หากลงทุนในหุ้นแล้วไม่อยากอยู่บนดอยนาน เราต้องหาทางลงจากดอยกันให้ได้ เพราะถ้า หุ้นติดดอย ยิ่งอยู่นานมันก็จะนานไปเรื่อยๆ เพราะบางครั้งเราก็รอวันที่ราคาของหุ้นจะขึ้นมาเท่ากับราคาที่เราถืออยู่แต่ก็ไม่ขึ้นสักที หรือวิเคราะห์ครบทุกเหลี่ยม ทุกมุมแล้ว ราคาของหุ้นที่เราถืออยู่จะกลับมาอยากแน่ๆ แล้ว ก็ต้องตัดใจลงจากดอยกันดีกว่า
อ่านเพิ่มเติม >> หุ้นติดดอย ทําไงดี ?! <<
วิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันไม่ว่าจะนักลงทุนมืออาชีพแบบพวก VI ทั้งหลายหรือจะเป็นผู้จัดการกองทุนที่มีมูลค่าการลงทุนเป็นหมื่นล้าน นั่นก็คือ การกำหนดจุดขาดทุน หรือ Stop Loss ในการลงทุนที่ชัดเจนและแน่นอน เนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมทิศทางของตลาดหุ้นได้ แต่เราสามารถควบคุมสถานการณ์ของพอร์ตเราได้ ดังนั้นเราก็สามารถเลือกที่จะหยุดการขาดทุนในราคาที่เราตั้งเอาไว้ในใจได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะถ้าเรากำหนด Stop Loss ของเราแล้ว ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ จะช่วยทำให้สถานการณ์ในการลงทุนของเราไม่เลวร้ายหนักไปกว่าเดิม และที่สำคัญอีกอย่างคือ จะช่วยให้การลงทุนของเราเกิดการวางแผนล่วงหน้ามากขึ้นด้วย
ส่วนการกำหนดจุดขาดทุนหรือ Stop Loss ก็มีหลายวิธี เช่น
- การตั้งตามความเสี่ยงที่รับได้
- การตั้งตามรูปแบบกราฟ
- ตั้งตามความผันผวนของตลาด
- ตามระยะเวลา
อย่างที่นโยบายการลงทุนของ บลจ.ส่วนใหญ่มักจะกำหนดไว้ที่ ร้อยละ 30 ของราคาที่ซื้อครั้งแรก เช่น หากกองทุนที่ บลจ.บริหารมีการซื้อหุ้น A ที่ราคา 100 บาท หากมีเหตุการณ์ผันผวนทำให้ราคาของหุ้น A ตกลงมาที่ 70 บาท ผู้จัดการกองทุนก็อาจจะทำการวิเคราะห์สถานะการณ์ต่างๆ ของหุ้น A เพื่อที่จะตัดสินใจขายหุ้น A ออกจากกองทุน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นตัวเราเอง เราก็ต้องกำหนดจุดขาดทุนของเราที่เราสามารถรับได้ ซึ่งแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ เมื่อกำหนดจุดขาดทุนแล้ว ก็จะต้องตัดใจทำให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะกลับไปอยู่บนดอยอีกเหมือนเดิม
ถ้าเป็นคำศัพท์ในวงการจะเรียกการตัดใจขายหุ้นเมื่อราคาถึงจุดขาดทุนว่า การ Cut Loss หรือจะแปลความหมายให้เป็นทางการอีกนิดก็คือ การตัดการสูญเสียหรือการจำกัดความเสี่ยง เพื่อหยุดการขายทุนและปกป้องเงินต้นไว้ รวมถึงเพื่อป้องกันไม่ให้กำไรลดน้อยลง ซึ่งการ Cut Loss นี้เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันมากอันหนึ่งในหมู่นักลงทุน แต่ก็ต้องมีระเบียบในการใช้อย่างมาก เพราะหลายๆ คนที่ขาดทุนไม่เป็นท่าจากการใช้ Cut Loss ก็มีอยู่ นั่นก็เพราะว่าไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ได้สร้างขึ้นเอาไว้นั่นเอง
ทีนี้เรามาลองหาวิธีการกำหนดจุดขาดทุนของเราดีกว่าจะหาจากอะไร อย่างที่ได้บอกไว้ตอนต้นเรากำหนดแบบง่ายๆ ก็คือ ถามตัวเองว่ายอมรับการขาดทุนจากการลงทุนได้เท่าไร ซึ่งขาดทุนมากน้อยของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเราต้องถามตัวเองว่าเรารับได้ที่เท่าไร บางคนบอกว่า 10% ก็มากพอแล้ว แต่บางคนรับได้ถึง 30% ก็แล้วแต่กันไป
แต่ก็ไม่ใช่ว่าการตั้งจุดขาดทุนนั้นจะตั้งตามอารมณ์ของเราแต่อย่าง การตั้งจุดขาดทุนอย่างเป็นระบบโดยใช้ข้อมูลในการลงทุนมาเป็นเกณฑ์นั้นก็มี โดยการหาจุด Stop Loss จากเส้นแนวโน้ม คือ เราจะต้องหาเส้นแนวรับและแนวต้าน เพื่อใช้เป็นจุด Stop Loss
จากกราฟเราจะเห็นว่าราคาของหุ้นเริ่มมีราคาต่ำทะลุแนวรับช่วงราคา 48-50 บาท นั่นก็คือ จุด Stop Loss ของเรา และพอเลยจุดนั้นมาแล้วจะเห็นได้ว่าราคาต่ำลงเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ยอมขายเมื่อราคา 48-50 บาท นั่นอาจทำให้เราขาดทุนมากขึ้นก็เป็นได้ แต่ผิดกับนักลงทุนบางรายที่มองว่าหุ้น CPALL เป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดี และยังมั่นใจในการบริหารงานของบริษัท จึงยอมที่จะไม่ Cut Loss เพียงแต่เฝ้าระวังและติดตามข่าวของหุ้น CPALLอย่างใกล้ชิด เพราะมองว่าเมื่อต้นปีหุ้น CPALL เคยตกลงไปต่ำกว่าราคา 40 บาท แล้วก็กลับมาขึ้นได้อีก เพราะฉะนั้นนักลงทุนบางคนก็ยังไม่ยอม Cut Loss หุ้น CPALL จากพอร์ตของตัวเอง
เพราะอย่างที่เคยบอกไปแล้วการลงทุนไม่มีทฤษฎีตายตัวแน่นอนว่าช่วงนี้ต้องซื้อ ช่วงนี้ต้องขาย เพียงแต่เราต้องศึกษาข้อมูลรอบด้านให้ดีเพียงพอ แล้วค่อยตัดสินใจซื้อหรือขายก็ไม่ผิดกติกาหรือทฤษฎีแต่อย่างใด