คู่รักหลายคู่แม้จะรักและพิสูจน์ใจกันมาหลายปี เมื่อถึงคราวต้องตัดสินใจแต่งงานเพื่อใช้ชีวิตด้วยกันอย่างถูกต้องตามธรรมเนียมและกฎหมาย ความรักกลับต้องสะดุดเมื่อถึงด่านการพูดคุยเรื่องค่าสินสอด
สินสอดคืออะไร
ตามกฎหมายมาตรา 1437 ว.3 สินสอด คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ลักษณะของสินสอดมีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ ต้องเป็นสินทรัพย์ที่มีการตกลงกันก่อนสมรส ฝ่ายชายมอบให้แก่พ่อแม่หรือผู้ปกครองของผู้หญิง หากฝ่ายหญิงบรรลุนิติภาวะ ไม่มีผู้ปกครองและตกลงรับสินสอดด้วยตัวเอง นั่นนับเป็นการให้โดยเสน่หาไม่ใช่สินสอด ประการสุดท้าย สินสอดให้เพื่อตอบแทนการที่ฝ่ายหญิงยอมสมรส ทรัพย์สินที่เป็นสินสอดเมื่อมอบให้แก่ผู้ปกครองของฝ่ายหญิงแล้ว จะตกเป็นกรรมสิทธิเด็ดขาดแก่ผู้รับโดยทันที
ทำไมต้องมีสินสอด
สินสอด ถือเป็นธรรมเนียมประเพณีไทยตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้ฝ่ายเจ้าสาวต้องเป็นหม้ายขันหมาก หรือถูกทอดทิ้งการแต่งงานหลังจากที่มีการพูดคุยสู่ขอ ทั้งนี้การให้สินสอดยังเป็นเครื่องการันตีความมั่นคงให้กับชีวิตของฝ่ายหญิงอีกด้วย หากในอนาคตมีการเลิกรากันหรือฝ่ายชายเสียชีวิตลง เงินสินสอดนี้ก็จะเป็นทรัพย์สินช่วยให้ฝ่ายหญิงสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้
สินสอดเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม
ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมระบุว่า ค่าสินสอดจะเกิดจากข้อตกลงระหว่างครอบครัวของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ซึ่งในวันยกขบวนขันหมากอาจมีการใส่เงินเพิ่มเข้าไปจากค่าสินสอดที่ตกลงไว้ โดยเป็นการถือเคล็ดว่า “เงินสินสอดนี้จะได้งอกเงย ได้ดอกออกผล” แต่ในความเป็นจริง การตกลงเรื่องสินสอดเป็นปัญหาใหญ่ในการแต่งงานระหว่างคู่บ่าวสาวของไทยมากขึ้น เพราะไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าสินสอดที่เหมาะสมควรเป็นจำนวนเท่าใด
หากเป็นสมัยก่อน การพูดคุยสินสอดจะเป็นเรื่องของฝ่ายผู้ใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว แต่ในทุกวันนี้ ชายหญิงที่จะร่วมหอด้วยกันต้องมีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นสินทรัพย์ที่จะใช้ในการดำเนินชีวิตร่วมกันแล้ว ยังหมายถึงความรับผิดชอบในการหาสินสอดมาแต่งงานอีกด้วย แม้ว่าฝ่ายผู้ใหญ่จะยังคงมีบทบาทต่อการพูดคุยเรื่องสินสอดอยู่ก็ตาม แต่ถึงอย่างไรการเรียกค่าสินสอดของแต่ละคู่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ซึ่งหมายถึงความพึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะด้วยเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะต้องตระเตรียมไว้สำหรับการจัดงานแต่งงานในอนาคต การเรียกสินสอดจึงอาจมีขึ้นแค่เป็นเพียงพิธีที่ผู้ใหญ่และคู่บ่าวสาวสองคนตกลงกันเพื่อให้เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีเท่านั้น สินสอดที่ว่าจึงอาจไม่ต้องมากมายจนถึงขั้นต้องกู้หนี้ยืมสิน แต่เป็นจำนวนที่พอเหมาะแก่ครอบครัวทั้ง 2 ฝ่ายนั่นเอง
การคำนวณค่าสินสอด
จากผลการศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์ พบว่า คุณลักษณะของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่มีผลต่อมูลค่าสินสอด ได้แก่
- ระดับรายได้
- ระดับการศึกษา
- ภาระที่รับผิดชอบต่อครอบครัว
- ลำดับการแต่งงานในครอบครัว
แต่หากคุณมองว่ามันยุ่งยากเกินไปและเงินสินสอดอาจมีมูลค่ามากเกินจะหามาได้ ก็อาจใช้สูตรคำนวณง่าย ๆ ดังนี้
อย่างไรก็ดี การคิดค่าสินสอดควรอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ควรให้มูลค่าของสิ่งนี้มาบั่นทอนความรู้สึกของกันและกัน เพราะมูลค่าความรักที่ได้ฟูมฟักกันมาย่อมมีค่าและมีความหมายยิ่งกว่าเหนือสิ่งอื่นใด
ที่มาและแหล่งอ้างอิง