เคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าว่าทำไมเมื่อซื้อบ้านไปแล้ว ธนาคารมักจะชวนเราให้ทำรีไฟแนนซ์บ้าน และมักจะมีโปรโมชั่นมาชักจูงเรามากมาย เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะตกลงรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคาร เราน่าจะทำความเข้าใจเรื่องรีไฟแนนซ์กันก่อนดีกว่า
รีไฟแนนซ์บ้าน คือ การนำสินเชื่อบ้านที่ยังผ่อนชำระอยู่กับธนาคารมาทำสัญญาสินเชื่อใหม่ ซึ่งอาจจะทำกับธนาคารเดิมที่เรามีสินเชื่ออยู่ หรือจะทำกับธนาคารใหม่ก็ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยของการทำสัญญาสินเชื่อใหม่ว่าที่ไหนจะถูกกว่ากัน และส่วนใหญ่ที่จะรีไฟแนนซ์บ้านกันก็เพราะว่าสินเชื่อตามสัญญาเดิมที่มีอยู่หมดช่วงโปรโมชั่นดอกเบี้ยแล้ว ทำให้เราจะต้องผ่อนชำระด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
อ่านเพิ่มเติม >> รีไฟแนนซ์ ช่วยคุณได้อย่างไร <<
ส่วนการ รีไฟแนนซ์บ้าน นั้นมีวัตถุประสงค์ในการรีไฟแนนซ์ 2 แบบหลักๆ ก็คือ
- แบบแรกรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อให้ได้อัตราผ่อนชำระน้อยลง โดยที่เราได้กู้เงินจากส่วนต่างเพิ่ม ซึ่งวิธีนี้เราทำเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยในการผ่อนชำระแต่ละเดือนถูกที่สุด เพราะส่วนใหญ่หลังจากปีที่ 3 ไปแล้ว ธนาคารส่วนใหญ่มักจะปรับดอกเบี้ยช่วงโปรโมชั่นเป็นดอกเบี้ยลอยตัวตามประกาศของธนาคาร ซึ่งมักจะอยู่ที่ 6-7% ต่อปี
- แบบที่สองรีไฟแนนซ์เพื่อนำส่วนต่างออกมาใช้จ่าย แบบนี้ก็คือ นอกจากรีไฟแนนซ์หนี้ส่วนที่เหลือแล้วยังมีการขอกู้เพิ่มเติมจากส่วนต่างที่เราได้ผ่อนชำระไปแล้ว ซึ่งเราก็สามารถนำส่วนต่างที่ได้ไปใช้ในการลงทุนหรือปิดหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลก็แล้วแต่ เพราะดอกเบี้ยจากการส่วนต่างที่ได้มานั้นจะถูกกว่าดอกเบี้ยจากบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลแน่นอน
แต่ก่อนที่เราจะ รีไฟแนนซ์บ้าน สิ่งที่เราต้องเปรียบเทียบในแต่ละธนาคารนอกจากอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่จะได้แล้ว เรายังจะต้องเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ด้วยว่าแต่ละธนาคารคิดกับเรายังไงบ้าง
โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์บ้าน ได้แก่ ค่าประเมินราคาทรัพย์สิน ที่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 บาท หรือบางครั้งเราทำงานอยู่กรุงเทพและผ่อนบ้านที่อยู่ต่างจังหวัดก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละธนาคาร ต่อมาก็จะเป็นค่าธรรมเนียมในการจัดการวงเงินส่วนใหญ่จะไม่เกิน 3,000 บาท นอกจากนั้นยังมีค่าอากรแสตมป์ที่คิดตามวงเงินสินเชื่อ ค่าจัดทำนิติกรรมสัญญา ค่าจดจำนองที่เราจะต้องโอนโฉนดบ้านของเราจากธนาคารเดิมไปธนาคารใหม่ และถ้าหากเราจะรีไฟแนนซ์ก่อนเงื่อนไขที่ธนาคารเดิมกำหนดเราก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการปิดบัญชีก่อนกำหนดอีกด้วย
อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ที่มีทั้งหมดนั้น บางทีธนาคารก็อาจจะจัดเป็นโปรโมชั้นเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น บางแห่งก็จะประกาศไปเลยว่าฟรีค่าประเมินทรัพย์สิน ฟรีค่าจดจำนองบ้าง แต่อาจจะไปรวมอยู่ในอัตราดอกเบี้ยแล้วก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะรีไฟแนนซ์บ้านเราจะต้องเปรียบเทียบและคำนวณให้รอบคอบอีกที เพราะฉะนั้นจะสรุปสิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงเวลาที่เราจะรีไฟแนนซ์บ้านอีกครั้ง
- จะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ทั้งหมดให้ดี
- อย่าลืมเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยหลังจากหมดโปรโมชั่นว่าเป็น MLR ลบเท่าไร หรือบางที่ก็เป็น MRR ลบ
- ธนาคารบางแห่งมีเทคนิคการตลาดเพื่อดึงลูกค้าของตัวเองไม่ให้ย้ายไปทำสินเชื่อที่ธนาคารอื่นๆ ก็จะเสนอให้เราขอยื่นเรื่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราผ่อนชำระใหม่ นั่นก็อาจจะทำให้เราไม่ต้องรีไฟแนนซ์บ้านให้ยุ่งยากก็ได้ อันนี้ต้องลองถามธนาคารแต่ละที่ดู
- โปรโมชั่นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าบางธนาคารก็อาจจะออกให้กับลูกค้าเพื่อดึงลูกค้าจากธนาคารอื่นก็เป็นได้ และก่อนที่จะรีไฟแนนซ์ก็ต้องดูสัญญาเก่าของเราด้วยว่าจะเสียค่าปรับในการปิดบัญชีก่อนกำหนดหรือเปล่า
ทีนี้ถ้าเราลองเปรียบเทียบเงื่อนไขต่างๆ แล้วบางทีเราอาจจะไม่ต้องทำรีไฟแนนซ์บ้านให้ยุ่งยาก เพราะถ้าหาก รีไฟแนนซ์บ้าน ผ่านแล้ว บางทีเราอาจจะต้องเสียเวลาในการไปโอนบ้านจากธนาคารเดิมไปธนาคารใหม่ก็เป็นได้