ปัจจุบันการลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ด้วยโลกออนไลน์ที่เชื่อมต่อทุกข่าวสารเข้าด้วยกันทำให้เกิดนักลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงมีนักลงทุนที่นำผลกำไรมาเผยแพร่ ทำให้ผลกำไรเป็นดั่งแรงบันดาลใจให้นักลงทุนหน้าใหม่ต้องการความมั่งคั่ง แต่ทว่าตลาดหุ้นไม่ใช่สนามประลองของเด็กเล่น การเข้ามาในตลาดหุ้นด้วยคำว่า “เล่นหุ้น” จึงเป็นกับดักหลอกล่อแมงเม่าให้เข้ากองไฟหลายต่อหลายรุ่น ซึ่งบางคนก็ขาดทุนมากมายจนท้อแท้และเดินออกจากตลาดด้วยความสิ้นหวัง แต่ปัญหาการขาดทุนจะไม่เกิดขึ้นหากนักลงทุนมือใหม่ที่ ไม่อยากเจ๊งหุ้น ปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
1. หาความรู้การลงทุนเบื้องต้น
การลงทุนในหุ้นเปรียบเหมือนอีกหนึ่งวิชาที่ต้องเรียนรู้ ซึ่งการจะเรียนรู้ให้ถี่ถ้วนจำเป็นต้องใช้การศึกษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นก่อนเข้าสู่ตลาดควรเตรียมความรู้ให้พร้อม โดยทฤษฎีคือสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อนำมาสู่การเข้าใจในภาคปฏิบัติในเวลาอันรวดเร็ว หลาย ๆ คนอาจจะกล่าวว่าการลงทุนในหุ้นให้ลงมือปฏิบัติเลยจะเข้าใจเอง ซึ่งข้อความนี้ไม่ถูกเสียทีเดียวนักเพราะการที่ลงมือโดยไม่ศึกษาทฤษฎีก่อนอาจนำพามาซึ่งการเสียเงินก็เป็นได้
2. ติดตามข่าวสาร
นักลงทุนในหุ้นต้องติดตามข่าวสารตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ช่วงกลางคืน เพราะช่วงกลางคืนคือช่วงที่ตลาดหุ้นต่างประเทศเปิดทำการ รวมทั้งอาจมีข่าวสารใด ๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงประเทศไทยก็เป็นได้ การทราบข่าวก่อนรู้ก่อนจะทำให้เกิดการตัดสินใจที่ดีกว่าการรู้ข่าวกะทันหันนั่นเอง
3. ไม่ซื้อหุ้นตามผู้อื่น
การซื้อหุ้นตามผู้อื่น อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับนักลงทุนมือใหม่ เนื่องจากว่าหากวันหนึ่งที่ไม่มีใครช่วยเหลือก็อาจจะทำให้เกิดการขาดทุนขึ้นได้นั่นเอง นอกจากนี้นักลงทุนควรหลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นตามข่าวที่บอกในไลน์หรือในเฟสบุ๊ค เพราะบางครั้งอาจจะเป็นกับดักล่อให้มีผู้มารอซื้อหุ้นในราคาที่สูง คติที่ใช้ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในหุ้นคือตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
4. งดเว้นการลงทุนในหุ้นที่ตนเองไม่มีความรู้
เชื่อว่าหุ้นในตลาดหุ้นจำนวนมาก จะต้องมีหุ้นที่หลาย ๆ คนไม่รู้จัก แต่บางครั้งนักลงทุนในหุ้นก็เลือกจะลงทุนในหุ้นที่ตนเองไม่รู้จักมาก่อนเพียงเพราะเคยได้ยินจากแหล่งข่าวว่าหุ้นตัวนี้กำลังจะขึ้นราคา หรือเห็นราคาที่น่าสนใจจึงทำให้ต้องการได้กำไรบ้าง แต่ทว่าความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นที่ตนไม่รู้จักคือผู้ลงทุนอาจพลาดโอกาสในการตรวจสอบว่าหุ้นตัวนี้มีคุณสมบัติน่าสนใจมากพอถือหรือไม่
5. ศึกษากราฟ
เทคนิคการศึกษากราฟเป็นเทคนิคที่ง่ายที่สุดสำหรับผู้ต้องการลงทุนในหุ้น หากจะเลือกลงทุนในหุ้นจำเป็นต้องรู้จักกราฟและศึกษากราฟให้เป็น เพราะกราฟคือสิ่งที่บอกแนวโน้มราคาได้มีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดไปถึงการใช้เครื่องมือชี้วัด (อินดิเคเตอร์) อีกหลาย ๆ ตัวอันนำมาซึ่งเทคนิคการซื้อขายที่ได้ผลตอบแทนสูงนั่นเอง
6. ศึกษาแนวโน้มการไหลเวียนของกระแสเงินสด
สิ่งเป็นตัวกำหนดแนวโน้มตลาดคือทิศทางการไหลของกระแสเงินสด นักลงทุนจำเป็นต้องทราบเป็นอันดับแรกว่าเงินทุนที่อยู่ในตลาดหุ้นมาจาก 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ 1.กองทุน 2.บริษัทหลักทรัพย์ 3.นักลงทุนต่างชาติ 4.นักลงทุนรายย่อย โดยนักลงทุนรายย่อยคือผู้ลงทุนในหุ้นทั่ว ๆ ไป แต่ผู้ที่กำหนดทิศทางตลาดมากที่สุด ได้แก่ กองทุนและนักลงทุนต่างชาติ หากมีข่าวไม่ดีจากฝั่งตะวันตก นั่นแสดงว่านักลงทุนต่างชาติจะเทขายหุ้น ดังนั้นการรู้จักทิศทางการไหลของเงินจะทำให้นักลงทุนเดาทิศทางตลาดได้
7. ฝึกวิเคราะห์ข่าว
ข่าวแต่ละข่าวมีทั้งด้านลบและด้านบวก นักลงทุนจำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน ซึ่งบางครั้งผลการวิเคราะห์ที่คิดว่าถูกต้องแต่ตลาดอาจไม่ตอบรับเป็นไปตามที่คาดไว้ก็เป็นได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฝึกวิเคราะห์ข่าวบ่อย ๆ และเดาราคาของหุ้นก่อนจะทำการลงตลาดหุ้นจริง ๆ
8. ซื้อจุดต่ำสุด ขายจุดสูงสุด
คำว่าซื้อจุดต่ำสุดไม่ได้หมายความว่าจุดต่ำสุดของราคาหุ้น หากแต่ต้องมีแนวโน้มการกลับตัวที่แน่ชัดเสียก่อน นักลงทุนบางประเภทมักจะซื้อในขณะที่หุ้นเป็นขาลง ทำให้โอกาสติดดอยหรือซื้อแล้วขาดทุนมากขึ้น ส่วนการขายที่จุดสูงสุดคือการเห็นแน่ชัดแล้วว่าหุ้นมีแนวโน้มการกลับตัวเป็นขาลงก็ให้นักลงทุนเตรียมขาย โดยหลักการขายสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการตัดความโลภให้ได้นั่นเอง
9. จงพอใจกับกำไรที่ได้
บางครั้งกำไรที่ได้อาจจะเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก แต่หากนักลงทุนต้องการได้กำไรที่แน่นอน ให้คิดเสมอว่าจงพอใจกับกำไรที่ได้ เท่านี้ก็จะหลุดพ้นจากวงจรติดดอยซึ่งนักลงทุนหลาย ๆ คนประสบอยู่ สำหรับผู้ที่ถือหุ้นอยู่ ไม่ควรคิดว่าต้องการได้กำไรมากกว่านี้อีก เพราะกำไรที่เกิดขึ้นอาจไม่เพียงพอหากตลาดหุ้นเกิดการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง
10. อย่าเสียดายถ้าต้องตัดขาดทุน
บางครั้งภาวการณ์ติดดอยเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการเสียโอกาสลงทุนในหุ้นตัวอื่น ๆ ดังนั้นหากมีจุดตัดขาดทุนที่แน่นอนก็จะทำให้การขาดทุนจำนวนมากไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้ โดยจุดตัดขาดทุนที่เหมาะสมที่สุดอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นอัตราที่สามารถทำกำไรคืนได้ไม่ยากจนเกินไปนัก
หากนักลงทุนปฏิบัติตามหลักการนี้ครบทั้งสิบข้อ เชื่อได้ว่าการลงทุนในหุ้นก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นอกจากนี้ความพยายามและความอดทน ไม่ย่อท้อก็จะสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับนักลงทุนในอนาคตอย่างแน่นอน