ตราสารอนุพันธ์ หรือ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Derivative เป็นตราสารทางการเงินที่อยู่ในรูปแบบของสัญญาหรือข้อตกลงที่จะซื้อหรือขายสินค้า ในปริมาณและราคาที่ตกลงกัน โดยจะมีการส่งมอบสินค้านั้นภายในอนาคต และราคาของอนุพันธ์นั้นจะขึ้นอยู่กับราคาของสินค้าอ้างอิง เช่น ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย ฯลฯ โดยจะทำการซื้อขายกันในตลาดที่เรียกว่า TFEX เป็นตลาดซื้อขายอนุพันธ์ที่มีในประเทศไทยประมาณ 10 ปี ได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ หรือ SET แต่ปัจจุบันการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ก็เริ่มเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มนักลงทุนมืออาชีพทั้งหลาย
ทั้งนี้หลักการซื้อขายในตลาดหุ้นกับตลาดอนุพันธ์จะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากลักษณะของหุ้นกับอนุพันธ์ที่มีความแตกต่างกัน โดยการซื้อขายในตลาดหุ้นนั้น ผู้ที่ซื้อหุ้นนั้นจะเกิดความเป็นเจ้าของในหุ้นที่ซื้อ ดังนั้นจึงต้องมีการชำระเงินเต็มจำนวนให้กับผู้ขาย ในวันที่กำหนดให้ชำระราคาและจะมีการส่งมอบหุ้นให้กับผู้ซื้อภายใน 3 วัน
ส่วนการซื้ออนุพันธ์ หรือการซื้อขายสินค้าล่วงหน้านั้น ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันว่า จะซื้อขายสินค้ากันในวันที่ครบกำหนดของสัญญาในราคาที่ตกลงกัน และในความเป็นจริงแล้วผู้ซื้อยังไม่ได้สิทธิความเป็นเจ้าของในสินค้าที่ตกลงซื้อขาย จึงทำให้ยังไม่ต้องชำระราคาเต็มมูลค่าของสินค้าเหมือนกับการซื้อหุ้น เพราะผู้ซื้อจะรู้จำนวนที่ต้องชำระที่แท้จริง ณ วันที่ครบกำหนดของสัญญา ซึ่งทำให้ระหว่างทางหากราคาของสินค้าอ้างอิงกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีการเพิ่มหรือลดได้ตลอดเวลา และถ้าหากราคาของสินค้าอ้างอิงลดลงมากก็อาจทำให้ผู้ซื้อต้องวางเงินเป็นหลักประกันเพิ่มขึ้นตามข้อตกลงของตลาด TFEX
ทีนี้ถ้าเราอ่านแต่ตัวหนังสืออาจจะเข้าใจยากสักหน่อย มาดูตัวอย่างการซื้อขายหุ้นเปรียบเทียบกับการซื้อขายอนุพันธ์กันแบบง่ายๆ ดีกว่า เช่น
ถ้าเราซื้อหุ้น PTT 1,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 400 บาท เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีเงินมาชำระค่าหุ้นทั้งหมด 400,000 บาท
แต่ถ้าเราซื้อเป็นสัญญาซื้อขายหุ้น PTT 1,000 หุ้น ในราคาที่ตกลงกันคือ 400 บาทต่อหุ้น ในวันที่ครบกำหนดของสัญญาซึ่งกำหนดไว้ที่ 1 เดือนข้างหน้า ดังนั้น ณ วันที่ทำสัญญาเราก็วางเงินไว้ประมาณ 10% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมด หรือประมาณ 40,000 บาท และเมื่อครบกำหนดตามสัญญา เราก็มาดูว่า ณ วันนั้นราคาหุ้น PTT เป็นเท่าไร
- ถ้าเป็น 420 บาทต่อหุ้นแสดงว่าเราได้กำไร
- แต่ถ้าราคาหุ้น PTT เป็น 380 บาทต่อหุ้น นั่นก็หมายความว่าเราขาดทุนจากการซื้อสัญญาซื้อขายหุ้น PTT เราก็จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม ณ วันที่สัญญาครบกำหนด
จากตัวอย่างการซื้อสัญญาซื้อขายหุ้น PTT นั้น จะเห็นได้ว่าเราไม่ต้องมีเงินถึง 400,000 บาท เราก็สามารถลงทุนในหุ้น PTT ได้ เพียงแต่เราจะไม่ได้สิทธิในการเป็นเจ้าของในหุ้น PTT เท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆ แล้วการลงทุนในตลาดอนุพันธ์นั้นมีประโยชน์ 2 ส่วนหลักๆ คือ
1. การใช้อนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง เช่น การซื้อสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อป้องกันอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจจะขึ้นหรือลงแล้วมีผลต่อการซื้อขายสินค้าของธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้า หรือการซื้อสัญญาซื้อขายอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันไม่ให้มีผลขาดทุนจากการที่อัตราดอกเบี้ยมีการเปลี่ยนแปลง สำหรับนักลงทุนที่มีการกู้เงินในวงเงินที่สูงมากๆ เป็นต้น
2. การใช้ประโยชน์จากตลาดอนุพันธ์ในการเก็งกำไรจากการผันผวนของราคาสินค้าภายในระยะเวลาสั้นๆ และอาจจะจบการซื้อขายภายในวันเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งเหมาะกับการลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยงมากและสามารถควบคุมปริมาณการซื้อขายให้อยู่ในความต้องการได้
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าตลาดอนุพันธ์ไม่ได้เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และทำให้นักลงทุนที่ อยากลงทุนในตราสารอนุพันธ์ แต่มีเงินไม่มากเท่าไรสามารถเข้ามาซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ได้ แต่ว่าก่อนการลงทุนทุกครั้งเราจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ที่สุด แล้วค่อยเข้าไปลุยในตลาดกับคนอื่น จะได้ไม่เจ็บตัวกลับมา