ปัจจุบันคนทำงานฟรีแลนซ์ให้สาขาต่างๆนั้นมีมากพอสมควรและเกือบครึ่งของคนทำฟรีแลนซ์นั้นไม่เข้าใจเรื่องของภาษี ซึ่งบางคนเข้าใจว่าจ่ายภาษี ณ ที่จ่ายก็คือจบแค่ตรงนั้น แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ ซึ่งคนทำงานฟรีแลนซ์นั้นก็เข้าข่ายการเสียภาษีด้วยเช่นกัน ซึ่งฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าการทำงานแนวนี้จะเสียภาษีน้อยหรือบางคนไม่เสียเลยเพราะมีการจ้างงานและจ่ายเงินโดยไม่มีการขอเอกสารเพื่อไปหักภาษี
แต่สำหรับการจ้างงานในบางแห่งนั้นจะมีการขอเอกสารอย่างสำเนาบัตรประจำตัวของผู้รับงานเพื่อไปหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าข่าย มาตราภาษีเพราะการจ่ายค่าจ้างนั้นจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งจะมีสองกรณีคือ ผู้จ้างจ่ายให้ หรือหักจากค่าจ้างที่จ่ายให้เราซึ่งทั้งสองกรณีจะมีการออกใบหักภาษี ณ ที่จ่ายซึ่งบางแห่งอาจส่งให้ทุกเดือนหรือบางแห่งส่งให้ปีละครั้ง แต่เมื่อไหร่ที่มีการเข้าระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเท่ากับว่าข้อมูลของเราจะถูกส่งไปยังสรรพากรเรียบร้อย นั่นหมายถึงเราจะอยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษี ซึ่งการเสีย ภาษีของฟรีแลนซ์ นั้นจะคำนวณคล้ายๆกับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของงานที่ทำด้วยโดยจะดูจากรายได้เป็นหลัก ซึ่งเมื่อมีการจ้างงานและหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น สิ่งที่คนเป็นฟรีแลนซ์ต้องให้ความสำคัญคือการรวบรวมเอกสารหักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้ว่าจ้าง ต้องเก็บให้ครบทุกบิลที่มีการจ่ายชำระค่าจ้างต่างๆ และหากมีการจ่ายในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มในงานที่ทำต้องเก็บใบเสร็จให้ครบทุกใบด้วย เพื่อเป็นหลักฐานในการยืนยันรายได้
นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบกฎเกณฑ์ของภาษีในหมวดรายได้พึงประเมินของกรรมสรรพากรด้วยว่าอาชีพ ฟรีแลนซ์ของเรานั้นอยู่ในหมวดไหน มีค่าใช้จ่ายอะไรที่นำมาหักภาษีหรือจ่ายภาษีเหมาได้บ้าง และคำนวณภาษีรายได้ของตัวเองออกมา ซึ่งส่วนใหญ่หากเป็นการทำงานฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ไม่มากคือไม่เกิน 200,000 บาทต่อปีจะไม่ต้องเสียภาษีและสามารถเรียกคืนภาษีหัก ณ.ที่จ่ายทั้งหมดได้ไม่ว่าจะเป็นกรณีจ่ายเองหรือผู้ว่าจ้างจ่ายให้ แต่หากคำนวณแล้วว่ารายได้ทั้งหมดเกิน 200,000 บาทต่อปีจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมแน่นอนซึ่งในกรณีนี้ ชาวฟรีแลนซ์ก็สามารถหาตัวช่วยมาลดหย่อนภาษีได้เช่น การทำประกันชีวิต การซื้อกองทุนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่คนทำฟรีแลนซ์มักจะพลาดจุดนี้กันคือไม่มีการคำนวณรายได้ต่อปี และไม่มีการเตรียมเงินสำหรับการจ่ายภาษีเพราะคิดว่ารายได้ไม่มาก แต่บางคนรับงานหลายๆเจ้าเดือนหนึ่งรายได้เฉลี่ยมากกว่า 20,000 บาทอันนี้ก็เข้าข่ายเสียภาษีแล้ว
ดังนั้นสิ่งสำคัญของคนทำฟรีแลนซ์ที่ห้ามพลาดคือ การคำนวณรายได้ทุกๆเดือนว่ามีเท่าไหร่โดยต้องแยกระหว่างรายได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และรายได้ที่ไม่หักภาษี และให้สันนิษฐานก่อนเลยว่าผู้ว่าจ้างรายไหนที่ขอบัตรประจำตัวประชาชนเราไปนั้นอาจจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายต้องรวมรวบเอกสารการหักภาษีกลับมาให้ครบทุกแห่งเพื่อเป็นหลักฐานยื่นกับกรรมสรรพากร และหากมีหลุดรอดไปโดยที่เราไม่รู้และหากมีการเรียกตรวจจากสรรพากรสิ่งที่เราจะยืนยันได้คือ สเตทเม้นท์การรับเงินของเรา ซึ่งบางแห่งขอบัตรประชาชนไปจริงแต่ไม่ได้หักภาษีตามที่ว่าจ้างเราแต่เอาสำเนาบัตรของเราไปใช้หักของการว่าจ้างงานอื่นๆทำให้เรามีรายได้สูงเกินจริงเราก็ต้องหาหลักฐานไปยืนยันด้วย
อ่านเพิ่มเติม >> ฟรีแลนซ์ ความเสี่ยง และข้อจำกัดที่ควรรู้ <<
นอกจากนี้การหักรายได้ส่วนหนึ่งไว้สำหรับการเสียภาษีก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างน้อยๆเดือนละ 30% ของรายได้ทั้งเดือนเตรียมไว้ล่วงหน้าหากเกิดความไม่แน่ใจในเรื่องรายได้สรุปตอนสิ้นปีภาษี หรือหากรายได้อยู่ในข่ายการเสียภาษีการหาส่วนลดต่างๆเช่น กองทุนลดหย่อนภาษีก็เป็นสิ่งที่ชาวฟรีแลนซ์ต้องให้ความสนใจกันแล้ว เตรียมวางแผนภาษีไว้แต่เนิ่นๆเพื่อความไม่ประมาทในเรื่องของการโดนภาษีย้อนหลัง ที่สำคัญคือต้องศึกษาข้อมูลหรือหากไม่แน่ใจให้สอบถามกับผู้ที่มีความรู้ด้านนี้จะได้คำตอบและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์มากที่สุด
เพิ่มเติม : สินเชื่อส่วนบุคคล ซิตี้แบงก์ ทางเลือกที่ดีกว่า