หลายครั้งที่เคล็ดความลับของบุคคลที่ประสบความสำเร็จมักเกิดจากการตั้งคำถามกับชีวิตที่เป็นอยู่ ไม่ต่างจากความสำเร็จในวันนี้ของสมุนไพรยาไทยแบรนด์ “อภัยภูเบศร” ที่เกิดจากคำถามในใจของ ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ริเริ่มพัฒนาสมุนไพรไทยให้ก้าวสู่ตลาดระดับสากลจากคำถามที่ว่า
“ทำไมประเทศไทยต้องนำเข้ายาแผนปัจจุบันจำนวนเงินกว่า 130,000 – 160,000 ล้านบาทในแต่ละปีด้วย ทำไมโรคง่าย ๆ เราไม่ทำยาของเราขึ้นเอง”
จากคำถามเล็ก ๆ ที่วนเวียนเข้ามาบ่อย ๆ ทำให้กลายมาเป็นแรงบันดาลในให้เภสัชญากรหญิงคนนี้หันมามุ่งมั่นศึกษาเรื่องสมุนไพรยาไทยอย่างจริงจัง ประกอบกับช่วงที่ได้ศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ เธอก็ยิ่งตระหนักดีถึงความจำเป็นในการแสวงหาความรู้เรื่องยาไทยและได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2549 ไว้ว่า
“คนไทยพึ่งตัวเองไม่ได้เรื่องยา แม้แต่หลักสูตรด้านเภสัชที่เรียนมาทั้งยาและเครื่องมือแพทย์ เราต้องซื้อจากต่างประเทศทั้งหมด เป็นจุดที่ทำให้เราคิดว่าเราต้องสร้างองค์ความรู้เพื่อสามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริงในด้านสุขภาพ”
ดังนั้น ดร. สุภาภรณ์จึงเริ่มต้นด้วยการลงพื้นที่ต่างจังหวัดตามแนวชายแดน, เดินทางไปแลกเปลี่ยนความรู้ทางการแพทย์กับหมอยาไทยจริง ๆ และรวบรวมพันธุ์สมุนไพรในป่าเพื่อทำการศึกษาตัวยา กลายเป็นภาพชินตาของชาวบ้านในจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อได้พบเห็นเภสัชกรหญิงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าทะมัดทะแมงเดินเข้าป่าไปหาความรู้เรื่องสมุนไพรกับเครือข่ายหมอชาวบ้านกว่า 12 คนในช่วงระยะเวลายาวนานต่อเนื่องกว่า 30 ปีที่ผ่านมา สำหรับการตัดสินใจครั้งนี้ของดร. สุภาภรณ์ เริ่มขึ้นหลังจากที่เธอจบการศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และในปีพ.ศ. 2526 เธอก็ได้เริ่มต้นอาชีพรับราชการในตำแหน่งหัวหน้างานผลิตยาทั่วไปและยาปราศจากเชื้อที่โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศรค่ะจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ดร. สุภาภรณ์ในวัย 50 กว่าปีก็ยังคงจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งออกเดินทางเลาะตามแนวชายแดนเพื่อเก็บรวบรวมสมุนไพรป่าและเสริมองค์ความรู้เรื่องยาต่อไป
ความสำเร็จที่เป็นแรงใจสำคัญให้ดร. สุภาภรณ์พัฒนางานด้านการรักษาโรคด้วยสมุนไพรไทยเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2529 ครั้งนั้นเธอสามารถผสมผสานความรู้เภสัชศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาแบบสมุนไพรไทยจนออกมาเป็นตำรับยาสมุนไพรแรก “กลีเซอรีนเสลดพังพอนตัวเมีย” ที่มีสรรพคุณรักษาและบรรเทาอาการโรคเริมในปากของเด็กเล็ก ยาสมุนไพรตัวนี้ได้รับการยอมรับและถูกนำมาใช้รักษาอาการในโรงพยาบาลแทนยานำเข้าจากต่างประเทศ และครั้งนั้นสูตรตำรับยาสมุนไพรไทยนี้ยังได้รับการผลิตด้วยรูปแบบกรรมวิธีเดียวกับยาแผนปัจจุบันอีกด้วย จนเป็นแรงผลักดันสำคัญให้มีการคิดค้นและพัฒนาสมุนไพรยาไทยอื่น ๆ ในช่วงเวลาต่อมาค่ะ จนกระทั่งปีพ.ศ. 2540 วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศเป็นอีกช่วงจังหวะชี้อนาคตของแบรนด์ยาสมุนไพรไทยอภัยภูเบศร เมื่อยาสมุนไพรอย่างอภัยภูเบศรได้ถูกเลือกนำมาใช้รักษาภายในโรงพยาบาลแทนยานำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูงมาก ๆ ทำให้ยาสมุนไพรอภัยภูเบศรสามารถเปิดตลาดและวางจำหน่ายไปทั่วประเทศและเป็นที่รู้จักในฐานะยาแพทย์แผนไทยค่ะ
ก้าวสำคัญในการนำผลิตภัณฑ์ยาออกวางขายในประเทศนั้น แรงหนุนสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ ดร. เปรม ชินวัฒนานนท์ ผู้ผลักดันให้มีการทำธุรกิจแบบเต็มตัวในรูปของนิติบุคคลเมื่อปี พ.ศ. 2545 ภายใต้การบริหารและจัดการของมูลนิธิ แม้ว่าสินค้ายาจะดีมาก แต่เรื่องการตลาดนั้น ดร. สุภาภรณ์ ยอมรับว่าอ่อนมากเพราะเป็นแบรนด์ที่ไม่มีกลยุทธ์ทางการตลาดอะไรเลย มีเพียงอย่างเดียวก็คือ การบอกกันแบบปากต่อปากของผู้ที่ได้ใช้ยา หรือก็คือ “word of mouth” ค่ะ ส่วนในเรื่องของช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าก็ใช้วิธีสะเปะสะปะ ไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจน ใครติดต่อเข้ามาก็ลดให้ราว ๆ 30% จากนั้นก็มารับของแล้วหิ้วไปวางขายกัน แต่ลูกค้าสามารถตรวจดูรายชื่อตัวแทนจำหน่ายได้ผ่านทางเว็บไซด์ของอภัยภูเบศร www.abhaiherb.com ซึ่งอาจจะบอกได้ว่า ตัวแทนจำหน่ายก็คือคนที่มาหิ้วสินค้าโดยตรงจากทางโรงพยาบาลไปวางขายในทำเลของตนค่ะ ไม่เฉพาะแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศก็ใช้วิธีการขายแบบนี้เช่นกัน
จนถึงปัจจุบันนี้ ยาสมุนไพรแผนไทยภายใต้ตราสินค้าชื่อไทย “อภัยภูเบศร” สามารถแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ออกได้มากถึง 5 กลุ่มหลัก ๆ ด้วยกัน ประกอบด้วย ยาสมุนไพร. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, เครื่องดื่ม, เครื่องสำอาง และ ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์ค่ะ
ส่วนกุญแจสำคัญแห่ง ความสำเร็จยาแผนไทย อภัยภูเบศ ในวันนี้ นอกจากจะมาจากความเชื่อมั่นในแบรนด์หลักของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรแล้ว การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพดีและเสริมจุดแข็งด้วยการสื่อสารไปยังคนรุ่นใหม่
เพราะมองออกว่าการจะกระตุ้นความสนใจให้คนกลุ่มนี้มาลองใช้สินค้า แค่บอกว่าเป็นยาบำรุง หรือ เป็นยาจากสมุนไพรเท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องชัดเจนลงไปเลยว่า มีสารแทนนิน มีสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยกระตุ้นการทำงานที่ดีของเซล phagocyte ควบคู่ไปกับการออกแบบแพคเกจจิ้งให้ดูทันสมัยมากขึ้น ส่งผลให้ยอดจำหน่ายของอภัยภูเบศรในวันนี้ทะยานสู่มูลค่า 300 ล้านกว่าบาท และแผนขยายงานในอนาคตของอภัยภูเบศรก็คือ “อภัยภูเบศรเวชนคร เฮลท์คอมเพล็กซ์เขาใหญ่” บนเนื้อที่ขนาดใหญ่มากกว่า 100 ไร่ซึ่งภายในบริเวณจะมี สวนสมุนไพร ASEAN ที่มีสมุนไพรนานาชนิดกว่า 2,000 อย่างถูกรวบรวมเอาไว้ที่นี่ค่ะ