กลยุทธ์ตั้งราคาสินค้า ที่แบรนด์ร้านค้าต่างมักจะนำออกมาใช้นั้น แท้จริงแล้ว ไม่เพียงแค่จะต้องการเรียกร้องความสนใจจากลูกค้า หรือ แค่กระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าและบริการนั้น ๆ ภายใต้เงื่อนไขว่าคุ้มราคากว่าแล้วเท่านั้นนะคะ แต่แบรนด์ร้านค้ายังต้องการลดต้นทุนของตัวเองลงไปอีกด้วยต่างหาก
อย่างที่ได้เคยยกตัวอย่างกันไปถึง 2 กลยุทธ์การตั้งราคาสินค้า ให้ดูคุ้มค่ากว่าที่คิด แบบแรกก็คือ การบอกไม่หมด ส่วนกลยุทธ์ด้านราคาแบบที่ 2 นั้นเป็นการซ่อนราคาแบบตีเนียน คือ ไม่เพิ่มราคาสินค้าให้เห็นแต่แอบลดปริมาณสินค้าลง ทำให้ลูกค้าเข้าใจไปว่าเขาจ่ายราคาเท่าเดิม แต่สิ่งที่แอบลดลงคือปริมาณ ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้สินค้าไม่โดนใจ คุณภาพตก และ ลูกค้าขาดความเชื่อมั่นไม่สนับสนุนแบรนด์ต่อไป สุดท้ายเป็นการส่งผลร้ายต่อแบรนด์ได้ค่ะ ทีนี้ เราลองมาดูกลยุทธ์การตลาดในรูปแบบอื่น ๆ กันดูบ้างนะคะ
แบบที่ 3 กลยุทธ์โปรโมชั่นซ่อนดอกจัน
ในปัจจุบันนี้การส่งเสริมการขาย หรือ การจัดโปรโมชั่นยังคงได้ผลแรงและได้รับการตอบรับกลับมาเร็ว ทำให้แบรนด์ยังคงนิยมใช้กันอยู่มาก แต่ที่ซ่อนมาในโปรโมชั่นต่าง ๆ ก็คือ ดอกจัน และ ตัวอักษรขนาดเล็กกระจิ๊ดริดภายใต้รูปสื่อโฆษณากระชากใจ ถ้าลูกค้าคนไหนหลงไปอ่านเฉพาะหัวข้อก็อาจจะพลาดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่แอบจำกัดสิทธิ์บางประการหรือคิดค่าบริการเอาไว้ โดยเฉพาะกรณีของโปรโมชั่นบัตรเครดิตธนาคารต่าง ๆ นั้น มักจะมาพร้อมคำชวนสมัครบัตรฟรีและส่วนลดค่าบริการร้านอาหาร แต่กลับบอกเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเอาไว้เป็นตัวอักษรตัวเล็ก ๆ ที่ถ้าลูกค้าไม่ได้เพ่งลงไปในรายละเอียดการใช้บัตรเครดิตกันจริง ๆ ก็คงจะไม่รู้อะไรเลย จนกว่าจะถูกเรียกเก็บบิลขึ้นมาค่ะ
แบบที่ 4 กลยุทธ์หว่านราคาเริ่มต้นเพียง
จัดเป็นอีกหนึ่งธรรมชาติของคนเราค่ะ ที่พอเห็นสินค้าราคาถูกก็จะหันเหและมาให้ความสนใจกันทันที ยิ่งถ้าได้เห้นป้ายราคาบอกว่าเริ่มต้นเพียง… หรือ ถูกสุด ๆ เพียง… รับรองว่าเดินคอเอียงมองตามกันเป็นแถว ๆ ค่ะ เพราะสมองของเราจะสั่งการทันทีว่าราคานี้ถูกกว่าที่เคยซื้อเคยช้อปมา หรือบางครั้งบางร้านก็ใช้วิธีจัดโปรลดล้างสต็อก 80% แต่ราคาสินค้าที่ลดจริง ๆ นั้นจะอยู่ระหว่าง 20 – 80 % ต่างหาก แต่นั่นแหละค่ะ ป้าย Sales 80% นั้นกลับลากลูกค้าให้เดินเข้ามาชมกันซะก่อนแล้ว เป็นการสร้างโอกาสการขายให้เกิดขึ้นภายในร้านค่ะ หรือในบางครั้ง กลยุทธ์ราคาเริ่มต้น ก็สามารถนำมาใช้เพื่อการโฆษณาให้เตะตาเตะใจลูกค้าก่อนที่จะแวะเดินไปเข้าร้านอื่นค่ะ สมมุติว่าร้านอาหารปิ้งย่างชื่อดังขึ้นป้ายหน้าร้านว่า อร่อยสุดคุ้มเริ่มต้นเพียง 29 บาท แต่เมื่อลูกค้าเดินเข้าไปนั่งในร้านแล้วพบว่าเมนูอาหาร 29 บาทไม่ใช่แบบที่ชอบ แต่เห็นเมนูอาหารเซตอื่นน่าสนใจกว่า แม้ราคาจะสูงกว่า 29 บาทก็ตาม ลูกค้าก็เลือกจะสั่งเซตนี้แทน กลยุทธ์ราคาเริ่มต้นเพียง…จึงเป็นเหมือนใบเบิกทางให้ลูกค้าเข้ามาในร้าน และเป็นการเปิดช่องให้เกิดโอกาสซื้อขายมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ขายย่อมได้ประโยชน์มากกว่าผู้บริโภค ทีนี้ ครั้งหน้าถ้าคุณได้ผ่านไปเห็นคำว่าราคาเริ่มต้นเพียง…ก็จงเฉลียวใจไว้สักนิดก่อนจะเลือกซื้อเลือกเดินเข้าร้านไปนะคะ
แบบที่ 5 กลยุทธ์คิดบวกก่อนหักลดราคา
อย่างที่รู้ ๆ กันว่า ป้ายลดราคาที่มาพร้อมตัวเลขส่วนลด 30 – 50% นั้น กระแทกตากระชากใจนักช้อปได้ไม่ยาก สองขาก็จะลากกันเข้าไปเลือกดูเลือกซื้อกันสักหน่อย โดยไม่ทันได้ดูให้ดีว่าราคาปกติก่อนลดคือเท่าไรกันแน่ เพียงแค่มองป้ายแดง ๆ ว่าลดเหลือ 300 บาทก็กวาดซื้อมาสอยกันมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่เอาเข้าจริง ๆ สินค้านั้นอาจจะมีมูลค่า 300 บาทอยู่แล้ว แต่ทางร้านเลือกที่จะปรับราคาบวกขึ้นไปก่อนแล้วก็ใช้กลยุทธ์ลดราคาสุดคุ้มมาล่อให้นักช้อปเผลอใจลืมคิดถึงคุณค่าของราคาที่แท้จริงในสินค้าชิ้นนั้น วิธีเอาตัวรอดจากกลยุทธ์ราคาคิดบวกก่อนหักลดก็คือ ให้ฉุกคิดและเปรียบเทียบราคากับโปรโมชั่นของร้านอื่น ๆ ดูก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อมาครอบครองกันนะคะ
สำหรับคุณที่อาจจะไม่ใช่มือโปรนักช้อป หรือ นักล่าสินค้าราคาถูก หรือ แม่บ้านขาประจำที่จำได้ทุกเม็ดว่าแบรนด์ไหน สินค้าอะไรราคาถูกกว่ากัน และไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของแบรนด์สินค้าใดเป็นพิเศษที่จะได้มองปุ๊บก็รู้ว่าราคาสินค้าลดลงมาจริงหรือเป็นกลลวงด้านราคา ก็ลองจับสังเกตกลยุทธ์การตลาดทั้ง 5 แบบนี้กันให้ดี ๆ ก่อนนะคะ รู้ทันกันไว้จะได้ไม่พลาดคิดว่าได้ของที่คุ้มอยู่ฝ่ายเดียวนะคะ