่น Stock Radars, Jitta LINE Finance
- FinTech สำหรับการจัดการการเงินส่วนบุคคล ช่วยควบคุมการใช้จ่ายและคำนวณภาษีได้เป๊ะสุดๆ เช่น iTax, Piggipo
ความสำเร็จของ FinTech ของประเทศไทย
ปรบมือดังๆ ให้กับ บีคอน อินเตอร์เฟส Startup FinTech จากประเทศไทย จากการสนับสนุนของธนาคารกสิกรไทย ที่สามารถคว้า 2 สุดยอดรางวัลงานประกวดระดับโลก Singapore FinTech Festival 2016 ด้วยนวัตกรรมที่ทำให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นสามารถทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟนได้สะดวกและปลอดภัยได้เช่นเดียวกับตาสายตาปกติ
ความเคลื่อนไหวที่สี่ – Digital Banking
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย (28 ธ.ค. 59) ประมาณการณ์ว่าในปี 2560 สมาร์ทโฟนในประเทศไทยจะขายได้ประมาณ 17.2-17.4 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่คนไทยสามารถเข้าถึงสมาร์ฟโฟนได้ 75% ของประชากรทั้งหมด ประกอบกับดิจิทัล เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและเครือข่าย 4G ที่ครอบคลุมและรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ดิจิทัล แบงก์กิ้งในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด
และจาก รายงาน Mobility Report ของ Ericsson เดือน มิถุนายน 2559 ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ประชากรมีการใช้งาน Mobile Banking โดดเด่นที่สุดในโลก โดยประเทศที่ติด 10 อันดับนี้ด้วย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินเดีย บราซิล เคนยา สวีเดน ไนจีเรีย ไทย
โดยระหว่างปี 2011 – 2014 การทำธุรกรรมผ่าน Internet Banking เติบโตขึ้น 32 % ในขณะที่ Mobile Banking โตขึ้น 62 %
เงินทองไร้ขีดจำกัด ในยุคดิจิทัล 4.0
ในปีนี้ จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมจากหลายๆ โครงการที่อยู่ภายใต้แนวนโยบาย Digital Economy จาการผลักดันจากภาครัฐที่มุ่งมั่นให้ประเทศไทยก้าวสู่ Cashless Society 2017 ในขณะที่ภาคเอกชนในทุกแวดวง พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจด้วยดิจิทัล เทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นผลพัฒนาจาก FinTech นี่คือตัวอย่างของความร่วมมือข้ามสายธุรกิจ ข้ามพรมแดน ที่จะทำให้ชีวิตของผู้คนในยุคดิจิทัล 4.0 สะดวกสบายมากกว่าที่เคยเป็นมา
- แนวรุกของ National e-Payment
ธปท. และ กสทช. ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำกับดูแลบริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เรื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการใช้งานโมบาย แบงกิ้ง รวมถึงบริการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ ได้แก่
- การขอออกซิมการ์ดใหม่ การขอเปลี่ยนแปลงเจ้าของซิมการ์ด การขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ลูกค้าจะต้องใช้บัตรประชาชนตัวจริงทั้งผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ
- การปรับปรุงนโยบายรักษาความลับข้อมูลลูกค้าให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น
- กรณียกเลิกใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถขอรับคืนเงินผ่าน e-wallet หรือบริการพร้อมเพย์ได้ โดยไม่จำกัดวงเงินการโอน
- ใช้จ่ายไร้พรมแดน Cross Border Payment
KBank เพิ่มศักยภาพระบบ Cross Border Payment ด้วยการพัฒนาเครื่อง EDC ที่รับสามารถรับชำระด้วย QR Code ผ่าน Alipay และ WeChat Pay เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 9 ล้านคนในไทย พร้อมขยายจุดรับชำระด้วย e-wallet แล้วทั่วประเทศ
- FinTech กับการเชื่อมธุรกรรมโอนเงินระดับโลก
KBank จับมือบริษัท International Business Settlement หรือ IBS เจ้าแห่ง FinTech จีน พัฒนาระบบชำระเงินไทย-จีน ในรูปสกุลเงินบาท และเงินหยวน ด้วยเทคโนโลยี Distributed Computing และ Blockchain ผ่านเครือข่ายชำระเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์ ช่วยลดเวลา ค่าใช้จ่าย ต้นทุน ด้วยความปลอดภัยสูง รองรับการค้า และธุรกรรมการเงินไทย-จีนมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านบาท
- e-Wallet กระเป๋าเงินบนมือถือ พร้อมจ่ายทุกที่ ทุกเวลา
Samsung Pay เป็น e-Wallet จากค่ายมือถือเจ้าแรกที่มีการทำตลาดในประเทศไทย เป็นการชำระเงินรูปแบบใหม่ด้วยบัตรเครดิตผ่านสมาร์ทโฟน ที่ใช้งานง่าย สะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องพกกระเป๋าสตางค์ โดยเปิดให้ลงทะเบียนผูกบัตรเครดิตที่สามารถใช้จ่ายสินค้าและบริการด้วยซัมซุงเพย์ ผ่านเครือข่ายผู้ให้บริการในการรับชำระบัตรเครดิตอย่าง วีซ่า และมาสเตอร์การ์ด ล่าสุดบัตรเครดิตกสิกรไทยจัดโปรโมชั่นให้กับลูกค้าบัตรเครดิตกสิกรไทยที่ลงทะเบียน Samsung Pay ด้วยบัตรเครดิตกสิกรไทย และใช้จ่าย รับเครดิตเงินคืน 100 บาท เมื่อรูด 100 บาทขึ้นไป
โลกเปลี่ยน เปลี่ยนโลกการเงินการธนาคาร
บริการธุรกรรมการเงินนับต่อจากนี้ ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องรับ ฝาก ถอน โอนเงิน เท่านั้น แต่ธนาคารในอนาคตจะหล่อหลอมอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้คนในทุกที่ ทุกเวลา
- รู้จริง รู้ใจ สร้างผลิตภัณฑ์ตอบทุกโจทย์ด้วย Big Data & LBS
ธนาคารจะให้บริการลูกค้าได้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยี Big Data ซึ่งจะเก็บข้อมูลจากกิจกรรมทุกอย่างบนโลกออนไลน์ตั้งแต่การค้นหาใน Google เข้าเว็บไซต์ กดไลค์ คอมเมนต์ และแชร์ นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี Location-based services (LBS) ที่ช่วยให้ธนาคารสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้เป็นรายบุคคล โดยอ้างอิงจากพื้นที่ที่ลูกค้าอยู่
- จัดการธุรกรรมได้ด้วยตัวเอง
การทำธุรกรรมที่สาขาในอนาคตจะสะดวก และรวดเร็วขึ้น ด้วยเทคโนโลยี Internet of Thing ซึ่งอุปกรณ์โมบาย เช่น โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต, สมาร์ทวอทช์ ของลูกค้าจะเป็นตัวช่วยแจ้งความต้องการของลูกค้าในการมาทำธุรกรรมที่สาขา และเป็นตัวจัดการให้เกิดการทำธุรกรรมนั้นๆ ขึ้น ทั้งกับพนักงาน และเครื่องอัตโนมัติ
- สร้างประสบการณ์บริการแบบ 360 องศา
อีกหนึ่งบทบาทของธนาคารที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตคือการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งจะเสริมไปกับการพัฒนาบริการในรูปแบบดิจิทัล ทำให้ธนาคารสามารถให้บริการลูกค้าได้แบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้าง Omnichannel Customer’s Experience
- ฟันเฟืองสำคัญในโลกอนาคตแห่ง Sharing Economy
ธนาคารจะมีบทบาทสำคัญในโลกของ Sharing economy ที่จะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มจากที่มีอยู่เช่น AirBnB หรือ Uber โดยธนาคารจะเป็นตัวกลางในการรับชำระเงินของธุรกิจประเภทนี้