สรรพากรงดเว้นภาษี เงินได้ต่ออีก 1 ปี โดยผู้ที่มีเงินได้ไม่เกิน 1.5 แสนบาท ได้รับการยกเว้น ส่วนที่มีรายได้เกินจะเสียแบบอัตราขั้นบันได โดยมีเป้าหมายแบ่งเบาภาระภาษีให้ประชาชน เพื่อให้สอดคล้องต่อสภาวะ ศก. และค่าครองชีพในปัจจุบัน
กรมสรรพากร ชี้แจงว่า ด้วยขณะนี้ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 600) พ.ศ.2559 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 แล้ว โดยพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการขยายเวลาการใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบ 7 ขั้น ต่อไปอีก 1 ปีภาษี คือ ปีภาษี 2559 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่ใช้คำนวณสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 สำหรับการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว เพื่อให้เป็นที่เข้าใจทั่วกัน โดยกำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้ ดังนี้
- เงินได้สุทธิตั้งแต่ 1-150,000 บาท ยกเว้น ส่วนที่เกิน 150,000 บาท แต่ไม่เกิน 300,000 บาท เสียภาษีร้อยละ 5
- ส่วนที่ เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เสียภาษีร้อยละ 10
- ส่วนที่เกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 750,000 บาท เสียภาษีร้อยละ 15
- ส่วนที่เกิน 750,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท เสียภาษีร้อยละ 20
- ส่วนที่เกิน 1,000,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท เสียภาษีร้อยละ 25
- ส่วนที่เกิน 2,000,000 บาท แต่ไม่เกิน 4,000,000 บาท เสียภาษีร้อยละ 30
- และส่วนที่เกิน 4,000,000 บาท เสียภาษีร้อยละ 35
ส่วนเงินได้สุทธิหลังจากการคำนวณเงินได้พึงประเมินหักด้วยค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนแล้ว ในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรกยังคงได้รับการยกเว้นภาษีเช่นเดิม
ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ.2551 การขยายเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ เพื่อให้สอดคล้องต่อสภาวะเศรษฐกิจ และค่าครองชีพในปัจจุบัน
ข่าวจาก http://www.manager.co.th/
มนุษย์เงินเดือนที่รายได้เข้าเกณฑ์ภาษีปีนี้คงได้หายใจหายคอกันอีกเฮือกหนึ่ง แม้ว่าเรื่องภาษีเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องจ่าย แต่หลายๆคนมีภาระมากมายเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายภาษีก็ถึงกับกุมขมับปวดหัวกันเลยทีเดียว แม้ว่าในแต่ละเดือนจะมีการหักเงินไว้สำหรับการเสียภาษีอยู่แล้วเพราะบางคนนั้นคำนวณภาษีกันล่วงหน้าทุกปี หาทางลดภาษีโดยการซื้อประกันชีวิต ซื้อกองทุนต่างๆแต่เมื่อถึงเวลายื่นภาษีจริงๆบางคนนั้นโดนภาษีหนักมาก รวมถึงคนที่ทำอาชีพส่วนตัว หรือธุรกิจส่วนตัวก็ต้องจ่ายภาษีเงินได้ส่วนนี้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งการลดและงดเว้นภาษีให้กับคนที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 150,000 บาท คนที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ามีค่อนข้างมาก และกลุ่มคนที่ทำอาชีพอิสระที่มีรายได้ต่อปีไม่เกินที่กำหนด และมีการหักภาษี ณ.ที่จ่ายล่วงหน้าไว้แล้ว ก็สามารถไปขอคืนเงินภาษีส่วนนั้นกลับคืนมาได้
หากจะให้พูดกันตรงๆเรื่องของภาษีมีปัญหากันทุกปี แต่ละคนไม่อยากเสียภาษีเพราะคิดว่าเสียแล้วไม่ได้อะไร สิทธิประโยชน์ต่างๆไม่มีกลับคืนมาไม่เหมือนต่างประเทศที่จ่ายภาษีหนักมากแต่สวัสดิการก็สมน้ำสมเนื้อ ส่วนของบ้านเรานั้นจ่ายประกันสังคม ก็มีแค่เงินรักษาพยาบาล เงินกองทุนเลี้ยงชีพหลังเกษียณสำหรับคนทำงานเอกชนซึ่งเฉลี่ยแล้วก็ได้ไม่มากนัก หรือเงินอุดหนุนคนชราจากรัฐบาลที่จะให้เมื่ออายุ 60 ส่วนราชการก็มีกองทุนต่างมีบำเหน็จบำนาญ ซึ่งจุดนี้ยังมีความแตกต่างที่ดูจะเหลื่อมล้ำระหว่างคนทำงานเอกชน ราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่จะเห็นผลตอนยามแก่ชรานั่นเอง
จุดนี้ทำให้หลายๆคนเบื่อที่จะจ่ายภาษี จึงหาตัวช่วยต่างๆมาเลี่ยงภาษีทั้งถูกต้องตามหลักเกณฑ์ และไม่ถูกต้องไม่ว่าจะมนุษย์เงินเดือนหรือคนทำธุรกิจ แต่สิ่งที่หลายคนรู้คือเงินภาษีเรานำมาพัฒนาประเทศ มาเป็นกองทุนต่างๆเพื่อให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ แต่ด้วยสภาพการเมืองและเศรษฐกิจ จึงทำให้คนยุคนี้ไม่อยากจ่ายภาษีเพราะจ่ายไปแล้วเหมือนเอาเงินไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ มีการโกงกินกันทุกโครงการของรัฐ สวัสดิการขั้นพื้นฐานก็ไม่เห็นประโยชน์อะรนั่นเอง