ตลาดการเงิน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ใหญ่ ๆ ได้แก่ ตลาดเงิน และ ตลาดทุน ( สำหรับตลาดเงิน ติดตามได้ ที่นี่ ค่ะ ) วันนี้มาทำความรู้จักกับ กองทุนรวม หนึ่งในสินทรัพย์การเงินในตลาดทุนกันนะคะ
ลงทุนในกองทุนรวม
หากจะพูดถึงการลงทุนในกองทุนรวมด้วยภาษาง่าย ๆ ก็คือ การที่มีคนหลาย ๆ คน มีเงินอยู่ในมือ อยากจะเอาเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น อยากลงทุนในหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทอง ฯลฯ แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่างเช่น มีเงินไม่มาก หรือมีความรู้ในการลงทุนในสินทรัพย์นั้น ๆ ไม่เพียงพอ หรือไม่มีเวลาติดตามการลงทุน ก็เลยเลือกที่จะเอาเงินมากองรวมกันกับคนอื่น ๆ ที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน แล้วไปจ้างผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในการลงทุนในสินทรัพย์ที่ต้องการลงทุนนั้น ๆ (ผู้จัดการกองทุน) มาคอยดูแลซื้อขาย และติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนให้นั่นเอง
สำหรับกองทุนรวมบ้านเรา แบ่งออกเป็นหลายประเภท หากแบ่งตามนโยบายการลงทุน สามารถแบ่งออกได้เป็น 10 แบบ ตามมาตรฐานของสำนักงาน ก.ล.ต. ( >> รายละเอียด << ) จะขอยกมาพูดถึงเฉพาะกองทุนพื้นฐานดังนี้
กองทุนรวมตลาดเงิน : มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี
กองทุนรวมตราสารหนี้ : มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้ เป็นต้น
กองทุนรวมตราสารทุน : มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนประเภทต่าง ๆ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นปุริมสิทธิ์ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่น ๆ เป็นต้น โดยมีหลักเกณฑ์จาก สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดไว้ว่าจะต้องลงทุนในตราสารทุนโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม โดยสัดส่วนที่เหลือสามารถลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทอื่น ๆ ได้
กองทุนรวมผสม : มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินได้ทุกประเภท แต่ต้องมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนในขณะใดขณะหนึ่งไม่น้อยกว่า 35% และไม่เกินกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนนั้น
สามารถเรียงลำดับความเสี่ยงของกองทุนแต่ละประเภทที่กล่าวถึง จากต่ำไปสูง ได้ดังนี้
กองทุนรวมตลาดเงิน > กองทุนรวมตราสารหนี้ > กองทุนรวมผสม > กองทุนรวมตราสารทุน
LTF
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กองทุนที่คนพูดถึงกันมากที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ( Long Term Equity Fund) ซึ่งเป็นกองทุนหนึ่งที่จัดอยู่ในประเภทกองทุนรวมตราสารทุน โดยเป็นกองทุนที่ทางการสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบันที่จะลงทุนระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้หากผู้ลงทุนสถาบันดังกล่าวมีจำนวนมากขึ้น ก็จะทำให้ตลาดทุนไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น
การที่กองทุนประเภทนี้ถึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงสิ้นปีนั้น เห็นจะหนีไม่พ้นสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ซึ่งเงินลงทุนในกองทุน LTF สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจิง แต่สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น และไม่เกิน 500,000 บาท และนอกจากนี้ กำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมารวมเป็นรายได้เพื่อคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกด้วย
ในความเป็นจริงการลงทุนใน LTF ไม่ได้มีข้อดีแค่เรื่องลดหย่อนภาษี ย้อนกลับไปที่ชื่อกองทุน “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” จากชื่อก็เห็นอยู่แล้วว่าเป็นการลงทุนแบบระยะยาว ซึ่งจากหลักการของการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพ ยิ่งลงทุนนาน ผลตอบแทนยิ่งมากขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงก็ลดลงไปด้วย
ในปัจจุบัน ทางการได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในการถือครองหน่วยลงทุน โดยกำหนดไว้ว่า เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีผู้ลงทุนจะต้องซื้อและถือหน่วยลงทุน LTF ไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน จากของเดิมคือ 5 ปีปฏิทิน ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สอดคล้องกับนิยามของ “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” มากขึ้น และอีกนัยหนึ่งก็ทำให้เกิดประโยชน์ต่อนักลงทุนมากขึ้น ดังที่กล่าวไปแล้ว “การลงทุน” ที่มีประสิทธิภาพ ควรเป็นการลงทุนในระยะที่ยาวพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในตระกูลหุ้น (หุ้น, กองทุนรวมหุ้น) เนื่องจากการลงทุนในหุ้น ก็เหมือนกับการลงทุนในกิจการ การลงทุนในกิจการก็ต้องใช้เวลาระยะเวลาหนึ่งกว่ากิจการจะเติบโต หากกิจการนั้นเป็นกิจการที่ดี ยิ่งนาน ผลตอบแทนก็จะมากขึ้นในขณะที่ความเสี่ยงในกิจการก็ลดลงด้วย
เพิ่มเติม : สินเชื่อส่วนบุคคล กับข้อมูลสำคัญที่ควรรู้ เพื่อทางเลือกที่ดีกว่า