ถ้ายังไม่ลืมกันการลงทุนในหุ้นเราก็ต้องเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจกันไว้บ้าง มาคราวนี้จะมาแนะนำการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นอีกตัวหนึ่งก็คือ การวิเคราะห์อุตสาหกรรม ซึ่งบางคนก็อาจจะสงสัยว่าวิเคราะห์กันไปทำไม บทความนี้มีคำตอบ
อ่านเพิ่มเติม : ทำไมลงทุนในหุ้นต้อง วิเคราะห์เศรษฐกิจ ด้วย ?
เพราะการวิเคราะห์อุตสาหกรรมนั้นจะช่วยทำให้เรารู้ว่า อุตสาหกรรมไหนน่าจะไปได้สวยหรือจะต้องพักการลงทุนไว้ก่อน ในภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา เพราะไม่ใข่ว่าช่วงเศรษฐกิจแย่ จะไม่มีอุตสาหกรรมไหนน่าลงทุน เพราะแต่ละอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากภาะเศรษฐกิจและปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจในระดับทีแตกต่างกัน นอกจากนี้บางอุตสาหกรรมก็อาจจะขึ้นเป็นดาวเด่นในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ก็มี หรือบางอุตสาหกรรมก็สามารถที่ขายได้เรื่อยๆ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือจะแย่ ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีหุ้นที่ว่านี้จะเนื้อหอมกันเลยทีเดียว แต่ถ้าเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจดีๆ ก็อาจจะถูกหุ้นตัวอื่นๆ บดบังรัศมีไปบ้างก็เป็นได้เราจึงไม่ได้สนใจกันเท่าที่ควร
และอย่างที่เราได้รู้กันช่วงชีวิตของอุตสาหกรรมนั้นจะมีอยู่ 4 ช่วง คือ
- ช่วงบุกเบิก
- ช่วงเติบโต
- ช่วงเติบโตเต็มที่
- ช่วงถดถอย
ซึ่งถ้าเราวิเคราะห์เป็นก็จะช่วยทำให้เรารู้ได้ว่าช่วงไหนเราควรที่จะไปลงทุนหุ้นอะไร ในอุตสาหกรรมไหนบ้าง และก็เดาได้ว่าส่วนใหญ่น่าจะพอรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของแต่ละอุตสาหกรรมแล้ว แต่มารื้อฟื้นความทรงจำกันอีกนิดหน่อยล่ะกัน
ช่วงบุกเบิกจะเป็นช่วงที่เริ่มก่อตั้งใหม่ ผู้ผลิตต้องใช้ทั้งเงินและเวลาในการพัฒนาสินค้าและบริการ กลุ่มลูกค้ายังมีจำกัด มีคู่แข่งไม่กี่ราย ถ้าหากจะลงทุนในกลุ่มนี้ก็อาจจะต้องอดใจรอสักนิด ต้องใจเย็นๆ กันสักหน่อย ถ้าให้ยกตัวอย่างในปัจจุบันก็น่าจะเป็นธุรกิจประเภทอนุรักษ์พลังงาน เช่น บริษัทที่ผลิตหลังคาโซล่าร์เซลล์
ถัดมาเป็นช่วงเจริญเติบโต ช่วงนี้เป็นช่วงที่สินค้าเริ่มติดตลาด มียอดขายเพิ่มขึ้น คู่แข่งก็มากขึ้นตามมาด้วย ช่วงนี้บริษัทก็จะเริ่มมีกำไรทีเพียงพอต่อการแบ่งมาจ่ายเงินปันผลให้เราบ้าง แต่ก็ยังไม่สูงมาก
ช่วงที่สามของวงจรอุตสาหกรรม คือ ช่วงเติบโตเต็มที่ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงหนุ่มสาวเต็มตัว ที่ใครๆ ก็นสนใจเข้ามาแข่งขัน ทำให้มีการแข่งขันกันสูงมาก ยังสามารถทำกำไรได้อยู่แต่อาจจะลดลงบ้างหากเทียบกับช่วงที่เติบโตในช่วงแรก แต่สำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนจากเงินปันผล ช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวเพราะบริษัทที่อยู่ในช่วงนี้จะมีการจ่ายเงินปันผลได้มากขึ้นและสม่ำเสมอ เนื่องจากธุรกิจดำเนินการมาได้แบบคงที่และอยู่ตัวแล้ว
ช่วงที่สี่หรือช่วงสุดท้ายของวงจรอุตสาหกรรม คือ ช่วงถดถอย หรือช่วงสุดท้ายของธุรกิจ ถ้าเอาแบบที่ใกล้ตัวก็น่าจะเป็นอุตสาหกรรมฟิล์มที่ใช้กับกล่องถ่ายรูปแบบเก่า ที่ทุกวันนี้เราจะเห็นว่ามีคนใช้น้อยมากหรือแทบจะไม่ใช้เลยก็มี หรือจะเป็นธุรกิจการทำเพลงที่แต่ก่อนเราจะต้องซื้อเทป ซื้อแผ่นซีดี แต่เดี๋ยวนี้การผลิตเทปก็ไม่มีแล้ว อีกทั้งแผ่นซีดีก็เริ่มที่จะไม่จำเป็นสำหรับธุรกิจเสียงเพลงเหมือนกัน เพราะคนหันไปฟังในยูทูปกันแทน การวัดความดังของศิลปินเดี๋ยวนี้ก็วัดจากยอดวิวในยูทูปกันแทนนับยอดขายจำนวนเทปหรือซีดีกันแล้ว ถ้าหากบริษัทที่อยู่ในกลุ่มนี้ไม่มีการพัฒนาสินค้าอื่นๆ มาทดแทน เราก็ไม่ควรที่จะเข้าไปลงทุนในหุ้นของบริษัทในกลุ่มนี้เหมือนกัน
และนอกจากที่เราจะวิเคราะห์อุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มไปแล้ว เรายังจะต้องวิเคราะห์ต่อไปอีกสักนิดเกี่ยวกับการแข่งขันในแต่ละกลุ่มว่ามีมากน้อยแค่ไหน
โดยเราจะต้องดูด้วยว่าในอุตสาหกรรมที่เราสนใจมีการแข่งขันรุนแรงหรือเปล่า เพราะจะทำให้โอกาสของบริษัทที่เราสนใจทำกำไรแบบเป็นกอบเป็นกำนี้น่าจะน้อยอยู่เหมือนกัน และก็ต้องดูต่อไปอีกสักหน่อยว่าอุตสาหกรรมที่เราสนใจจะลงทุนนั้น สามารถมีสินค้าหรือบริการอื่นๆ มาทดแทนได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีบริษัทหน้าใหม่ๆ สามารถเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมที่เราสนใจได้ง่ายหรือเปล่า เพราะนั่นหมายถึงคู่แข่งในตลาดที่จะมาแบ่งกำไรจากบริษัทที่เราลงทุนจะมีอยู่มากขึ้นด้วยเช่นกัน
เห็นหรือเปล่าว่าถ้าเราวิเคราะห์อุตสาหกรรมให้เป็น ก็จะช่วยร่นระยะเวลาในการหาหุ้นที่เราลงทุนไปได้มากพอสมควร ดังนั้นการวิเคราะห์อุตสาหกรรมก็ถือได้ว่าจำเป็นอยู่สำหรับนักลงทุนอย่างเราๆ