อาจจะเพราะว่าในหลักสูตรการศึกษาไม่เคยให้ความรู้กับเด็ก ๆ ทำให้เมื่อเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่แล้ว หลายคนจึงไม่สามารถจัดการเรื่องการเงินได้ดีนัก เมื่อทำงานได้เงินเดือนก้อนแรกแล้วจึงไม่รู้ว่าควรจะจัดการอย่างไรดี ปัญหานี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนทำให้ส่งผลต่อชีวิตได้ในระยะยาว เพราะว่าโลกของการทำงานนั้นไม่ได้หยุดอยู่ที่ 5 ปี หรือ 10 ปี หลังจากจบการศึกษาและเริ่มทำงานแล้วไปจนถึงยามชราต่างหากที่เป็นโลกของความเป็นจริงที่คนเราจะต้องทำงานหาเงินไปพร้อม ๆ กับการใช้ชีวิตไปอีกอย่างน้อย 40 ปี จึงจะเข้าสู่วัยเกษียณ และแม้หลังจากเกษียณแล้วก็ตามก็ยังต้องจัดการเรื่องเงินอีกมาก คนเราจึงควรจะจัดการเรื่องการใช้เงินให้เหมาะสม และควรจะมีการส่งเสริมความรู้ด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง
แล้วคุณจัดการเงินทองได้เหมาะสมหรือไม่ ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนกันอีกสักครั้งไหมว่าการถ้าเราจัดการการเงินไม่ดีแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาบ้าง
เงินไม่พอใช้ ต้องใช้เงินเดือนชนเดือน
คนที่ทำงานรับเงินเดือนมักจะมีอาการดีใจหลังจากได้เงินเดือนออกและนำเงินไปใช้ในด้านต่าง ๆ ทั้งค่าใช้จ่ายทั่วไปและเพื่อความบันเทิงความสุขด้านต่าง ๆ ดูภายนอกก็เป็นโลกที่มีความสุขดี แต่เมื่อถึงกลางเดือน สภาพที่เคยคึกคักก็จะเริ่มกลายเป็นเซื่องซึม เพราะว่าเงินที่ได้มาเริ่มจะหมดแล้ว เนื่องจากมีนโยบายใช้เงินแบบพอดีเท่าที่มี จึงทำให้แต่ละเดือนไม่สามารถเก็บเงินได้ กระเหม็ดกระแหม่ไปถึงสิ้นเดือน อาจจะใช้แบงก์ร้อยใบสุดท้ายในวันสุดท้ายได้พอดี และเมื่อเงินเดือนเข้าบัญชีธนาคารก็จะเริ่มวงจรแบบเดิมเหมือนที่เคยเป็นมา ผลจากการไม่วางแผนการใช้เงินให้ดี ทำให้ต้องมีวิถีชีวิตเช่นนี้เรื่อยไป
ไม่มีเงินเก็บออมเลย
หลายคนอาจจะไม่เคยคิดถึงเรื่องออมเงินเลยก็เป็นได้ ทำให้เงินที่ได้มาจากการทำงานทั้งหมดถูกแบ่งไปใช้ในชีวิตประจำวันออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดพอดี เหตุสำคัญเกิดจากการไม่ได้ตั้งหลักเกณฑ์สำหรับการเงินส่วนบุคคล หากมีการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ก่อนว่าจะต้องออมเงินจำนวนเท่าใดจากเงินรายรับทั้งหมดและหักเข้าเป็นเงินออมก่อน ก็จะทำให้เริ่มสามารถมีเงินเก็บได้ ตัวแปรสำคัญคือความตั้งใจและวินัยทางการเงินที่จะต้องใช้จ่ายเฉพาะเงินส่วนที่เหลือจากการหักแล้วเท่านั้น คนที่วางแผนการใช้เงินเป็นก็จะมีเงินออมพร้อมรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก รู้อย่างนี้แล้วถ้าคุณอยากมีเงินออม คุณต้องตั้งเป้าหมายและเริ่มวางแผนการใช้และเก็บเงินทันที
ติดหนี้บัตรเครดิต
คนที่ขาดการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล จะทำให้ใช้จ่ายอย่างไม่มีแบบแผน เช่น ไม่เคยกำหนดเลยว่าจะออมเงินเท่าใด ต้องกันเงินเป็นค่าสาธารณูปโภคเท่าใด มีเงินเหลือให้ใช้ได้อีกเท่าใด พฤติกรรมใช้เงินไปเรื่อย ๆ ตามรายจ่ายที่เข้ามาแต่ละวันทำให้ไม่เคยรู้สถานะทางการเงินที่แท้จริงของตัวเอง คิดว่าเดี๋ยวสิ้นเดือนก็ได้เงินเดือนแล้วจึงไม่ระวังในการใช้บัตรเครดิต เช่น การซื้อของที่ไม่จำเป็นหรือของที่มีราคาแพง เพราะเห็นว่าวงเงินบัตรเครดิตสามารถจ่ายได้ แต่ลืมคิดถึงกระแสเงินสดของตนเอง ทำให้จ่ายบัตรเครดิตไม่ทันกำหนด ต่อมาก็ขอชำระขั้นต่ำ แล้วก็กดเงินสดจากบัตรเครดิต เป็นวงจรเลวร้ายที่ทำให้มีคนจำนวนมากประสบปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตในที่สุด
ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ดีเท่าที่ควร
การใช้เงินไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการวางแผน ทำให้คุณใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวัง ไม่มีเป้าหมายที่คอยกระตุ้นเตือนให้คุณพัฒนาตัวเอง ยิ่งถ้าใช้เงินจนไม่สามารถหมุนเงินได้ทัน มีหนี้บัตรเครดิตมากก็จะยิ่งทำให้ไม่มีจิตใจทำการงานให้ดีได้ เพราะต้องคอยตามแก้ปัญหาหนี้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อีกเรื่องหนึ่งก็คือไม่ได้ตั้งงบประมาณเกี่ยวกับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมไว้เลย เช่น การซื้อหนังสือดีดีมาอ่านหรือการเข้าร่วมอบรมสัมมนาเสริมความรู้ ต่างจากคนที่ใช้เงินเป็นที่มักจะมีงบประมาณที่กันไว้ส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาตนเองให้ดียิ่งกว่าเดิม การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่คนเราจะต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อให้สมองกระฉับกระเฉง เปิดรับแนวความคิดใหม่ ๆ และรู้เท่าทันสังคมในโลกเทคโนโลยีนี้
ขาดการต่อยอดด้านการลงทุนให้เงินงอกเงย
การลงทุนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดการวางแผนว่าจะลงทุนกับธุรกิจอะไรและทำอย่างไร การลงทุนเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เงินของคุณงอกเงยขึ้นมากกว่าเดิมด้วยตัวมันเอง อย่างน้อยที่สุดก็คือการฝากธนาคารรับดอกเบี้ยเงินฝาก หรือมากที่สุดก็คือการลงทุนประกอบการธุรกิจ การที่คนเราไม่วางแผนการเงินก็จะทำให้สับสนระหว่างค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าใช้จ่ายเพื่อประกอบธุรกิจ เมื่อรายรับรายจ่ายทั้งสองส่วนปะปนกันก็ทำให้ยากต่อการบริหารและไม่เห็นภาพที่ชัดเจนของธุรกิจ คนที่รวยแล้วรวยขึ้นอีกเพราะว่าเขารู้ว่าต้องใช้เงินสัดส่วนเท่าใดของรายได้แล้วนำไปลงทุนให้งอกเงย เข้าทำนองใช้เงินต่อเงินหรือถ้ากล่าวให้ชัดก็คือการใช้ความรู้วางแผนการเงินเพื่อสร้างเงินจะถูกต้องมากกว่า
ขาดแหล่งเงินสำรองเพื่อการใช้จ่าย
ชีวิตคนเราไม่แน่นอน ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคต เช่น ภาวะเศรษฐกิจผันผวน หรือมีการเลิกจ้างงานหรือสาเหตุอื่น ๆ การไม่แบ่งเงินสำรองเพื่ออนาคตไว้บ้างเลย ทำให้ชีวิตมีความเสี่ยงมากขึ้น เมื่อจำเป็นต้องใช้เงินสดแล้วไม่มีก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมา ปัญหานี้จะเบาบางลงได้ถ้ามีการวางแผนสำรองการใช้เงินไว้ตั้งแต่ต้น มดยังรู้จักหาอาหารสะสมไว้ในฤดูหนาว แล้วคนเราจะไม่สะสมอะไรไว้สำหรับเหตุการณ์ในอนาคตไว้บ้างหรือ วงเงินสำรองส่วนนี้ควรมีจำนวนเงินเท่ากับอย่างน้อย 6-12 เท่าของรายได้ต่อเดือนในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถนำมาใช้จ่ายได้ชั่วคราวหากมีเหตุที่ต้องใช้ตามจำเป็น
ขาดความมั่นคงในชีวิตหลังวัยเกษียณ
การทำงานและใช้เงินไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้เฉลียวใจว่าตัวเองนั้นต้องมีอายุเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และในที่สุดก็ต้องถึงวัยเกษียณและต้องออกจากงานในยามชรา แล้วหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร คุณเคยคิดไว้บ้างหรือไม่ ปัจจุบันสื่อต่าง ๆ เริ่มออกมาให้ความรู้การวางแผนการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณกันมากขึ้น ถ้ามีการวางแผนแบ่งเงินส่วนที่เก็บออมเพื่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณก็จะทำให้มีความมั่นคงและอุ่นใจที่สามารถพึ่งพาตนเองได้
ช่วงชีวิตที่หาเงินได้ดีที่สุดก็คือช่วงหลังเรียนจบไปถึงวัย 40-50 ปี เพราะว่ามีความแข็งแรงและมีประสิทธิภาพการทำงานได้ดีมากที่สุด แต่ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่มีการใช้จ่ายเงินไปในด้านต่าง ๆ มากที่สุดเช่นกัน
ทั้งการมีความรัก สร้างครอบครัว การพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงและการท่องเที่ยวต่าง ๆ ทำให้มีโอกาสใช้เงินเกินสัดส่วนที่ควรจะเป็นได้ การวางแผนการใช้เงิน ให้แบ่งออกเป็นสัดส่วนต่าง ๆ และทำตามแผนอย่างเคร่งครัดและมีวินัยเท่านั้นที่จะช่วยให้คุณมีเส้นทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำและมั่นใจว่าจะมีความสุขแม้พ้นวัยทำงานไปแล้วก็ตาม