บัญชีซื้อขายหุ้นแบบไหนจะเหมาะกับเรากันนะ
ปีนี้ตั้งใจว่าจะลองลงทุนในหุ้นกับคนอื่นๆ ดูบ้าง จะพอจะไปเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น ก็งงเข้าไปอีกเพราะมีบัญชีให้เลือกเปิดตั้ง 3 แบบ แล้วจะเลือก เปิดบัญชีหุ้น แบบไหนดีที่จะเหมาะกับเรากัน บทความนี้มีคำตอบ
เริ่มต้นที่บัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance)
บัญชีนี้อ่านชื่อแล้วจะงงๆ ว่าหมายถึงอะไร แต่ให้จำง่ายๆ ว่าบัญชีแคชบาลานซ์นั้นคือ มีเงินเท่าไรก็ซื้อหุ้นได้เท่านั้น ถ้าอยากซื้อหุ้นได้มากขึ้นเราก็ต้องโอนเงินไปให้โบรกเกอร์ให้มากขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งบัญชีนี้จะเหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มลงทุนและต้องการเริ่มต้นลงทุนที่จำนวนเงินน้อยๆ ก่อน การอนุมัติเปิดบัญชีก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพราะเราจะซื้อหุ้นได้เท่ากับจำนวนเงินที่เราฝากไว้กับโบรกเกอร์เท่านั้นเอง และนอกจากนี้เงินที่เราฝากไว้หากเราไม่ได้นำออกไปซื้อหุ้น โบรกเกอร์ก็จะให้ดอกเบี้ยกับเงินจำนวนนั้นเหมือนกับการฝากเงินที่ธนาคาร แต่จำนวนดอกเบี้ยก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละที่นั่นเอง
ต่อมาก็จะเป็นบัญชีเงินสด (Cash Account)
ที่เมื่ออ่านแต่ชื่อก็คิดว่ามีเงินสดก็เอาไปซื้อหุ้นได้เลย แต่มันไม่ใช่แบบนั้นเลย บัญชีเงินสดเป็นแบบ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” หมายความว่าเราไม่ต้องมีเงินเราก็สามารถสั่งซื้อหุ้นได้ อธิบายง่ายอีกทีก็คือ เราสามารถสั่งซื้อหุ้นไปได้ก่อน แล้วเราก็ค่อยจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นภายใน 3 วัน หรือที่เราจะได้ยินว่า T+3 โดยตัว T จะหมายถึงวันที่เราซื้อหุ้น หรือวัน Trade แล้วบวกเพิ่มไปอีก 3 วันทำการ แต่โบรกเกอร์ไม่ได้ให้ลูกค้าเปิดบัญชีแบบนี้ได้ทุกคนหรือซื้อขายเท่าไรก็ได้ตามใจชอบ เพราะเหมือนกับเป็นการซื้อขายด้วยมือเปล่า ดังนั้นโบรกเกอร์แต่ละแห่งก็จะเป็นผู้อนุมัติว่าลูกค้าไหนที่สามารถจะใช้บัญชีประเภทนี้ได้บ้าง ด้วยวงเงินเท่าไร ซึ่งจะเหมาะกับนักลงทุนที่มีฐานะทางการเงินมั่นคงและมีเครดิตที่น่าเชื่อถืออยู่สักหน่อย
สุดท้ายคือบัญชีเครดิตบาลานซ์ หรือบัญชีมาร์จิ้น
เป็นบัญชีที่ซื้อหุ้นได้โดยไม่ต้องใช้เงินของเราเองทั้งหมดคล้ายๆ กับบัญชีเงินสด แต่ต่างกันที่เราใช้เงินส่วนหนึ่งรวมกับเงินกู้ที่กู้จากโบรกเกอร์ที่มีหุ้นหรือเงินสดเป็นหลักประกัน ก็ทำให้เราสามารถซื้อหุ้นได้ในจำนวนที่เราต้องการโดยที่ไม่ต้องใช้เงินสดทั้งหมด ซึ่งเมื่อเป็นการกู้ยืมเงินมาลงทุนแน่นอนว่าย่อมจะมีดอกเบี้ยจากการกู้ยืมนั้นด้วย แต่จะเป็นจำนวนเงินเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของโบรกเกอร์แต่ละที่อีกเหมือนกัน
นอกจากนี้วงเงินกู้ของบัญชีเครดิตบาลานซ์ก็อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ตามราคาของหุ้นที่เราเอามาวางเป็นหลักประกัน ซึ่งโบรกเกอร์จะทำการคำนวณมูลค่าของหลักประกันทุกวัน ซึ่งถ้าราคาหุ้นขึ้นก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าเมื่อไรที่ราคาของหุ้นลดลงมากๆ นั่นก็คือ หลักประกันของเราก็จะมีราคาลดลงด้วย ซึ่งถ้าลดลงจนถึงระดับที่กำหนด โบรกเกอร์ก็จะแจ้งให้เรานำเงินสดมาฝากเพิ่ม แต่ถ้าเราไม่มีเงินมาวางเพิ่ม โบรกเกอร์ก็จะบังคับให้เราขายหุ้นที่มีอยู่ โดยไม่สนใจว่าราคาที่ขายตอนนั้นถูกใจเราหรือเปล่า ซึ่งจะเรียกวิธีการแบบนี้ว่า Forced Sell ซึ่งการเปิดบัญชีเครดิตบาลานซ์นั้น โบรกเกอร์ก็จะเปิดให้กับคนที่มีความสามารถในการลงทุนสูงและมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีเท่านั้น อีกทั้งยังอนุญาตให้ซื้อขายได้เฉพาะหุ้นบางตัวเท่านั้นด้วยเหมือนกัน