ในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแบบนี้ ส่งผลให้หลายๆกิจการต้องปิดตัวลง เพราะประสบกับสภาวะขาดทุน รายได้ลดลง บางรายถึงกับตกเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะติดภาระหนี้สินกับทางสถาบันการเงินต่างๆจนยากที่จะขยับตัว
ดังนั้น ในฐานะที่คุณเองก็เป็นเจ้าของกิจการคนหนึ่ง ควรเตรียมวิธีรับมือไว้แต่เนิ่นๆเพื่อเสริมสร้างรากฐานธุรกิจให้แข็งแรงเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตามวิธีต่างๆ ดังนี้
1. หมั่นตรวจสอบ และเป็นคนช่างสังเกต
คุณจะต้องเป็นคนรอบรู้ ที่ไม่ได้รู้เฉพาะในเรื่องวิชาการเพียงเท่านั้น แต่คุณจะต้องรับรู้ทุกสัญญาณที่เริ่มเคลื่อนไหวทั้งในบริษัทของคุณและโลกภายนอก เพื่อป้องกันความสูญเสียต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ตรวจสอบข่าวกรองตลอดเวลา ว่าปัจจุบัน คู่แข่งของคุณกำลังดำเนินธุรกิจไปในทิศทางใดบ้าง เขาเหนือกว่า หรือคุณตามเขาทัน วิเคราะห์ทิศทางการตลาดโดยละเอียด เพื่อหาทางเพิ่มกำไร และปรับรูปแบบธุรกิจของคุณให้แปลกใหม่ และติดตลาดอยู่เสมอ
สังเกตแม้กระทั่งสถานการณ์ภายในบริษัท ทันทีที่เกิดเรื่องอะไรขึ้น คุณจะต้องรู้ก่อนใครเสมอ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ทุกเรื่อง เพราะในทุกๆการเคลื่อนไหว อาจส่งผลกระทบต่อผลกำไรได้ในอนาคต
2. อุดรอยรั่วในองค์กร
ในโลกของธุรกิจ คำว่าไว้วางใจเป็นเพียงคำลวงเท่านั้น ไม่มีผู้บริหารคนไหนที่จะไว้ใจลูกน้องของตัวเองได้ 100%เต็มสักราย นั่นเป็นเพราะว่า จากเหตุการณ์ต่างๆที่เคยมีมาในอดีต กิจการส่วนใหญ่ราวๆ60%มักจะปิดตัวลงเพราะการทุจริตภายในของคนในองค์กรนั่นเอง สังเกตได้ง่ายๆจากข่าวปล้นรถขนเงินสดที่มักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆตามหน้าหนังสือพิมพ์ สุดท้ายแล้ว คนร้ายที่ถูกจับได้ ก็คือบุคคลภายในแทบทั้งสิ้น
อย่าคิดว่าบางคนทุจริตเพียงเล็กน้อยแล้วจะไม่ส่งผลให้ธุรกิจของคุณเสียหาย เพราะถ้าลองคำควณดูง่ายๆ หากพนักงานโกงเงินไปวันละ 200 บาทเป็นขั้นต่ำ ตกปีหนึ่งๆ ก็ถือเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
ดังนั้น ต่อให้เป็นปากกาแค่เพียงแท่งเดียว หรือกระดาษถ่ายเอกสารสักแพ็ค คุณก็ไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะคนเรานั้นมักมีความเคยชินเป็นนิสัยติดตามตัว หากวันนี้เคยหยิบฉวยของเล็กๆน้อยๆไปได้ ไม่นานก็จะเกิดความรู้สึกฮึกเหิม ทุจริตอะไรสักอย่างที่มากมายกว่านั้นได้เช่นกัน ไม่ควรปล่อยผ่านไปง่ายๆโดยเด็ดขาด
3. ปรับลดค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสม
สำรวจค่าใช้จ่ายในบริษัทกับฝ่ายบัญชีในทุกๆเดือน ว่ามีอะไรบ้างที่เป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และสมควรปรับลดมากที่สุด หลังจากนั้นก็นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม และปรึกษาหารือก่อนทำการพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายต่อไป
ค่าใช้จ่ายกระจุกกระจิกบางอย่าง ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะปรับลด เพราะต่อให้เป็นเพียงรายจ่ายเล็กๆน้อยๆ สะสมไปนานเข้า ก็กลายเป็นรายจ่ายมหาศาลได้เช่นกัน เช่น ปากกา ควรมีมาตรการให้พนักงานเบิกเครื่องเขียนได้เดือนละ 1 ครั้ง ตามความเหมาะสม ซึ่งฝ่ายตรวจสอบก็ต้องทำหน้าที่สอดส่องดูแลเป็นอย่างดี ว่าใครเบิกมากเกินความจำเป็น หรือเบิกซ้ำกับเดือนที่แล้วบ้าง และพิจารณาอนุมัติตามความเหมาะสมต่อไป
ค่าไฟก็เช่นกัน ในช่วงเวลาที่ไม่ใช้งาน ก็ควรปิด หรือไม่ต้องเปิดครบทุกดวงก็ได้ รวมไปถึงค่าน้ำ กระดาษชำระส่วนรวมในห้องน้ำ ส่วนนี้ถึงจะดูเล็กน้อย แต่ก็ต้องควบคุมด้วยเช่นกัน
4. หาทางเพิ่มรายได้โดยไม่ต้องใช้ทุน
โดยการประกาศโฆษณาผ่านพื้นที่ฟรีทางอินเตอร์เน็ต หรืออาศัยเกาะกระแสตามสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ เช่น Instragram , Facebook , Line และบล็อกต่างๆเป็นต้น
มีสินค้าหลายบริษัทที่มียอดขายตามสื่อเหล่านี้มากกว่าหน้าร้านเสียอีก แถมยังสร้างกำไรสูงกว่าหน้าร้าน และไม่ต้องยุ่งยากในเรื่องการบริการหลังการขายสักเท่าไหร่ เพราะลูกค้าทางอินเตอร์เน็ตมักจะตัดสินใจเร็ว สนใจสินค้าตามกระแสและค่อนข้างหมดกระแสไวมากด้วยเช่นกัน
วิธีนี้จะช่วยเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจของคุณโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าร้าน ค่าขนส่ง เพราะส่งผ่านไปรษณีย์ ค่าจ้างพนักงานขาย ค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่นๆอีกมากมายที่คุณสามารถเซฟได้อย่างไม่น่าเชื่อ
5. ควบคุมและปราบปรามการทุจริตในองค์กร
การทุจริตภายใน คือสาเหตุหลักๆที่อยู่เบื้องหลังการปิดตัวกิจการหลายๆแห่ง เพราะสาเหตุของการขาดทุนภายนอก สังเกตได้ยากกว่าการทุจริตภายใน ซึ่งเกิดจากฝีมือของคนที่เราไว้ใจและมักจะมองข้ามอยู่เสมอนั่นเอง
ในโลกของธุรกิจ ความไว้ใจควรมีแต่พอสมควร เพราะถ้าไม่เผื่อพื้นที่สำหรับความระแวงเอาไว้บ้างแล้วล่ะก็ โอกาสที่คนภายในจะทำให้ธุรกิจคุณล้ม ก็ยิ่งสูงตามไปด้วย
วิธีสังเกตพนักงานทุจริตแบบง่ายๆ ตามหลักสากลก็คือ ให้สังเกตคนที่ใช้ชีวิตหรูหราขึ้นผิดหูผิดตา มีพฤติกรรมการใช้เงินที่ผิดปกติ สมาธิในการทำงานลดลง เพราะในสมองของบุคคลเหล่านี้จะมีแต่การคิดคำนวณอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
6. กระแสเงินสดย่อมดีกว่าเสมอ
ถ้าไม่มีความจำเป็น ไม่ควรเสี่ยงสร้างภาระหนี้สินโดยเด็ดขาด อย่าลืมว่าคุณมีลูกจ้างที่รอรับเงินเดือนจากคุณอยู่ทุกเดือน หากคุณล้ม ชีวิตของพวกเขาก็ย่อมล้มตามคุณไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้
เน้นใช้กระแสเงินสดที่หมุนเวียนภายในบริษัทจะเหมาะสมกว่า เพราะถือเป็นเงินเย็น ที่เมื่อคุณใช้จ่ายพร่องไปก็หามาเติมได้เรื่อยๆ ถึงจะไม่ใช่ยอดเงินที่หวือหวาจนน่าตกใจ แต่ก็ถือเป็นยอดผลกำไรที่มั่นคง และไม่มีภาระต่อเนื่องในระยะยาว
อ่านเพิ่มเติม >> กระแสเงินสด นั้น สำคัญไฉน <<
7. ลดจำนวนพนักงานตามความเหมาะสม
บางตำแหน่งหน้าที่ อาจเกินความจำเป็น ในกรณีที่หมดทางออกแล้วจริงๆ คุณต้องเลือกที่จะใช้วิธีนี้ เพราะการปรับลดจำนวนพนักงานที่ไม่ช่วยเพิ่มผลกำไรในบริษัทนั้น จะช่วยพยุงความมั่นคงในบริษัทของคุณให้มั่นคงยิ่งขึ้นมาประมาณหนึ่ง
วิธีเลือกแบบง่ายๆก็คือ เรียงตามลำดับความเจ้าปัญหาของพนักงานในแต่ละรูปแบบ โดยมองจากประวัติการทำงานเป็นหลัก ดังนี้
- ประเภทที่ขาดลามาสายเป็นประจำ ควรคัดออกเป็นอันดับแรก
- ประเภทที่วุฒิภาวะทางอารมณ์ไม่สูงพอ มีปัญหากับผู้ร่วมงานท่านอื่นๆอยู่เสมอ แบบนี้ควรคัดออกเป็นลำดับถัดไป
- ประเภทที่อยู่ไปวันๆ ชั่วไม่มี ดีไม่ปรากฏ แบบนี้เก็บไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ หากหมดทางเลือก ควรคัดออกเป็นอันดับสุดท้าย
8. ปรับลดเงินเดือนพนักงานคือทางเลือกสุดท้าย
หากการปรับลดจำนวนพนักงานยังใช้ไม่ได้ผล วิธีต่อไปที่ควรจะนึกถึงเป็นวินาทีสุดท้ายก็คือ การปรับลดเงินเดือนพนักงานที่ยังอยู่ ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน ก่อนจะดำเนินการ คุณต้องปรับความเข้าใจกับลูกจ้างเสียก่อน ว่าต้องใช้วิธีนี้เพื่อความอยู่รอดของพวกเราจริงๆ
ทั้งหมดนี้คือแนวทางรับมือสำหรับเจ้าของกิจการ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับยุคสงครามเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึง ถือเป็นวิธีง่ายๆที่ใช้ได้ผลจริง และช่วยพยุงกิจการของท่านให้ยั่งยืน และมั่นคงต่อไปได้ยาวนาน