บางครั้งการที่คนเราจะประสบความสำเร็จได้ ก็ไม่ได้มาจากการที่เรามีไอดอลหรือบุคคลที่เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นแรงบันดาลใจของเราเสมอไป เพราะคนเรานั้นมักเจออะไรที่ไม่คาดคิดเสมอ และอะไรที่ไม่คาดคิดนั่นล่ะ คือจุดเปลี่ยนและเป็นจุดที่ทำให้เราอยากทำอะไรบางอย่างโดยไม่มีข้อแม้ เช่นเดียวกับชายคนนี้ Blake Mycoskie หรือ เบรค นั่นเอง
“ เบรค ” เป็นผู้ชายธรรมดาๆคนหนึ่ง ที่มีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ต่อเพื่อมนุษย์ เขาเกิดที่รัฐเทกซัส จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเกิดขึ้น เมื่อเบรคได้เดินทางไปท่องเที่ยวในอเมริกาใต้และเลือกเรียนต่อที่อาร์เจนตินา วันหนึ่งเขาก็ได้พบว่า เด็กๆที่นี่ ไม่มีรองเท้าใส่ ถึงจะมีก็เป็นแค่รองเท้าขาดๆคู่หนึ่ง ถึงตอนนี้ที่ผู้เขียนได้อ่านเรื่องราวของเบรค ก็ทำให้นึกย้อนไปในอดีต สมัยเรียนชั้นประถมศึกษาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เด็กๆในชนบท ไม่ต่างอะไรกับเด็กๆที่เบรคเจอในอเมริกาใต้เลย แต่โชคดีกว่านิดนึงที่อย่างน้อยก็มีรองเท้าแตะพอที่จะทนทานใส่เดินทางไปโรงเรียนได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ว่าจะมีทุกคน บางคนก็ไม่มี น้อยคนที่จะได้ใส่รองเท้านักเรียนสวยๆ ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งคนที่พ่อแม่พยายามหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ การที่ได้ใส่รองเท้านักเรียนไปโรงเรียน ทำให้เป็นที่สนใจของเด็กๆหลายๆคน ซึ่งเขาไม่มี ถึงตอนนี้ก็เข้าใจแล้วว่า
ความเท่าเทียมนั้นสำคัญไฉน และคิดว่า เบรค คงมีความรู้สึกเช่นนี้เหมือนกัน หลังจากที่กลับจากการท่องเที่ยว เบรคก็ได้คิดหาวิธีการที่จะช่วยให้เด็กๆมีรองเท้าใส่ให้ได้ จนนำพาให้เขาได้ไปศึกษาเกี่ยวกับการทำรองเท้า แน่นอนว่าโครงการใหญ่แบบนี้ จะทำคนเดียวคงไม่ถึงฝั่ง ก็เลยต้องหาคนช่วย หาทีมงาน และเขาตระหนักว่าการที่จะทำรองเท้าออกมาให้ขายได้นั้น เขาต้องสร้างความประทับใจให้กับคนอื่นๆด้วย โดยการให้ผู้คนเห็นความสำคัญในการมีรองเท้าในแบบที่เขาเห็น และแนวคิดที่จะทำเพื่อเด็กๆอีกหลายชีวิตที่ไม่มีรองเท้าใส่นั้น ทำให้เกิด รองเท้ายี่ห้อที่ชื่อว่า TOMS ขึ้นมาด้วยความตั้งใจจริงของ เบรค
ใครจะคิดล่ะคะว่า แนวคิดทำนองนี้จะผลักดันและ เปลี่ยนชีวิต ให้ผู้ชายธรรมดาๆคนหนึ่ง กลายเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ ที่สามารถมอบโอกาสและแบ่งปันความสุขให้กับคนทั้งโลกได้ สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะนำเสนอก็คือ ในแง่ของการทำธุรกิจหรือการเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยการริเริ่มจากสิ่งเล็กๆนี้นั้น เมื่อมามองย้อนดูที่สังคมของไทยเรา กรณีแบบนี้ถือว่าหาได้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ก็จะคิดกันแค่ว่า จะสร้างอะไรดีที่ทันสมัย อะไรอินเทรนท์หรืออะไรที่จะตอบสนองความต้องการคนส่วนใหญ่ ไม่ก็เห็นอะไรขายดิบขายดีก็จะลองทำบ้าง ลองไปขายแบบคนอื่นทำแบบคนอื่นบ้าง ทั้งๆที่ตัวเราเองก็ไม่ได้ชอบหรืออยากทำแบบนั้นซะเท่าไหร่ เมื่อมีคนคิดแบบนี้เยอะๆ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็กลายเป็นการแข่งขัน แข่งกันไปมา บางเจ้าก็ตัดราคาพยายามลดราคาแข่งกันเพื่อกระตุ้นยอดขาย คนที่โดนตัดราคาก็ขายไม่ได้ คนที่ขายตัดราคาคนอื่นถึงขายได้ก็ไม่มีกำไรจะไปลงทุนต่อ ผลสุดท้ายก็ต่างลงเอยด้วยการปิดกิจการไป
สิ่งที่อยากจะสื่อก็คือ การทำธุรกิจอาจจะไม่ได้เริ่มในสิ่งที่เราเห็นว่าจะทำสามารถกำไรได้อย่างมหาศาลเสมอไป บางอย่างอาจจะเริ่มที่พื้นที่เล็กๆที่เรามองเห็นแต่คนอื่นมองไม่เห็น อย่างในกรณีของเบรค ก็เช่นเดียวกัน เขาไม่คิดด้วยซ้ำว่าวันหนึ่งเขาจะกลายมาเป็นผู้ประกอบการ แต่เด็กๆทำให้เขาอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม เขาจึงตั้งสโลแกนขึ้นมาเลยว่า “ การซื้อ1คู่ = ได้บริจาคให้เด็กๆ 1 คู่ ” เป็นแนวคิดที่ดีมากๆ รองเท้าTOMS ได้รับเสียงตอบรับที่ดี เพราะนอกจากจะแฝงไปด้วยคุณค่าของการให้แล้ว ราคาก็ยังต่ำกว่าปกติ ความนิยมได้เริ่มขยายเป็นวงกว้าง เบรคไม่หยุดอยู่แค่นั้น เขาเลยจัดโครงการขึ้นมาอีกก็คือ การรณรงค์ให้ผู้คนเดินเท้าเปล่าเพื่อให้คนที่เข้าร่วมกิจกรรมและคนอื่นๆได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีรองเท้าและเปิดโอกาสให้ผู้ที่ซื้อรองเท้าของเขา ได้ไปบริจาครองเท้าให้กับเด็กๆในอเมริกาใต้อีกด้วย
และนี่คือ สิ่งเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ ที่อยากให้ทุกคนได้ตระหนัก เผื่อว่าวันหนึ่งคุณอาจจะมีแนวคิดที่ดีดีแบบนี้ เหมือนกับที่เบรคได้พูดเอาไว้ว่า ชีวิตของคนเราควรหาได้ครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งก็ควรจะเป็นการให้ ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้น เพราะผู้ที่ยิ่งใหญ่จริงๆก็คือผู้ให้ การที่คนๆหนึ่งได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่น แล้วใครล่ะ ? ที่จะไม่สนับสนุน
สุดท้ายนี้ก็อยากฝากไว้ให้ผู้อ่านทุกท่านได้คิดสักนิดก็คือ การสร้างคุณค่าให้กับสินค้านั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะตอนนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ การโฆษณาลดแลกแจกแถม ชิงรางวัล ถึงจะดึงดูดใจผู้บริโภคก็จริง แต่นานๆไปมันก็เริ่มที่จะไม่น่าสนใจ เพราะผู้คนตระหนักได้ว่าโอกาสที่จะโชคดีได้รับรางวัลมีน้อยมากๆ แต่ถ้าหากเราเปลี่ยนสถานะให้ผู้บริโภค/ผู้ซื้อได้มีโอกาสให้ แบบที่เบรคทำบ้าง ก็เป็นอีกแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะมีผู้คนจำนวนมากที่อยากแบ่งปันบ้างแต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำ การที่เรา ให้สินค้าเป็นสื่อกลาง เพื่อให้ผู้ซื้อ ได้เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ในคราวเดียวกัน ด้วยการสร้างเรื่องราวบอกเล่าแรงบันดาลใจผ่านตัวสินค้า สิ่งที่เหนือกว่าการซื้อแล้วได้ใช้ ที่เปลี่ยนเป็นการซื้อแล้วเท่ากับการให้ นับว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียว
หากใครที่อ่านแล้วได้แรงบันดาลใจ ก็ลองเอากลับไปคิดๆดูนะคะ ว่าอยากทำอะไรเพื่อใครบ้างหรอเปล่า ธุรกิจที่ยั่งยืนและมั่นคงอาจจะไม่ได้สร้างผลกำไรให้เรามากมาย แต่กลับเป็นการสร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับคนทั้งโลกได้ นั่นแหละคือสิ่งที่มีค่ามากกว่า เงินทองทั้งหมด สังคมไทยยังขาดคนที่ยิ่งใหญ่แบบนี้อยู่ และหวังว่าจะมีสักคนทำได้ในอนาคต ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆท่านนะคะ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวใครหรืออะไรนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ