ก.ล.ต. คุมเข้มมาตรการลงโทษ กรณีใช้ข้อมูลภายใน (Inside) ทุจริต และปั่นหุ้น
กระแสข่าวที่คนในแวดวงตลาดทุนให้ความสนใจในขณะนี้เป็นเรื่องสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งทบทวนเพิ่มบทลงโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กรณีมีการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหุ้น หลังจากเกิดกรณีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชื่อดังใช้ข้อมูลวงใน (อินไซด์) ปั่นราคาหุ้นและทำการทุจริตในตลาดหลักทรัพย์เพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัว ตามด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ระดับของบทลงโทษน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับต่างประเทศซึ่งติดคุกจริง 2 ปี โดยความเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ระหว่างปี 2559-2561 ทำให้เกิดความรวดเร็วในการพิจารณาความผิด และส่งเสริมการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างตรงไปตรงมา
ที่มาของเรื่องนี้
ล่าสุดคณะกรรมการเปรียบเทียบสั่งปรับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทบริษัทซีพี ออลล์ กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้นบริษัทสยามแม็คโคร ทำการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้นที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 241 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 สำหรับพรรคพวกผู้ร่วมกระทำการช่วยเหลือสนับสนุนการกระทำผิด มีความผิดตามมาตรา 241 และแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อ ก.ล.ต. ตัดสินว่าเป็นการกระทำผิด กลุ่มผู้บริหารยอมรับผิด เสียเงินค่าปรับ 30 ล้านบาทแล้วก็จบเรื่อง และยังสามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารต่อไปเช่นเดิม
ข่าวการใช้ข้อมูลอินไซด์หาผลประโยชน์จุดประเด็นความสนใจเรื่องที่ว่าบทลงโทษน้อยไปหรือไม่ จากสถิติข้อมูลในปี 2558 ก.ล.ต. ได้เปรียบเทียบปรับจำนวน 89 ราย มูลค่าทั้งสิ้น 91.44 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นกรณีการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ ครอบคลุมการปั่นหุ้น กระทำผิดโดยใช้ข้อมูลภายใน และทุจริต จำนวน 23 ราย รวมมูลค่า 72.44 ล้านบาท
ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีกลไกการตรวจสอบกำกับดูแลตลาดหุ้นมีระบบเฝ้าระวังเรียกว่า Market Watch ติดตามการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์จากโบรกเกอร์ และการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนทุกราย เพื่อตรวจสอบภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดปกติ หากพบพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลและมีลักษณะเข้าข่ายเป็นการปั่นหุ้น ก็จะใช้อำนาจของตลาดหลักทรัพย์รวบรวมหลักฐานเบื้องต้นเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ข้อเสียคือต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบ เพราะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ จากหลายฝ่าย
สำนักงาน ก.ล.ต.กำลังดำเนินการการทบทวนเกณฑ์การลงโทษให้มีความเข้มงวดมากขึ้น แต่ขณะนี้ยังเร็วเกินไปตอบว่าจะทบทวนเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง โดยหวังว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะประกาศให้สาธารณชนรับทราบต่อไป โดยเป็นที่คาดกันว่า หากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายจริงชัดเจน ผู้กระทำความผิดอาจต้องเสียค่าปรับเพิ่มอีก จะเป็นจำนวนกี่เท่าก็พิจารณากันเป็นราย ๆ ไป รวมทั้งอาจจะห้ามไม่ให้ผู้ที่ทำผิดเข้ามาทำธุรกรรมซื้อขายในตลาดทุนในระยะเวลาที่กำหนดอีกด้วย
บทการลงโทษกรณีการปั่นหุ้น
การปั่นหุ้นเป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 243 ประกอบมาตรา 244 ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คือการขายหุ้นแล้วซื้อกลับเพื่อสร้างปริมาณการซื้อขายเทียมหรือการโยนหุ้นกันไปมาซึ่งเป็นการสร้างสภาพที่ผิดปกติ อีกกรณีคือการซื้อขายกันอย่างต่อเนื่อง ดันราคาสูงเพื่อจูงใจให้คนซื้อตามและผู้ปั่นหุ้นจะแสวงหาผลประโยชน์ได้ทั้งขาซื้อและขาขาย หากมีการฝ่าฝืนมาตรา 243 จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ไม่รอลงอาญา หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แม้ว่าการกระทำผิดมีลักษณะเป็นคดีอาญา แต่กฎหมายหลักทรัพย์เปิดช่องให้ ก.ล.ต. พิจารณาตัดสินใจ การเห็นว่าความผิดไม่รุนแรงมาก ยอมให้ปรับเป็นตัวเงินก็จบเรื่อง หากเห็นว่าเป็นเหตุให้ผู้ลงทุนเสียหายจำนวนมาก จะส่งไปให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้อง และส่งไปที่ศาลอาญาต่อไป เรื่องการลงโทษเต็มที่นั้นต้องยอมรับว่าในไม่ค่อยได้เห็นกัน เนื่องจากศาลยกฟ้อง แต่ในช่วงหลัง ก.ล.ต. ได้หารือทำความเข้าใจกับกระบวนการยุติธรรมเพื่อหวังให้เกิดฟ้องศาลดำเนินคดีเป็นไปอย่างถูกต้องและมีการลงโทษเต็มที่
หวังบทลงโทษเท่าสถาบันการเงิน
ด้านสมาคม บลจ. เห็นด้วยกับแนวคิดการพิจารณาทบทวนเพิ่มบทลงโทษดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการยกระดับบทลงโทษผู้บริหาร บจ. ที่มีการกระทำไม่ชอบมาพากลและเข้าข่ายเป็นการปั่นหุ้น เพื่อยกระดับให้เข้มงวดเท่าเทียมกับบทลงโทษสถาบันการเงิน ทั้งนี้ การกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหุ้นถือเป็นความผิดทางอาญา บทลงโทษเดิมด้วยการเปรียบเทียบปรับนั้นใช้มานานกว่า 10 ปีแล้ว การสั่งทบทวนเพิ่มดีกรีบทลงโทษผู้บริหาร บจ. เท่ากับการปรับปรุงเสริม ความแข็งแกร่งระบบนิเวศน์ตลาดทุนด้านเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หวังว่าจะช่วยป้องปรามการกระทำผิดในตลาดหุ้นไทยมากขึ้นและดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นด้วย
ซื้อหุ้นที่มีการปั่นจะมีความผิดหรือไม่
ในตลาดหุ้นมีการเล่นโกงหลายรูปแบบ เรื่องของการปั่นหุ้นนั้นคงจะต้องให้ความระมัดระวัง แม้ว่าการซื้อหุ้นที่มีการปั่นนั้นไม่มีความผิด แต่ถ้านักลงทุนรายย่อยหลงกลตามกระแสของข่าวลือ เพราะไม่อาจทนต่อความยั่วยวนของราคาหุ้นที่ขึ้นลงหวือหวา ผู้เคราะห์ร้ายคือนักลงทุนรายย่อยที่ไปเคาะซื้อตาม สุดท้ายอาจต้องหลวมตัวติดหุ้น กลายเป็นแมลงเม่า หมดตัวไปกับหุ้นปั่นก็เป็นได้ นักลงทุนควรตรวจสอบข้อมูลข่าวสารเพื่อได้เท่าทันต่อเหตุการณ์เสมอ หากราคาหุ้นสูงและต่ำเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ นักลงทุนควรรอฟังบริษัทจดทะเบียนชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น อย่าเพิ่งผลีผลามเข้าไปซื้อ ควรฟังข้อมูลที่ถูกต้องจึงค่อยตัดสินใจลงทุน